xs
xsm
sm
md
lg

อว.โชว์ความสำเร็จเศรษฐกิจบีซีจี ส่งมะม่วงสุกขายรังสีไปสหรัฐฯ สำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปลดล็อคส่งออก “มะม่วงสุกไทย” ไปสหรัฐฯ สำเร็จครั้งแรกในรอบ 12 ปี เริ่มดีเดย์แล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.2562 “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ เตรียมขยายผลส่งออกทั่วโลก โชว์ ครม.เผยความสำเร็จมาจาก “บีซีจีโมเดล” ตั้งแต่วิจัยแบบมุ่งเป้า บริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร พัฒนากระบวนการก่อน ระหว่างและหลังการฉายรังสีจนสร้างรายได้ให้เกษตรกรหลายพันล้าน ระดมสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ “บีซีจีสตาร์ทอัพ”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รายงานความสำเร็จในการปลดล็อคปัญหาการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไทยไปยังตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ซึ่งแต่เดิมประเทศไทย มีปัญหาการส่งออกมะม่วงสุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และแต่ละประเทศต่างมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าผลไม้ที่นำเข้าประเทศจะปลอดภัยและไม่มีเชื้อโรคหรือแมลงพาหะปนเปื้อน

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้นำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยที่ผ่านการฉายรังสีแกมม่าเข้าไปจำหน่ายได้ แต่น่าเสียดายตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย ยังไม่สามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ผ่านการฉายรังสีได้ เพราะเมื่อถึงปลายทางแล้วคุณภาพทั้งผิวนอกและเนื้อในมีสีเปลี่ยน กลิ่นเปลี่ยน ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับและไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จึงไม่สามารถจำหน่ายได้เป็นเวลามากว่า 12 ปี

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการส่งออก อว.โดยความร่วมมือของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ร่วมทำการวิจัยแบบมุ่งเป้าพร้อมนำบีซีจีโมเดล (BCG Model) เข้ามา ดูแลการบริหารจัดการวัตถุดิบครบวงจร พัฒนากระบวนการก่อน ระหว่างและหลังการฉายรังสี จนได้มะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดีตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ และทำให้ปัจจุบันสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้แล้วในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี และจะขยายผลต่อไปสู่ประเทศทั่วโลกอีกด้วย

"ความสำเร็จดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการให้ทุนและบริหารงานวิจัยแบบมุ่งเป้า ตรงประเด็น เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy) อย่างเป็นรูปธรรม"

ดร.สุวิทย์ ยังได้นำเหล่านักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ไปจัดแสดงผลงานที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง 7 มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.พะเยา ม.นเรศวร ราชภัฏอุตรดิตถ์ และ ราชภัฏพิบูลสงคราม

สตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ขับเคลื่อนบีซีจีโมเดลได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น รีคิวท์ (Recute) ระบบการจัดการขยะรีไซเคิ, เอ็นยู ไบโอ แบ็ค (NU Bio Bags) พลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมจากกากกาแฟที่สามารถย่อยสลายได้ 100% การปลูกผักพร้อมทานในบรรจุภัณฑ์ โดย ทิวา อินโนเวท และ ไทร์ส (TRIBES) ผลิตภัณฑ์กาแฟ ชา ของกลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงรายที่มุ่งสร้างความยั่งยืนด้วยพลังชุมชน

"ความสำเร็จของบีซีจีสตาร์ทอัพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวของคนไทยที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สังคมไทยตอบรับกับบีซีจีโมเดลอย่างเห็นได้ชัด และพร้อมที่จะส่งเสริมและร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป" ดร.สุวิทย์กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น