xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูล สสน.เผยเขื่อนใหญ่ๆ ยังขาดน้ำสำรองหน้าแล้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สสน.เผยสถานการณ์ฝน ขยับลงมาภาคกลางตอนล่างภาคใต้ตอนบน “ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบฯ" ยังเฝ้าระวังฝนสะสมต่ออีก 1 วัน ในวันที่ 24 ก.ย. ส่วนภาคอีสานดีขึ้นเหลือแค่น้ำล้นตลิ่งที่แม่น้ำชี – มูล บริเวณ จ.ยโสธรและอุบลราชธานี คาดเข้าสู่ปกติต้น ต.ค.นี้ ระบุ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำยังน้อย มีน้ำใช้การได้รวม 5,422 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการน้ำตามค่าเฉลี่ยในช่วงฤดูแล้ง-ต้นฝน ปี 63 คือ 12,000 ล้าน ลบ.เมตร ลุ้นอีก 37 วันสิ้นสุดฤดูฝน

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝนของประเทศไทย ว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้รายงานการคาดการณ์ฝน ว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณตอนบนของประเทศ ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน แต่ยังส่งผลให้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ต่อเนื่องถึงวันที่ 24 ก.ย.ทั้งนี้ ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. วันที่ 23 ก.ย. มีปริมาณฝนสะสมที่ จ.ราชบุรี ถึง 129 มิลลิเมตร กาญจนบุรี 74 มิลลิเมตร กรุงเทพฯ 59 มิลลิเมตร นครราชสีมา 55 มิลลิเมตร ซึ่งต้องเฝ้าระวัง

ส่วนระดับน้ำที่ยังคงล้นตลิ่งแม่น้ำชี – มูล บริเวณ จ.ยโสธรและอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ ประกอบกับฝนที่ตกหนักในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำมูลได้ไหลลงมาเติมในแม่น้ำมูลสายหลัก ทำให้อัตราการลดลงชะลอตัว คาดว่าระดับน้ำจะลดลงสู่ระดับตลิ่งในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ จากนั้น ฝนจะลดลงในช่วงวันที่ 27 – 30 ก.ย.ซึ่งบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลึกลงมาปกคลุมบริเวณตอนบนของประเทศ ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนลดลง

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า แต่น่าสนใจคือปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีน้อย โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักฯ มีน้ำใช้การได้รวม 5,422 ล้าน ลบ.เมตร ขณะที่ประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝนของปี 2563 ทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตรและระบบนิเวศ คือ 12,000 ล้าน ลบ.เมตร เหลือเวลาอีก 37 วันจะสิ้นสุดฤดูฝน ดังนั้น ต้องการน้ำเก็บกักเพิ่มอีกถึง 6,578 ล้าน ลบ.เมตร

"ส่วนเขื่อนอื่นๆ ที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา เป็นต้น ขณะที่เขื่อนที่มีปริมาณน้ำกักเก็บสูงและมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมาก คือ เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 90 เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำกักเก็บ ร้อยละ 98 เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 83"


กำลังโหลดความคิดเห็น