หลังจากการจากไปของ "มาเรียม" ลูกพะยูน แห่งเกาะลิบง จังหวัดตรัง ที่เป็นขวัญใจของใครหลายคน โดยมีสาเหตุการตายมาจากการกินขยะพลาสติก ชาวบ้านที่อาศัยบนเกาะลิบง อันเป็นแหล่งที่มีพะยูนอาศัยเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จึงตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พะยูน
ด้วยการเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการอนุรักษ์พะยูนนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม (สกสว.) จัดร่วมกับชุมชนบนเกาะลิบง เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์พะยูนให้เหลือมากที่สุด ผ่านการเสวนาร่วมกันในเรื่อง "อนาคตคนลิบง - อนาคตพะยูน" เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย.62 ที่ผ่านมา
นายประชุม เจริญฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลเกาะลิบง ผู้เป็นตัวแทนของชาวบ้านแห่งเกาะลิบง ในการเสวนากล่าวว่า ทางชุมชนได้นับการสนับสนุนจาก สกสว.ตั้งแต่โครงการสืบสานตำนานตะลิบง การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนลิบง การอนุรักษ์พะยูนเกาะลิบง ทำให้เกิดการอนุรักษ์พะยูนและทรัพยากรณ์ของเกาะลิบง ควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของผู้คนบนเกาะ
"ในปัจจุบัน เกาะลิบงได้กลายมาเป็นจุดสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สามารถพบพะยูนได้มากที่สุดของประเทศไทย ปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจ มีประมาณ 200 ตัว ซึ่งทำให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อมาดูพะยูนที่เกาะลิบง เพราะพะยูนนั้นไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายในที่อื่นๆ"
ทว่าการท่องเที่ยวดังกล่าได้เกิดเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพะยูน เช่น ไปรบกวนช่วงเวลากินอาหาร หรือได้รับบาดเจ็บจากเรือที่พานักท่องเที่ยวไปชมพะยูน และเศษขยะที่ถูกทิ้งจากนักท่องเที่ยวบางคน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้พะยูนตายจากการกินขยะ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของประชาชนบนเกาะลิบงเลยแม้แต่น้อย” นายประชุมกล่าว
ตัวแทนจากเกาะลิบงบอกอีกว่า ในความเป็นจริงนั้นมีเรือนำเที่ยวจากที่อื่นพานักท่องเที่ยวมาดูพะยูน แล้วดูแบบไม่ถูกวิธี คือไล่ตามพะยูนที่กำลังว่ายน้ำ หรือไปรบกวนเวลาหากินของพะยูน เรือบางลำยังทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งถือเป็นการเหยียบย่ำ และจึงเป็นสาเหตุให้พะยูนลดจำนวนลง
"ชาวเกาะลิบงก็เป็นห่วงในเรื่องนี้มาก เพราะวิถีชีวิตของคนลิบงนั้นมีความผูกพันกับพะยูนมาตั้งเเต่อดีต ไม่เคยมีการรบกวนหรือทำร้าย มีแต่ดูแล บางครั้งเห็นพะยูนเกยตื้น พะยูนบาดเจ็บ หรือพะยูนป่วย ก็จะบอกกันเเละเเจ้งให้เจ้าหน้าที่มารับไปดูแลต่อเสมอ ซึ่งตราบใดที่ยังมีคนลิบง พะยูนก็ยังคงมีต่อไป” นายประชุมกล่าว
"อีกทางในการแก้ไขที่ได้หารือกันไว้คือ ในเรื่องการท่องเที่ยวบนเกาะลิบงนั้น อยากให้ทุกๆ อย่างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น เรือนำเที่ยว ไกด์นำเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร อยากให้เป็นของคนลิบง เพราะจะดูแล เเละถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวอย่างดีที่สุด ให้ได้ความรู้และเกิดมีใจรักธรรมชาติบนเกาะ อันเป็นบ้านของพะยูน ทำให้พะยูนอยู่คู่เกาะลิบงไปได้อีกนานแสนนาน" นายประชุม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 กล่าวเสริม
ขณะที่เรื่องขยะก็กลายเป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้พะยูนตาย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องขยะทะเลว่า เมื่อมีการท่องเที่ยวบนเกาะลิบง การเกิดขยะก็จะเกิดตามมา โดยแหล่งที่มาของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล
"หากยังไม่รีบแก้ไข หรือป้องกันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งทำลายระบบนิเวศปะการัง การตายของสัตว์ทะเลหายาก อย่างเต่าและพะยูน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการท่องเที่ยวในเรื่องของทัศนียภาพเสื่อมโทรมที่เกิดจากปัญหาขยะทะเล” ศ.ดร.เผดิมศักดิ์กล่าว
“การจัดการขยะทะเลต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทาง คือ คน ย้ำว่าต้องเป็นคน โดยการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเก็บขยะ แล้วนำไปรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปลี่ยนมุมมองของคนทิ้งขยะใหม่ ไม่มองขยะเป็นเพียงแค่ขยะหรือของเหลือทิ้ง แต่มองขยะให้เป็นวัตถุดิบ ทำให้เห็นประโยชน์จากขยะเหล่านี้มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา"
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ ยกตัวอย่างการจัดการขวดน้ำดื่มหนึ่งใบ ถ้าเรามองว่ามันเป็นขยะหลังดื่มน้ำเสร็จแล้วก็โยนทิ้งในถังขยะ เพียงแค่นี้ขวดน้ำดื่มนี้ก็กลายเป็นขยะแล้ว แต่ถ้าเราจัดการขวดน้ำดื่มด้วยการนำกลับไปรีไซเคิล ขวดน้ำดื่มนั้นก็จะกลายเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเราว่าจะมองให้เป็นขยะหรือให้เป็นวัตถุดิบ