เทพนิยายของชนแทบทุกชาติมักมีนิทานเกี่ยวกับนกยักษ์ที่มีความสามารถมหัศจรรย์ เช่น รามเกียรติมีครุฑเป็นพญานก ที่มีจะงอยปากเหมือนนกอินทรี มีร่างกายเหมือนคน มีปีก และชอบกินนาคเป็นอาหาร การเป็นนกที่ทรงพลานุภาพมหาศาล ทำให้คนไทยนิยมใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ และเป็นตราของราชการ เทพนิยายอินเดียก็มีครุฑที่มีใบหน้าขาว ปากแดง ผิวกายเขียว มีแขนคน และมีขานก ช่วงปีกที่กว้างใหญ่ทำให้สามารถบินจากขอบหนึ่งของจักรวาลไปยังอีกขอบหนึ่งได้อย่างสะดวกสบาย และชอบบริโภคงูพิษเป็นอาหาร ส่วนครุฑของอินโดนีเซียเป็นนกที่แข็งแรง ชอบอาศัยอยู่ในพระราชวังที่หรูหรา และมีจิตใจที่มั่นคง ดังนั้น คนอินโดฯ จึงใช้ครุฑเป็นแบรนด์ของเครื่องบินประจำชาติ
ด้านเทพนิยายเปอร์เซียมีนก phoenix (ฟีนิกซ์) รูปร่างคล้ายนกกระสา ขนสีแดง ส่งเสียงร้องไพเราะ ชอบบริโภคแสงอาทิตย์และน้ำค้างเป็นอาหาร เมื่อรู้ตัวว่าใกล้จะตาย มันจะส่งเสียงร้องโหยหวนเป็นการอำลาโลก แล้วเริ่มสร้างรังด้วยไม้หอม เพื่อให้แสงอาทิตย์แผดเผา จนรังลุกไหม้ จากนั้นมันใช้ปีกทั้งสองข้างกระพือลมให้มันและรังถูกไฟเผา จนกลายเป็นกองกูณฑ์ ถ้าคนเพิ่งตายได้กินขี้เถ้า ก็จะฟื้นคืนชีพ ในอีกสามวันต่อมา ในกองเถ้าจะมีหนอนซึ่งจะออกไข่ ซึ่งเมื่อฟักเป็นตัว ลูกนกฟีนิกซ์ก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมาดูโลก ดังนั้นคนเปอร์เซียจึงใช้ฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะนิรันดรกาล คือ ตายแล้วคืนชีพได้อีกอย่างไม่รู้จบ ด้านนักประวัติศาสตร์โรมัน Tacitus เชื่อว่าอายุขัยหนึ่งของฟีนิกซ์ คือ 1,461 ปี
ในนิทานอาหรับเรื่อง “หนึ่งพันกับหนึ่งราตรี” ก็มีนกยักษ์ roc ที่มีพลังมหาศาลเพราะสามารถคาบช้างทั้งตัวไปกินได้ roc เป็นทาสของยักษ์ที่ซ่อนตัวอยู่ในตะเกียงของ Aladin ครั้นเมื่อไข่นก roc ถูกกะลาสีเรือทุบจนแหลกราญ roc ตัวพ่อรู้สึกเคืองแค้นมาก จึงบินไปคาบหินก้อนใหญ่มาทุ่มใส่จนเรือแตก มีผลทำให้กะลาสีจมน้ำตายหมด ยกเว้น Sinbad
ชาวอินเดียนแดงที่ตั้งถิ่นฐานในทวีปอเมริกาเหนือมีนกฟ้าร้อง (thunderbird) ที่เวลาบิน กระแสลมที่เกิดจากการกระพือปีกของมันสามารถทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ ชนเผ่านี้ยังเชื่ออีกว่าปรากฏการณ์ฟ้าแลบเกิดจากแสงอาทิตย์ที่สะท้อนมาจากดวงตาของนกนี้
เหล่านี้คือตัวอย่างนกยักษ์ในเทพนิยาย แล้วในเหตุการณ์จริง โลกมีนกยักษ์หรือไม่
การขุดพบฟอสซิลในดินแดน Patagonia ของทวีปอเมริกาใต้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อ 50 ล้านปีก่อนซึ่งเป็นยุค Eocene มีนกยักษ์ Diatryma อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นกสปีชีส์นี้มีลำตัวและคอสั้น กะโหลกศีรษะยาวถึง 45 เซนติเมตร จะงอยปากแข็งแรง ปีกที่เล็กไม่เหมาะสมกับตัวทำให้มันบินไม่ได้ แต่การมีขาที่แข็งแรงทำให้มันสามารถวิ่งได้เร็ว กระนั้น Diatryma ก็ได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว
ในเวลาเดียวกัน Patagonia ก็ยังมีนกยักษ์ Phrorhacos ที่สูงถึง 3 เมตร มีจะงอยปากงุ้มโค้งคล้ายตะขอ และชอบกินสัตว์เป็นๆ ปีกที่สั้นของมันทำให้มันบินไม่ได้ แต่เท้าที่แข็งแรงทำให้มันสามารถวิ่งหนีศัตรูได้เร็ว มันจึงสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน
