xs
xsm
sm
md
lg

ฝากน้ำไว้ใต้ดิน ไม่ต้องรอฝนตามฤดูกาล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ธนาคารน้ำใต้ดิน” ฝากน้ำไว้ในดิน มีใช้อย่างยั่งยืน

“ธนาคารน้ำใต้ดิน” เป็นโครงการที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่ใช้แก้ปัญหา “ภัยแล้ง” ภัยธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือผู้ทำเกษตรกรรมนอกพื้นที่ชลประทาน


มีหลายองค์กรที่ให้ความสนใจโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อที่จะพัฒนาและต่อยอดให้โครงการถูกนำไปดำเนินงานอย่างถูกวิธี พร้อมกับสร้างประโยชน์และแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ได้ผลดีที่สุด


“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ” (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ (NIA) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการธนาคารน้ำใต้ดินนี้ โดยได้สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อรับมือภัยแล้งอันเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมากในทุกๆ ปี


หนึ่งในชุมชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากเอ็นไอเอ จนได้กลายเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบในการบริหารการจัดการธนาคารน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือ “ชุมชนหนองมะโมง” อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ ชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง


นายสายัญ ฉุนหอม วิทยากรโครงการน้ำใต้ดิน ประจำสำนักงานเทศบาลตำบลหนองมะโมง กล่าวว่า แม้อำเภอหนองมะโมง จะตั้งอยู่ที่ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและเป็นที่ตั้งของเขื่อนเจ้าพระยา แต่กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในบริเวณดังกล่าวได้


"เนื่องจากพื้นที่อำเภอหนองมะโมงมีภูมิประเทศเป็นที่สูง หากต้องการใช้น้ำก็ต้องรอน้ำฝนตามฤดูกาล แม้จะมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำก็ไม่สามารถใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบในเรื่องขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร และบางปียังเกิดภัยแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ในส่วนนี้ไป”


จนกระทั่งในปี พ.ศ.2560 นายชูชีพ สุพบุตร นายกเทศมนตรีตำบลหนองมะโมง ได้ตัดสินใจนำคณะทำงานเดินทางไปศึกษาดูงานโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และนำความรู้และวิธีดำเนินงานมาทดลองปรับใช้กับพื้นที่หนองมะโมง ในพื้นที่ทดลองจำนวน 35 ไร่ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้จัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน” ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน พร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นภาพความสำเร็จของโครงการ


ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้ทุนโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม และยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้บริหารจัดการธนาคารน้ำได้ดินอีกด้วย


ธนาคารน้ำใต้ดินนั้น ถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ 1.ธนาคารน้ำแบบระบบเปิด มีวิธีการสร้างคือ ขุดบ่อขนาดตามที่ต้องการ แต่บริเวณก้นบ่อนั้นจะขุดหลุมขนาดพอประมาณลึกลงไปอีกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อรองรับและกักเก็บน้ำตามฤดูกาล และเมื่อน้ำถูกเก็บจนเต็มชั้นหินอุ้มน้ำ บ่อดังกล่าวจะมีน้ำจะเออล้นขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี แต่ก็มีข้อเสียคือ น้ำจะระเหยไปกับแสงแดด ซึ่งประเทศไทยก็มีแดดแรงตลอดปี ปริมาณน้ำที่ระเหยก็จะมีปริมาณมาก


ประเภทที่ 2.ธนาคารน้ำแบบระบบปิด ซึ่งเป็นระบบที่ชุมชนหนองมะโมงเลือกใช้ มีวิธีการสร้างคือ ต้องหาพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการกักเก็บน้ำ จากนั้นขุดหลุมลึกลงไปในดินประมาณ 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร และใช้ท่อน้ำปักบริเวณกลางหลุม เพื่อระบายอากาศเวลาที่น้ำไหลเข้า และใส่หินขนาดกลางลงไปให้เต็ม และใช้ตาข่ายคลุมปากหลุมเพื่อกันเศษใบไม้เศษขยะไหลงไปอุดตันท่อระบายอากาศและทำให้บ่อสกปรก ขั้นตอนต่อมาคือหินขนาดเล็กโรยทับเพื่อเป็นการป้องกันอีกชั้น หลังจากรองรับน้ำฝนตามฤดูกาล พื้นที่ดังกล่าวก็จะมีน้ำใต้ดินใช้อย่างสม่ำเสมอ


นายสายัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน อำเภอหนองมะโมงนั้น ได้นำหญ้าแฝกมาปลูกเสริมในบริเวณรอบๆ เป็นการกรองน้ำอีกชั้น และจากการสังเกตหลังจากทำโครงการดังกล่าวก็มีน้ำใต้ดินใช้พอเพียง โดยสังเกตได้จากบ่อน้ำที่ขุดไว้เพื่อใช้สำหรับสูบน้ำและส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกนั้น มีน้ำไหลจากชั้นดินเข้าสู่บ่ออย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งน้ำยังใสสะอาด นอกจากนั้นพื้นดินโดยรอบก็ยังชุ่มชื้นดินไม่แห้งแตกเหมือนเมื่อก่อน


แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะสร้างธนาคารน้ำใต้ดินได้ โดย ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGeo) อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นโครงการที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ดี แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกพื้นที่การทำธนาคารน้ำ


"เราต้องคำนึงในหลายๆ เรื่องรวมกัน เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพดินและหินที่เป็นส่วนสำคัญในการกักเก็บน้ำ และจะไม่ทำในพื้นที่ที่มีสารเคมีตกค้าง หรือใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ทางคณะจึงพัฒนา “ระบบการจัดการน้ำใต้ดิน” สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลหาพื้นที่เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่เสียเวลาและทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์”


ทางคณะได้นำระบบการจัดการน้ำใต้ดินดังกล่าวมาทดลองใช้ในโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่อำเภอหนองมะโม จังหวัดชัยนาท แล้วได้รับผลที่ดีตามความคาดหวัง และในปัจจุบันโครงการก็ได้พัฒนามาเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งกลายเป็นต้นแบบและเป็นสถานที่ดูงานสำหรับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในเรื่องนี้
นายสายัญ ฉุนหอม บรรยายวิธีการทำ “โครงการน้ำใต้ดินระบบปิด”
นายสายัญ ฉุนหอม วิทยากรศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน
ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้ดำเนินงานพัฒนา “ระบบการจัดการน้ำใต้ดิน” เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์มากที่สุด
น้ำไหลเข้าบ่อสำหรับสูบน้ำ ออกมาจากใต้ดินอย่างสม่ำเสมอ
น้ำที่ถูกสูบจากธนาคารน้ำใต้ดิน ส่งไปยังพื้นที่ทำการเกษตร
 บรรยากาศ “ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารน้ำใต้ดิน” เขียมชอุ่มดูร่มรื่นสบายตา
ดร.ปริเวท ทำการบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “ระบบการจัดการน้ำใต้ดิน”


กำลังโหลดความคิดเห็น