xs
xsm
sm
md
lg

กรณีการเสียชีวิตเพราะได้รับมลพิษในอากาศ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

เจ้าหน้าที่สวมหน้ากากอนามัยให้ประชาชนในอินโดนีเซียที่เผชิญปัญหาหมอกควัน CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพคาดคะเนว่า มลพิษที่มีในอากาศในอดีตที่ผ่านมาได้คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ในอเมริกาเองมีคนที่เสียชีวิตเพราะอากาศเป็นพิษประมาณปีละ 200,000 คน ส่วนในยุโรปมีประมาณ 5 แสน และที่เหลือเป็นของเอเชีย แอฟริกา และอเมริกากลางกับใต้ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะมีชีวิตสั้นลง เนื่องจากการมีสุขภาพไม่ดี จากสาเหตุหายใจฝุ่นและละอองที่มีสารพิษปนเปื้อนเข้าร่างกายจนเป็นอันตราย

ตระกูล Kissi-Dehbrah เป็นครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และมีลูกสาวชื่อ Ella ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 2013 ในวัย 9 ขวบด้วยโรคหอบหืด แพทย์ที่ชันสูตรศพเธอในปี 2014 ได้ข้อสรุปว่า เธอตายด้วยโรคหอบหืด ซึ่งได้ทำให้ระบบการหายใจของเธอล้มเหลว แต่เมื่อไม่นานนี้ครอบครัวของ Ella คิดว่า เธอเสียชีวิต เพราะอากาศในลอนดอนมีมลพิษ จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ เมื่อปี 2018 นี้เอง

นี่เป็นกรณีศึกษาที่ไม่ธรรมดา เพราะในอดีต ศาลได้เคยพิจารณาคดีรูปแบบนี้ระหว่างคนทั่วไปกับโรงงานอุตสาหกรรม กรณีผลกระทบที่เกิดจากมลภาวะในบรรยากาศ มิใช่การกล่าวหาแบบเจาะจงว่า มลภาวะสามารถทำให้คนบางคนล้มตายได้ คำถามนี้จึงกำลังเป็นประเด็นร้อน เพราะวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่า มลภาวะของสภาพแวดล้อมสามารถทำให้คนๆ หนึ่งตายได้ และในอนาคตถ้าวิทยาศาสตร์สามารถบอกได้ สังคมจะเป็นเช่นไร

ครอบครัวของ Ella อาศัยอยู่ในบ้านซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นและแออัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าและเย็น เธอจำเป็นต้องเดินหรือนั่งรถของบิดาไปและกลับโรงเรียนสัปดาห์ละ 5 วัน ในช่วงปี 2010-2013 เวลาโรคหอบหืดกำเริบ เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลร่วม 30 ครั้ง
ครั้นเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่า เธอเสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด ครอบครัวของ Ella ในเวลานั้นมิได้คิดถึงสาเหตุว่ามาจากมลภาวะเลย แม้แต่หมอเองก็ไม่ได้เอ่ยกับพ่อแม่ของ Ella เรื่องอากาศมีมลพิษ แต่เมื่อปีกลายนี้แม่ของ Ella เริ่มมีความคลางแคลงใจว่า คำวินิจฉัยของแพทย์อาจมิใช่คำตอบที่ถูกต้อง

เพราะในปี 2015 แม่ของ Ella ได้อ่านรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ ทำให้เธอรู้ว่า ในช่วงเวลาก่อนที่ Ella จะเสียชีวิต สภาพอากาศในลอนดอนมีมลพิษค่อนข้างมาก เธอจึงคิดว่า มลพิษคงเกี่ยวข้องกับสาเหตุการตายของลูกสาวเธอแน่ๆ

Stephen Holgate ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบที่เกิดจากมลภาวะในอากาศก็ได้ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุการตายที่มารดา Ella สงสัยนี้มีมูล

ในปี 2014 หลังจากที่โรงพยาบาลได้สรุปความเห็นไปแล้ว ครอบครัวของ Ella ได้อุทธรณ์ความเห็นนี้ เพื่อให้สังคมได้เรียนรู้และตระหนักในพิษภัยของเรื่องนี้