ใน New Zealand ยุคดึกดำบรรพ์มีนก Dinornithidae ที่บินไม่ได้เช่นกัน นกชนิดนี้เป็นต้นตระกูลของนก moa (โมอา) ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว Dinornithidae มีขนหลายสี มีกะโหลกศีรษะค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้น ไข่ของมันมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร สาเหตุการสูญพันธุ์ของนกชนิดนี้ เกิดจากชนพื้นเมืองเผ่า Maori ได้ขโมยไข่ และไล่ล่าฆ่านกเป็นอาหาร จนมันสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ในปี 2004 ที่หมู่บ้านนอกเมือง Bariloche ในประเทศ Argentina มีเด็กชายคนหนึ่งชื่อ Guillermo Aguire-Zabala ซึ่งสนใจการค้นหาสัตว์ดึกดำบรรพ์มาก วันหนึ่งเขาได้ขุดพบกะโหลกนกที่ยาว 71.6 เซนติเมตร กระดูกที่ใหญ่เช่นนี้แสดงว่า ลำตัวมันมีขนาดใหญ่กว่าม้า และหนักประมาณ 180 กิโลกรัม นกชนิดนี้มีจะงอยปากที่เรียวโค้งคล้ายตะขอ ขาที่แข็งแรงทำให้สามารถวิ่งไล่จับแกะ และแพะที่เล็มหญ้าในทุ่งกว้างของทวีปอเมริกาใต้เป็นอาหารได้ ปีกที่เล็กทำให้มันบินไม่ได้ และเป็นนกในวงศ์ Phourusrhacid ที่ได้สูญพันธุ์ไปเมื่อ 2 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่ทวีปอเมริกาเหนือได้เคลื่อนตัวลงมาผนึกติดกับทวีปอเมริกาใต้ มีผลทำให้สุนัขป่าและเสือฟันดาบที่อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือสามารถเดินทางลงไปถึงทวีปอเมริกาใต้ได้ แล้วได้จับกินนกยักษ์จนสูญพันธุ์
ปัจจุบันกะโหลกของนกสปีชีส์นี้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo Association Paleontological Bariloche ใน Argentina และการเห็นกะโหลกนกที่มีขนาดใหญ่นี้ทำให้เราตระหนักว่า ในอดีตที่ได้ผ่านมานานมากแล้ว โลกเคยมีนกยักษ์ แม้ทุกวันนี้นกยักษ์เหล่านี้จะได้สูญพันธุ์ไปแล้วก็ตาม แต่โลกก็มีแค่นกขนาดธรรมดาๆ ที่นักชีววิทยาเชื่อว่าเป็นทายาทของไดโนเสาร์
คำถามหนึ่งที่นักชีววิทยาหลายคนสนใจ คือนอกจากนกยักษ์ที่บินไม่ได้แล้ว โลกมีนกยักษ์ที่บินได้หรือไม่ และนกยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดและบินได้ คือนกอะไร คำตอบคือ นก pterosaur (เทอร์โรซอร์) ซึ่งเป็นนกดึกดำบรรพ์ในยุค Mesozoic ที่ได้รับความสนใจจากทุกคนที่ได้อ่านนวนิยายเรื่อง “The Lost World” โลกที่สูญหายของ Sir Arthur Doyle ซึ่งได้บรรยายว่าท้องฟ้าสมัยนั้นมีฝูง pterosaur บินโฉบกินคนเป็นอาหาร เมื่อนักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์เห็นกระดูกของ pterosaur เป็นครั้งแรก ในปี 1784 นั้นพวกเขาคิดว่ามันกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร
นักชีววิทยาได้เริ่มรู้จัก pterosaur ดีขึ้นในปี 1971 หลังจากที่ D.A. Lawson แห่งมหาวิทยาลัย Texas ที่เมือง Austin ในสหรัฐอเมริกาได้ขุดพบฟอสซิลของสัตว์ปีกในสวนสาธารณะแห่งชาติ Big Bend ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขณะมีชีวิต มันมีช่วงปีกที่กว้างถึง 12 เมตร และสูงเท่ายีราฟ จึงได้ตั้งชื่อว่า Quetzalcoatlus northropi ตามชื่อเทพเจ้างูที่บินได้ของชาว Aztec
การวิเคราะห์โครงสร้างของกระดูกฟัน กระดูกเชิงกราน และกระดูกขาแสดงให้เห็นว่า pterosaur เป็นสัตว์เลื้อยคลานเหมือนงู และกิ้งก่า ชอบล่าเหยื่อซึ่งได้แก่ แมลง และปลา เหมือนนก pelican มีปีกยาวและแข็งแรงทำให้มันสามารถบินถลาลมได้ดี และบินได้ไกลร่วมพันกิโลเมตร นกชนิดนี้ถือกำเนิดเมื่อ 215 ล้านปีก่อน และได้สูญพันธุ์เมื่อ 150 ล้านปีก่อนคือในช่วงปลายยุค Cretaceous
