xs
xsm
sm
md
lg

ลอรีอัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยสตรีไทยปีที่ 17

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ลอรีอัล เชิดชูเกียรติ 5 นักวิจัยสตรีไทย สนับสนุนงานวิจัยโดดเด่นมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ สานต่อ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปีที่ 17

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2562 โดยในปีนี้เป็นปีที่ 17 ของการดำเนินโครงการในประเทศไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย ปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 65 ท่าน

นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ลอรีอัลเชื่อมั่นมาตลอดว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล และเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี เราเชื่อมั่นว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการผู้หญิง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เราจึงสนับสนุนงานวิจัยของสตรีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยที่มีสัดส่วน 56.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังนับเป็นเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ของนักวิทยาศาสตร์สตรีทั่วโลก


"เราจึงเดินหน้าโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีไทยในการสร้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติ และผลักดันให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาตร์ในระดับสากลได้"

สำหรับปีนี้ นักวิจัยสตรีทั้ง 5 ท่านจากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 2 ท่าน คือ ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กับงานวิจัยหัวข้อ “การวิจัยค้นหาหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

และ ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับงานวิจัยหัวข้อ “เอนอีซ (ENZease): เอนไซม์อัจฉริยะทูอินวันสำหรับกระบวนการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จำนวน 3 ท่าน คือ ดร.จำเรียง ธรรมธร จากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารอนุพันธ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพและการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งและเชื้อมาเลเรีย”

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลตา ยศแผ่น จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ “การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ด้วยแนวคิด C-H functionalization สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน”

และ รองศาสตราจารย์ ดร. พนิดา สุรวัฒนาวงศ์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิสเพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม

ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ได้รับทุนทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแถวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่คำนึงถึงประโยชน์ของงานวิจัยต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังต้องมีกระบวนการวิจัยที่เหมาะสม และผ่านเกณฑ์การชี้วัดของโครงการ มีจริยธรรมในการทำงาน และเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย





กำลังโหลดความคิดเห็น