ในความเห็นที่คนทุกคนรับรู้ ได้อ้างถึงเกณฑ์ความเข้มข้นของมลพิษที่เกิดจากไนโตรเจนไดออกไซด์ในอากาศตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งอังกฤษกำลังจะแยกตัวออกในปลายปีนี้ แต่ทางครอบครัวของ Ella ต้องการให้รัฐบาลอังกฤษรับผิดชอบเรื่องการเสียชีวิตของ Ella เพราะได้ไปยึดเกณฑ์ของ EU จนไม่ได้ทำหน้าที่เตือนสังคมเพื่อปกป้องชีวิตของ Ella ในการอุทธรณ์นี้ครอบครัวของ Ella ไม่ต้องการจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพียงแต่ต้องการให้ครอบครัวอื่นๆ ที่มีลูก ไม่ต้องสูญเสียลูกไป เพราะต้องหายใจอากาศที่มีมลพิษติดต่อกันเป็นเวลานาน

ปัญหาเรื่องที่มลพิษมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของคนจึงเป็นปัญหาที่ทุกคนกำลังสนใจ จะอย่างไรก็ตามคำตัดสินที่เกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน ดังนั้นจึงมีความสำคัญ เพราะจะเป็นมาตรฐานสำหรับกรณีอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
ภาพไฟป่าในอินโดนีเซีย ต้นเหตุของหมอกควันในหลายพื้นที่ของอาเซียน Wahyudi / AFP
ทุกวันนี้คงไม่มีใครสงสัยว่า มลภาวะของอากาศมีบทบาทสำคัญในการทำลายสุขภาพของคนทุกคน ตั้งแต่เป็นทารกที่ยังไม่เกิด เพราะแพทย์ได้พบว่ามลพิษสามารถทำให้ร่างกายทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ก็ถูกกระทบกระเทือนด้วย ด้านปอดของเด็กที่ได้รับมลพิษมากจะลดสมรรถภาพของการหายใจ ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจทำให้เป็นมะเร็งปอด และโรคหัวใจ การติดตามศึกษาคนอเมริกันจำนวนกว่า 5 แสนคนอย่างติดต่อกันนานกว่า 15 ปี ได้ข้อมูลซึ่งแสดงให้เห็นว่า มลพิษในอากาศสามารถบั่นทอนอายุขัยของคนอย่างเห็นได้ชัด นักวิจัยสุขภาพในอังกฤษได้พบว่า คนอังกฤษเสียชีวิตเพราะมลพิษในอากาศประมาณปีละ 40,000 คน

เมื่อผลกระทบมีความรุนแรงเช่นนี้ บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีกฎหมายควบคุมคุณภาพของอากาศในเมืองใหญ่ไม่ให้เป็นพิษ เช่น อังกฤษได้มีกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 1955 เพราะเมื่อหลายปีก่อนนั้นนักวิทยาศาสตร์อังกฤษได้สำรวจพบว่าอากาศในเมืองใหญ่ เช่น ลอนดอน แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิงแฮม ล้วนมีฝุ่นละออง หมอก และแก๊สพิษในปริมาณค่อนข้างมาก จนทำให้สุขภาพของชาวเมืองอยู่ในสภาพย่ำแย่ ดังนั้นในปีต่อมารัฐบาลอังกฤษจึงออกกฏหมายกำหนดให้การเผาถ่านหินในเตาผิงของทุกบ้าน และการเผาไหม้เชื้อเพลิงทุกรูปแบบ ทั้งนอกบ้านและในบ้าน (ซึ่งสร้างควันในปริมาณมาก) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การสำรวจคุณภาพของอากาศในประเทศอังกฤษอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1952 ได้ข้อมูลที่แสดงว่า อากาศในลอนดอนมีทั้งควันและฝุ่นมาก และละอองฝุ่นได้ทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสให้ไอน้ำในอากาศมาจับเกาะ จนกลายเป็นหมอกควัน (หรือ smog ที่มาจากการสนธิคำ smoke กับ fog) จนทำให้ชาวลอนดอนมีปัญหาสุขภาพด้านโรคระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด ปอดบวม ถุงลมโป่งพอง และปอดอักเสบ เมื่อการหายใจเป็นกิจกรรมที่คนหลายคนทำได้อย่างยากลำบาก คนเหล่านั้นจึงต้องเสียชีวิต