ที่เหมืองหินปูนของเมือง Solnhofen ในประเทศเยอรมนีก็ได้มีการขุดพบฟอสซิลของ pterosaur ที่นับว่าสมบูรณ์แบบที่สุด และแหล่งฟอสซิลของ pterosaur ที่พบมากอีกแหล่งหนึ่งคือที่มณฑล Yixian ในจีน ซึ่งพบ pterosaur ที่ตามลำตัวมีขน และมีขนาดเล็กเท่ากา
ฟอสซิลทั้งหลายเหล่านี้ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเทอร์โรซอร์ว่า ขณะช่วงปีกของลูกนกมีความกว้างประมาณ 10-20% ของช่วงปีกพ่อ-แม่ มันจะเริ่มหัดบิน และใช้กระดูกปีก 2 ข้างแทนขาหน้า 2 ขา กับกระดูกขาทั้งสองที่มันมี รวมเป็น 4 ขาเพื่อบินขึ้น โดยใช้ขาหลังออกวิ่งก่อน แล้วใช้ปีกทั้งสองดันตัวขึ้นจากพื้น เมื่อตัวลอยในอากาศแล้ว ปีกทั้งสองก็จะกางออก เพื่อโบยบินต่อไป
ในกรณีของ pterosaur ที่มีขนาดเล็ก การบินขึ้นไม่มีปัญหามาก เพราะมันใช้วิธีกระพือปีกอยู่กับที่ก่อนแล้วจึงออกวิ่ง พร้อมกันนั้นก็จะกระพือปีกให้แรงขึ้นๆ จนตัวมันลอย แต่ถ้าเป็น pterosaur ที่มีขนาดใหญ่ การบินขึ้นโดยใช้วิธีแบบนกธรรมดาจะทำไม่ได้ ดังนั้นมันจะใช้กระดูกปีกทั้งสองที่มันมีแทนขาหน้า 2 ขาแล้วใช้ 2 ขาที่มันมี (รวมเป็น 4 ขา) ถีบตัวขึ้นจากพื้น กระดูกขา (femur) ที่มีขนาดเล็กกว่ากระดูกปีก (humerus) จะช่วยให้ pterosaur สามารถบินถลาขึ้นอากาศได้ โดยไม่ต้องอาศัยลมช่วย
นักชีววิทยาสันนิษฐานว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ pterosaur มีขนาดใหญ่ คือสัตว์อื่นจะได้ไม่มาล่ามันเป็นอาหาร และขนาดที่ใหญ่สามารถประหยัดพลังงานของมันในการบินได้ เพราะปีกของ pterosaur ไม่มีขนเหมือนปีกนกทั่วไป แต่เป็นเนื้อเหมือนปีกค้างคาว
ในยุคที่ pterosaur ครองฟ้า นักชีววิทยาได้สันนิษฐานว่าทั้งโลกมีประมาณ 130-150 สายพันธุ์ คือตั้งแต่ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่านกกระจอก (กะโหลกยาว 2.5 เซนติเมตร และช่วงปีกยาว 25 เซนติเมตร) จนถึงขนาดใหญ่เท่า Quetzalcoatlus northropi (ขนาดเท่ายีราฟ)
ปริศนาหนึ่งที่นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์สนใจคือ pterosaur กินอะไรเป็นอาหาร ในอดีต ผู้เชี่ยวชาญได้ใช้วิธีศึกษารูปลักษณะฟันของมัน และบริเวณที่มันอาศัย แต่เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.2018 ที่ผ่านมานี้ Jordan Bestwick แห่งมหาวิทยาลัย Leicester ในอังกฤษได้รายงานผลการศึกษาเรื่องนี้ในที่ประชุมประจำปีของสมาคมสัตว์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งจัดขึ้นที่ London ว่า เขาได้ศึกษาฟอสซิลฟันของ pterosaur โดยตรงเพื่อวิเคราะห์รอยขูดข่วนและรอยขีดที่เกิดขึ้นเวลามันแทะกระดูกสัตว์ และพบว่า pterosaur สปีชีส์ Dimorphodan macronyx ที่เคยคิดกันว่า กินปลาเป็นอาหารนั้น แท้จริงแล้วกินแมลงและสัตว์บกที่มีกระดูกสันหลัง
Bestwick ยังได้ศึกษาฟันของ pterosaur อีก 11 สปีชีส์ที่ถูกเก็บสะสมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Natural History Museum ในลอนดอน และที่ Museum of Natural History ในเบอร์ลิน โดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อสร้างภาพ 3 มิติของฟัน แล้วเปรียบเทียบกับฟันของค้างคาว จระเข้ และตะกวด ซึ่งกินแมลง ปลา และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ เป็นอาหาร จนได้ข้อสรุปว่า pterosaur สปีชีส์ Rhamphorhynchus มีฟันคล้ายจระเข้ ดังนั้น มันจึงกินปลาเป็นอาหารหลัก เช่นเดียวกับจระเข้
อ่านเพิ่มเติมจาก “Pterosaur” โดย Mark P. Witton จัดพิมพ์โดย Princeton Press ปี 2013
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์