เตรียมส่งผลึกโปรตีนจากอวกาศเข้าสิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนที่ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนายาต้านมาลาเรียต่อไป
ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เผยว่า หลังจากที่ส่งโปรตีนขึ้นไปทดลองตกผลึกบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เพื่อต้องการผลึกโปรตีนที่มีรูปแบบและโครงสร้างที่ชัดเจนกว่าการตกผลึกบนโลก เพื่อนำผลึกโปรตีนอวกาศดังกล่าวที่ได้มาพัฒนาสร้างยาต้านมาลาเรียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
การทดลองดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง จิสด้า กับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจกซา (JAXA) และขณะนี้ผลึกโปรตีนได้กลับสู่โลกเรียบร้อยแล้ว
ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ หรือ National Space Exploration (NSE) ของจิสด้า เปิดเผยว่า แคปซูลดรากอน (Dragon) ของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ที่บรรจุโปรตีนในการทดลองอวกาศ ได้ดีดตัวออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และกลับสู่พื้นโลก เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาอยู่ในอวกาศเพื่อทำการทดลองนานกว่า 30 วัน
สำหรับวิธีการส่งผลึกโปรตีนกลับมาพร้อมแคปซูลดรากอนนั้น สถานีอวกาศนานาชาติได้ปลดล็อคแคปซูลดรากอนที่มีลักษณะเหมือนถ้วยออกมา และข้างในแคปซูลมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองบรรจุอยู่ โดยถ้วยดังกล่าวจะค่อยๆ เคลื่อนที่ปรับวงโคจรต่ำลงเรื่อยๆ จนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกและผ่านการเสียดสี พร้อมถูกเผาไหม้เรียบร้อย ก่อนจะกางร่มและค่อยๆ ร่อนลงมาตกในทะเล ซึ่งมีการควบคุมวงโคจร คำนวณตำแหน่ง ความเร็วและการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก การเผาไหม้ต่างๆ จนความเร็วชะลอลง
"กระบวนการทั้งหมดมีการคำนวณไว้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเราทราบระยะเวลาที่ปล่อยจากสถานีอวกาศนานาชาติ ตำแหน่ง มวลขนาด และวัสดุที่ใช้ ตลอดจนความสูงที่ปล่อย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญทำให้เรารู้ได้ว่าแคปซูลจะตกบริเวณพื้นที่ลองบีช ทางชายฝั่งทะเลแคลิฟอร์เนียตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งห่างจากชายฝั่งประมาณ 300 ไมล์"
หลังจากที่แคปซูลตกลงมาแล้ว ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้นำเรือออกไปเก็บลากเพื่อนำกลับไปที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) และได้ส่งต่อไปที่แจกซาเรียบร้อยแล้ว โดยแจกซาได้นำไปเก็บไว้ในตู้เพาะเชื้อสำหรับเก็บสารละลายในอุณหภูมิจำเพาะ เพื่อเตรียมที่จะเอาไปฉายแสงกับเครื่องซินโครตรอนพลังงานสูง ซึ่งจะทำให้เห็นโครงสร้างของผลึกโปรตีนได้อย่างชัดเจน
เครื่องซินโครตรอนดังกล่าวอยู่ที่เมืองเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น โดยทางแจกซาได้อำนวยความสะดวกในการฉายแสงรังสีเอ็กซ์ทุกอย่างให้จิสด้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะหวังจะให้การตกผลึกโปรตีนในอวกาศครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ และขณะนี้เครื่องซินโครตรอนพลังงานสูง อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะดำเนินการฉายแสงให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
"มีขั้นตอนการเตรียมการหลังจากออกจากห้องเพาะเชื้อก่อนเข้าเครื่องฉายแสงประมาณ 8 ชม. โดยช่วงยิงแสงจริงๆประมาณ 5-6 นาที ก็จะเห็นโครงสร้างทั้งหมดของโปรตีนที่จะมีความแตกต่างทั้งหมดมากกว่าบนโลก และทำให้เราสามารถพัฒนาตัวยาต้านมาลาเรียที่ดีได้ ส่วนผลการวิจัยจะออกมาอย่างไรนั้นทางจิสด้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมนี้"
หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต่ออีกว่า โครงการนี้ไม่ได้มุ่งเพียงแค่งานวิจัยในอวกาศอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการที่จะยกระดับนักวิจัยไทยให้มีความสนใจในอวกาศและมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชน และน้องๆ ที่มีความสนใจในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ให้รู้สึกว่าอวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัว งานวิจัยในอวกาศครั้งนี้ใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับมูลค่าคือหลักพันล้านบาท แต่เราจะได้ประโยชน์ที่สามารถช่วยชีวิตคนทั้งโลกจากมาลาเรียได้เป็นแสนๆ คน
"สำหรับน้องๆ ที่สนใจในด้านนี้ต้องคำนึงถึงงานวิจัยที่มีประโยชน์กับภาพกว้าง รวมถึงที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ที่เป็นการศึกษาเพื่อต่อยอด สามารถสร้างเป็นนวัตกรรมหรือทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ประโยช์ได้และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไปในการส่งงานวิจัยไปอวกาศด้วย"