ไม่เพียงแต่ลอนดอนเท่านั้นที่มีปัญหาอากาศเป็นพิษ เมืองใหญ่อื่นๆ ในยุโรป เช่น เบอร์ลินในเยอรมนี และปารีสในฝรั่งเศสก็มีปัญหาเดียวกันมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นเวลาเริ่มต้นของยุคปฏิรูปอุตสาหกรรม เพราะอังกฤษในเวลานั้นมีโรงงานถลุงถ่านหินมาก ทำให้อากาศนอกบ้าน และในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมมีละออง ฝุ่น และควันตลอดเวลา จนทำให้ลอนดอนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกว่า เป็นเมืองที่มีหมอกฝุ่นหนาทึบ จนทัศนวิสัยของชาวเมืองอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ดังที่ปรากฏในบทประพันธ์ของ Charles Dickens เรื่อง Oliver Twist ซึ่งได้บรรยายสภาพของหมอกควันในลอนดอนว่าเลวร้าย ถึงขนาดคนที่เดินสวนกัน ไม่สามารถเห็นใบหน้าของกันและกันได้ สภาพอากาศลักษณะนี้จึงเอื้ออำนวยให้คนประกอบอาชีพเป็นฆาตกร หรือขโมย

นอกจากผลพิษจะสามารถทำร้ายสุขภาพของผู้คนแล้ว ถ้าในเมืองมีฝน หรือหิมะตกโมเลกุลของสารพิษในอากาศจะไปเกาะจับที่ฝุ่นละออง หรือเข้าทำปฏิกิริยาเคมีกับไอน้ำในอากาศทำให้เกิดกรดอ่อนๆ ที่สามารถทำร้ายสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ หรืออนุสาวรีย์ได้ โดยการสกัดวัสดุจนสึกกร่อน ดังนั้น เวลาจะบูรณะวัตถุให้กลับสู่สภาพเดิม รัฐบาลจะต้องใช้เงินมากมหาศาล ทั้งนี้เพราะอาคารเหล่านี้มีความสำคัญต่อจิตใจ ประวัติศาสตร์และศิลปศาสตร์ของชุมชนมาก จึงต้องอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมให้นานที่สุด และดีที่สุด

หลังจากที่ออกกฎหมายอากาศสะอาดในเมืองใหญ่แล้ว ชาวอังกฤษทั้งที่ทำงานในภาคเอกชนและภาครัฐก็ได้ร่วมใจกันทำความสะอาดลอนดอน และแล้วทุกคนก็รู้สึกประหลาดใจมาก เมื่อได้พบว่า มหาวิหาร St. Paul’s ในลอนดอนมิได้ถูกสร้างขึ้นด้วยหินปูนสีดำ แต่ด้วยหินปูนสีเทา ตรงตามปณิธานของท่าน Sir Christopher Wren ซึ่งเป็นหัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารว่าได้ใช้หิน Portland และสาเหตุที่ทำให้หินสีเทากลายเป็นสีดำนั้น เพราะถูกหมอกควันในลอนดอนทำร้ายมาเป็นเวลานานร่วม 300 ปี

หลังจากที่ได้กำจัดมลภาวะของอากาศจน “หมดสิ้น” แล้ว ชาวลอนดอนก็ได้พบว่า ชุมชนได้รับแสงแดดมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแสงอาทิตย์สามารถส่องทะลุผ่านหมอกควันและต้นไม้ถึงผู้คนได้มากขึ้น สนามหญ้าในเมืองก็มีสีเขียวขึ้น นกที่ตามปกติจะอาศัยอยู่ในสวนสาธารณะก็ได้บินกลับมาเยือนสวนอีก หลังจากนั้นโครงการทำความสะอาดอากาศในเมืองใหญ่อื่นๆ ของอังกฤษก็ได้มีตามมา

