เขาคือด็อกเตอร์หนุ่มผู้นำงานวิจัยปลูกผลึกโปรตีนไปถึงอวกาศ สร้างความหวังงานวิจัยยาต้านมาลาเรียสำหรับคนบนโลก แต่รู้ไหมเขายังมีฝันไปไกลถึงดาวเคราะห์ดวงไหน?
เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แคปซูลดรากอน (Dragon) ของสเปซเอ็กซ์ ( SpaceX) ได้กลับจากสถานีอวกาศนานาขาติมายังโลก และภายในแคปซูลมีงานวิจัยไทย 100% เป็นส่วนหนึ่งของสัมภาระที่บรรจุอยู่ในแคปซูล
งานวิจัยไทยดังกล่าวคือ “การปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศ” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโสศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะได้นำผลึกโปรตีนดังกล่าวมาพัฒนาเป็น "ยาต้านมาลาเรีย" และเป็นการทดลองบนอวกาศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กับไบโอเทค สวทช. และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจกซา (JAXA)
ทว่า นอกจากการเป็นหัวหน้าโครงการที่ส่งงานวิจัยไปถึงอวกาศแล้ว ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู นักวิจัยของจิสด้ายังมีความฝันถึงงานวิจัยอวกาศที่ไปไกลกว่าแค่วงโคจรโลก อย่างเรื่องการทำเหมืองแร่ในอวกาศ
ดร.อัมรินทร์ ขยายความให้ฟังว่า ข้างนอกโลกนั้น ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสจะมีแนวอุกกาบาตที่เรียกว่า แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ซึ่งเป็นหมู่ดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนที่เป็นวงแหวนขนาดใหญ่ โดยเป็นวัตถุและแร่ธาตุที่ไม่มีบนโลก
"ถ้าเราสามารถเดินทางไปสำรวจแร่ธาตุต่างดาวหรือธาตุเอเลี่ยนเหล่านั้น และนำกลับมาได้ นอกจากเราจะได้ความรู้ที่ไม่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์มาก่อน ทั้งทางด้านวัสดุศาสตร์ ชีววิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย เรายังสามารถนำวัสดุเหล่านั้นมาพัฒนาและสร้างเป็นนวัตกรรมจากอวกาศได้อย่างมหาศาล"
รวมทั้ง ยังสามารถใช้ทดแทนวัสดุแร่ธาตุที่กำลังจะหมดไปจากโลกของเราอีกด้วย ซึ่ง ดร.อัมรินทร์ระบุว่าการวิจัยเพื่อทำเหมืองแร่ในอวกาศ เป็นอีกงานวิจัย Frontier Research หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก และเป็นงานวิจัยที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างครบครัน เช่น การพัฒนายานสำรวจอวกาศ นักบินอวกาศ และยานลำเลียงวัตถึอวกาศเหล่านั้นกลับมายังโลก
"นั่นเองที่อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศจะเจริญเติบโตอย่างชัดเจน เพราะความจำเป็นต่อความต้องการชิ้นส่วนเพื่อประกอบยานสำรวจ ความต้องการการผลิตชิ้นส่วนยานลำเลียง รวมไปถึงการพัฒนาจรวดนำส่งยานออกไปสำรวจอวกาศก็จะต้องเกิดขึ้นด้วย"
ดร.อัมรินทร์กล่าวว่า ยังมีงานอีกหลายประเภทที่น่าสนใจนำไปทดลองในอวกาศ เช่น ด้านการแพทย์ ที่ไทยมีความได้เปรียบอยู่ก็สามารถประยุกต์ไปทำการทดลองในอวกาศได้เช่นกัน
“สิ่งสำคัญคือ บ้านเรายังขาดสาขาวิชาวิทยาศาสตร์อวกาศ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการศึกษาด้าน space science, astronautics and aeronautics engineering หรือ space & medical science ที่จะนำไปสู่การทดลองงานวิจัยในอวกาศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งปลายทางจะทำให้เกิดเป็น SME จากนักศึกษาที่เรียนจบมา รวมทั้งงานวิจัยที่น่าสนใจอื่นๆ นอกจากการทำเหมืองแร่อวกาศจากนักศึกษาเหล่านั้น และสุดท้ายจะกลายเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตได้ไม่ยาก เมื่อเกิดการศึกษาที่ชัดเจนในกระบวนการศึกษา รวมทั้งความต้องการนักวิจัยหรือวิศวกรอวกาศจากภาครัฐและภาคเอกชน ถึงตอนนั้นคนไทยจะไปอวกาศก็เป็นเรื่องปกติเหมือนเดินทางไปต่างประเทศนั่นเอง”