xs
xsm
sm
md
lg

มอบโนเบลฟิสิกส์ให้ 3 ผู้ร่วมไขปริศนาจักรวาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกรรมการรางวัลโนเบลมอบรางวัลสาขาฟิสิกส์แก่ 3 นักวิทยาศาสตร์ จากการค้นพบที่เกี่ยวกับรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพ และดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ซึ่งช่วยไขความเข้าใจปริศนาของจักรวาลมากขึ้น


คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์โดยราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ.2019 เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2019


ผู้ได้รับรางวัล : เจมส์ พีเบิลส์ (James Peebles) “สำหรับการค้นพบศาสตร์ด้านจักรวาลวิทยาเชิงกายภาพ (physical cosmology)” และมิเชล เมยอร์ (Michel Mayor) กับ ดิดิเยร์ เควลอซ (Didier Queloz) “สำหรับการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์”
ประกาศรางวัลโดย : โจรังค์ แฮนสัน (Göran K. Hansson) เลขาธิการประจำ ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences)


มอบรางวัลโดย : ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) สตอกโฮล์ม สวีเดน


พีเบิลส์ นักจักรวาลวิทยาชาวแคนาดา-อเมริกัน รับรางวัลครึ่งหนึ่งจากผลงานการค้นพบทางทฤษฎีที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าเอกภพวิวัฒนาการขึ้นมาอย่างไรหลังจากเกิดบิกแบง (Big Bang)


ด้านเมยอร์และเควลอซที่รับรางวัลในส่วนอีกครึ่งที่เหลือ จากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์ในทางช้างเผือกเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน ต.ค.1995
“การค้นพบของพวกเขาได้เปลี่ยนความเข้าใจของเราที่มีต่อโลกไปตลอดกาล” คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ


การทำงานเชิงทฤษฎีของพีเบิลส์เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 นั้น ได้กลายเป็นพื้นฐานความคิดของเราที่มีต่อเอกภพ โดยเขาได้สร้างทฤษฎีที่ต่อยอดงานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ในการหากำเนิดของเอกภพ จากการมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาระดับพันปีที่เกิดทันทีหลังเกิดบิกแบง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงเริ่มเปล่งความสว่างออกไปในอวกาศ


อาศัยเครื่องมือเชิงทฤษฎีและการคำนวณ พีเบิลส์ได้ร่างความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิของแผ่รังสีที่ปลดปล่อยออกมาหลังจากบิกแบง และปริมาณของสสารที่บิกแบงสร้างขึ้น ซึ่งงานของเราได้แสดงให้เห็นว่าสสารที่เรารู้จักอย่างดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และตัวเราเองนั้น เป็นเพียง 5% ของเอกภพ ขณะที่อีก 95% นั้นเป็นสสารมืดและพลังงานมืดที่เรายังไม่รู้จัก ซึ่งเรื่องนี้เป็นปริศนาและความท้าทายของฟิสิกส์ยุคใหม่


พีเบิลส์เป็นศาสตราจารย์วิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ในสหรัฐฯ ขณะที่เมยอร์และเควลอซเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเจนีวา (University of Geneva) ทั้งคู่ และเควลอซยังทำงานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ในอังกฤษด้วย


เมยอร์และเควลอซอาศัยเครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ และตั้งอยู่ที่หอดูดาวของพวกเขาทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ทำให้พวกเขาสามารถตรวจก้อนแก๊สที่มีขนาดประมาณดาวพฤหัส และโคจรรอบดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ของเรา 50 ปีแสงได้


สองนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลยังอาศัยปรากฏการณ์ “ดรอปเปอร์” (Doppler effect) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แสงเปลี่ยนสีเมื่อวัตถุนั้นเข้าหาหรือออกห่างจากโลก และพิสูจน์ว่าดาวเคราะห์ที่ชื่อว่า “51 ปีกาซุส บี” (51 Pegasus b) นั้นโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเอง


คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า การค้นพบของเมยอร์และเควลอซนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิวัติทางด้านดาราศาสตร์ และนับจากนั้นก็มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบมากกว่า 4,000 ดวง ภายในกาแล็กซีของเรา


แถลงของคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุด้วยว่า ยังมีการค้นพบโลกใหม่แปลกๆ ซึ่งท้าทายความคิดของเราเกี่ยวกัยระบบดาวเคราะห์ และยังบีบให้นักวิทยาศาสตร์ได้ปรับปรุงทฤษฎีของพวกเขาเกี่ยวกับกระบวนการทางฟิสิกส์ที่อยู่เบื้องหลังกำเนิดดาวเคราะห์



กำลังโหลดความคิดเห็น