ณ วันนี้นักวิทยาศาสตร์บรรยากาศได้พบว่า นอกจากอากาศจะมีแก๊สออกซิเจน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำ เป็นองค์ประกอบหลักแล้ว อากาศในเมืองยังมีละออง ฝุ่น ผง ควัน ที่มาจากสารเคมี ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไม่มีทางหลบเลี่ยงได้ เช่นมี

ละอองอาร์ซีนิก (arsenic As) ซึ่งถูกปลดปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมแก้ว และทำให้คนที่หายใจละอองชนิดนี้เข้าร่างกายในปริมาณมาก เป็นมะเร็งปอด

ละอองแคดเมียม (cadmium Cd) จากการเผาขยะ และสามารถทำอันตรายไตและปอดได้

ละอองปรอท (mercury Hg) ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการเผาถ่านหิน สามารถทำลายระบบการทำงานของประสาทในสมองได้

ละอองแมงกานีส (manganese Mn) ซึ่งถ้ามีสะสมในร่างกายในปริมาณมาก อาจทำให้เป็นโรค Parkinson’s

ละอองนิกเกิล (nickel Ni) จากโรงงานเผาถ่านหิน สามารถทำให้เป็นมะเร็งปอด

ละอองตะกั่ว (lead Pb) จากไอเสียรถยนต์ สามารถทำให้คนที่หายใจเข้าไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง

สารประกอบเบนซิน (benzene C6H6) จากน้ำมันรถยนต์ อาจทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

แก๊สคลอรีน (chlorine Cl2) จากโรงงานอุตสาหกรรม สามารถทำให้เนื้อเยื่อจมูกอักเสบ

แก๊สคาร์บอนมอนออกไซด์ (carbon monoxide CO) จากไอเสียรถยนต์ และโรงงานถลุงเหล็ก ซึ่งถ้าร่างกายสูดหายใจเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้หมดสติถึงตายได้
หมอกควันหนาในอินโดนีเซีย  CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP
การสำรวจคุณภาพอากาศตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า สารเคมีที่มีปนทั้งในน้ำ ดิน และอากาศล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วไป และกำลังเป็นเรื่องที่คนทุกคนต้องเข้าใจ กระนั้นการศึกษาผลกระทบของสารเคมีที่มีอยู่ในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ๆ คนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดำรงชีพ ยังไม่ได้รับการพิจารณาหรือศึกษาดี เพราะในบ้านก็มีสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในเตาถ่าน ควันบุหรี่จากเจ้าของบ้าน และละอองฝุ่นจากภายนอกที่แทรกซึมเข้ามาค่อนข้างมากเช่นกัน

งานวิจัยของ M. Sleiman เมื่อปี 2010 ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science ในอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่าในบ้านอาจมีสาร nitrosamine ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรด nitric (HNO3) ที่อยู่ในสถานะแก๊สกับสาร nicotine ที่พบในควันบุหรี่ สาร nitrosamine ที่เกิดขึ้นนี้จะไปเกาะติดที่พรม และที่พื้นบ้านของคนที่สูบบุหรี่นั้น

ด้านกรด nitrous (HNO2) ก็อาจจะมีได้ เพราะเกิดจากการเผาไหม้ของถ่านในเตาหุงข้าว หรือจากแก๊ส nitrogen oxide ที่ทำปฏิกิริยากับผนัง กำแพงหรือพรม ส่วนสาร PAHs (polycyclic aromatic hydrocarbon) ถ้ามีในปริมาณมาก ก็สามารถทำให้คนเป็นมะเร็งได้ และมักพบตามผนังบ้าน เพราะเกิดจากควันบุหรี่ และการเผาถ่านไม้ในเตาของคนจนในประเทศที่กำลังพัฒนา

