“การกักเก็บพลังงาน” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญในปัจจุบัน เนื่องจาก “พลังงานสะอาด” อันเป็นพลังงานที่ไม่สร้างมลพิษ จะมาทดแทนพลังงานจากถ่านหิน ปิโตรเลียม และ แก๊สธรรมชาติ ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
พลังงานสะอาดส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วย “โซลาร์เซลล์” ที่ทำหน้าแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ในช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ การกักเก็บพลังงานจึงมีความสำคัญ หากมีระบบการกักเก็บพลังงานที่ดีแล้ว ก็จะได้พลังงานไว้ใช้อย่างยาวนานทุกช่วงเวลา โดยไม่เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้คณะวิจัยของหน่วยวิจัยวัสดุสำหรับพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งประกอบด้วย ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าทีมวิจัย และทีมวิจัย ได้แก่ ดร.วรวริศ กอปรสิริพัฒน์ , ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ , ดร.มานพ มาสมทบ , ดร.อุกฤษฎ์ สหพัฒน์สมบัติ , ดร.วิศาล ลีลาวิวัฒน์ , ดร.ธัญญา แพรวพิพัฒน์ , นางสาวฝนทิพย์ ธรรมวัฒน์ ,นางสาวประณุดา จิวากานนท์ และนายวิเศษ ลายลักษณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการกักเก็บพลังงาน จึงได้วิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมานานกว่า 15 ปีแล้ว
ดร.พิมพากล่าวว่า เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทีมวิจัยได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐานการกักเก็บพลังงาน การค้นหาวัสดุและผลิตวัสดุใหม่ๆ ที่ใช้ในการกักเก็บพลังงาน และยังมีการร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน โดยทีมได้ทำการวิจัยพัฒนาวัสดุและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมแบตเตอรี ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการนำเทคโนโลยีด้านวัสดุและระบบแบตเตอรีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
การวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน เป็นหนึ่งในผลงานของ สวทช. เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาประเทศ โดยทีมนักวิจัยจะเปิดรับโจทย์ในด้านการกักเก็บพลังงาน และพยายามหาโจทย์ว่าความต้องการที่แท้จริงคืออะไร เพื่อที่จะพัฒนาและช่วยสร้างประโยชน์แก่ผู้คนที่ใช้พลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีพลังงานที่สะอาดใช้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลภาวะที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ทีมนักวิจัยก็ไม่ได้สนใจเพียงแค่เรื่องการกักเก็บพลังงานแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ภายในทีมของเรายังมีทีมงานที่คิดค้นและพัฒนาในด้านวัสดุอุปกรณ์ เพื่อถูกนำไปใช้เป็นเซลล์แบตเตอรีในการเก็บพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูง มีอายุการใช้งานยาวนาน มีความทนทาน และมีน้ำหนักเบา และสมาชิกในทีมยังมีส่วนออกแบบวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะกับการที่จะนำไปใช้งานด้วย” ดร.พิมพากล่าวเสริม
ในส่วนการวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานนี้ มีการร่วมมือกันพัฒนากับทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อนำข้อมูลด้านการวิจัยไปต่อยอดในด้านต่างๆ เช่น ด้านอุตสาหกรรม ที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยมีวัสดุที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์ในการกักเก็บพลังงานที่มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับให้เข้าไปอยู่ในตลาดการผลิตและการซื้อขายอุปกรณ์ในการกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี, ตัวเก็บประจุ เพื่อที่จะลดการนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ พร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจรวมของประเทศด้วย
ด้วยการวิจัยและพัฒนาที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ “ผลการวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน” จึงได้รับรางวัลเกียรติยศ “PTIT Award” ประจำปี 2562-2563 สาขา PTIT Innovation Award จาก สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) โดยรางวัล PTIT Awards (Petroleum Institute of Thailand Awards) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องและส่งเสริมบุคลากรในส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรม ที่ได้ปฏิบัติงานหรือกำลังปฏิบัติงานที่สนับสนุนการพัฒนา และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รางวัลประเภท PTIT Innovation Award นั้น เป็นรางวัลที่จะมอบให้คณะบุคคลที่มีประวัติการทำงานและผลงานวิจัยและพัฒนา ที่มี่คุณค่าต่ออุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทยอย่างชัดเจน และ เป็นผู้มีผลงานด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่คิดค้นได้ภายในประเทศ และพัฒนาต่อยอดจากผลงานเดิม สามารถนำไปใช้เชิงพาณิชย์ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ได้