สำหรับการใช้น้ำผสมคลอรีนเวลาทำความสะอาดบ้านก็ได้พบว่ามักทำให้เกิดแก๊สคลอรีน และสารประกอบของคลอรีนที่เป็นแก๊ส HOCL ซึ่งเวลาระเหยจากผิววัตถุที่ถูกทำความสะอาด มันจะเข้าทำปฏิกิริยาเคมีกับผิวของวัสดุอื่นๆ ที่มีในห้อง หรือเวลามันแตกตัวเมื่อได้รับรังสี UV (ultraviolet) ที่มีในแสงอาทิตย์และผ่านเข้าในห้อง เพื่อทำปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ผู้คนในบ้านกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหุงหาอาหาร การสูบบุหรี่ และการทำความสะอาดบ้านล้วนมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในบ้านทั้งสิ้น แต่กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ในบ้านมีสารพิษ เพราะการมีแค่คนในบ้านก็สามารถสร้างผลกระทบต่อปริมาณโอโซนได้แล้ว การทดสอบโดย A. Wisthaler กับคณะที่เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Science เมื่อปี 2010 ได้แสดงให้เห็นว่า เวลาคนสองคนเดินเข้าไปในห้อง ภายในเวลาเพียง 30 นาทีปริมาณโอโซนในห้องจะลดลง 50% และในช่วงเวลาเดียวกันสารประกอบ carbonyl ต่างๆ ก็จะมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะอนุมูล OH ที่เกิดจากการสลายตัวของกรด nitrous หรือจากปฏิกิริยาระหว่างโอโซนกับ alkene ก็จะมีมากขึ้นด้วย

ในปี 2017 T. Berndt และคณะได้รายงานในวารสาร Journal of the American Chemical Society ว่า สารประกอบ Criegee intermediate ที่มักจะเกิดเวลาผิวของวัสดุในบ้านถูกเคลือบด้วยไอของน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร และเวลาไอเข้าทำปฏิกิริยากับ ozone จะให้สารอันตรายที่สามารถฆ่าแมลงได้

ทุกวันนี้นักเคมีบรรยากาศกำลังพยายามเข้าใจปฏิกิริยาที่แก๊สระเหยง่ายเปลี่ยนสภาพเป็นละอองลอย ซึ่งจะทำให้ละอองในบ้านมีปริมาณมากกว่าที่มีนอกบ้าน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการลดภัยอากาศเป็นพิษ วงการสถาปัตยกรรมได้ตระหนักรู้มานานแล้วว่า การระบายอากาศเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถควบคุมปริมาณผลพิษในบ้านได้ โดยเจ้าของบ้านอาจเปิดหน้าต่างให้อากาศนอกบ้านเคลื่อนที่เข้าในบ้าน และไล่แก๊สที่เกิดจากคน จากเฟอร์นิเจอร์ และจากกิจกรรมต่างๆ ที่เจ้าของบ้านสร้างให้ออกไปนอกบ้าน แต่ถ้าอากาศนอกบ้านก็มีมลพิษมากแล้ว เจ้าของบ้านอาจต้องหาทางปิดกั้นอากาศจากภายนอกไม่ให้เข้าภายในบ้านมากด้วย ซึ่งอาจจะทำได้โดยใช้เครื่องปรับและฟอกอากาศคือ สร้างบ้านอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงาน และฟอกอากาศได้ในเวลาเดียวกัน

เพราะคนเราใช้ชีวิตในบ้านมากกว่านอกบ้าน ดังนั้น เราจึงต้องรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดภายในบ้าน และผลกระทบที่มันมีต่อสุขภาพของทุกคนในบ้านด้วย โดยอาจทำได้โดยใช้พืชในบ้านเป็นตัววัดบอกความรุนแรงหรือความปลอดภัยของเหตุการณ์

อ่านเพิ่มเติมจาก Toxic Exposures: Contested Illnesses and the Environmental Health Movement โดย Phil Brown จัดพิมพ์โดย Columbia University Press ปี 2007

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น