xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียส่งยานลงดวงจันทร์ไม่สำเร็จ แต่ยังเหลือยานโคจรที่ใช้งานได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพของยานวิกรมก่อนจะลงจอดพื้นผิวดวงจันทร์ (Handout / Indian Space Research Organisation (ISRO) / AFP )
แม้อินเดียจะไม่สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติที่ 4 ที่ส่งยานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่ “จันทรายาน 2” ยานแม่ที่โคจรรอบดวงจันทร์ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ดี

ชาวอินเดียรวมทั้งแฟนด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างใจจดใจจ่อกับภารกิจส่งยานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อช่วง 03.00-04.00 น.ของวันที่ 7 ก.ย.2019 ตามเวลาประเทศไทย แต่ภารกิจดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อยานอวกาศไร้คนขับขาดการติดต่อกลับมา

“วิกรม” (Vikram) ยานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ที่ตั้งชื่อตามบิดาแห่งโครงการอวกาศอินเดีย ทะยานออกจากโลกไปพร้อมยานจันทรายาน 2 (Chandrayaan-2) ยานโคจรสำรวจดวงจันทร์ เมื่อ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความสำเร็จก้าวแรกของอินเดียที่มุ่งมั่นจะเป็นชาติที่ 4 ที่จะส่งยานลงดวงจันทร์ ตามหลังสหรัฐฯ รัสเซีย และจีน

ทว่า ปฏิบัติการส่งยานวิกรมที่ติดอยู่กับจันทรายานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ กลับไม่เป็นไปตามคาดหวังของชาวอินเดียที่ลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อ โดยรายงานข่าวระบุว่า ยานวิกรมเงียบและขาดการติดต่อขณะอยู่สูงจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 2.1 กิโลเมตร

หากการลงจอดครั้งนี้ประสบความสำเร็จ อินเดียยังจะเป็นชาติแรกที่ส่งยานไปลงขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรก แต่ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีของอินเดียพยายามปลอบประโลมทีมนักวิทยาศาสตร์ที่หดหู่ กับประชาชนอินเดียที่อึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกล่าวด้วยว่าอินเดียก็ยังคงภาคภูมิใจอยู่ดี

“ยานลงจอดวิกรมลดระดับลงสู่ดวงจันทร์ไปตามแผน และสังเกตได้ว่าสมรรถนะของยานเป็นไปอย่างปกติ ต่อมาการสื่อสารจากยานลงจอดมาถึงสถานีบนพื้นโลกก็ขาดหายไป ตอนนี้กำลังวิเคราะห์ข้อมูลอยู่” ไกลาสวาดิวู สิวัน (Kailasavadivoo Sivan) ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) กล่าว

องค์การวิจัยอวกาศอินเดียยังให้ข้อมูลด้วยว่าในขั้นตอนก่อนการลงจอดของยานบนดวงจันทร์นั้น เป็นขั้นตอนที่ต้องบริหารจัดการอย่างซับซ้อน และมีช่วงเวลา “15 นาทีระทึกขวัญ” (15 minutes of terror) ก่อนการลงจอด

ยานวิกรมยังแบกยานปรัชญาณ (Pragyan) ซึ่งมีความหมายความว่า “ความเฉลียวฉลาด” ในภาษาสันสกฤต โดยตามกำหนดยานโรเวอร์ (rover) ลำนี้จะโผล่ออกมาทำหน้าที่เดินทางสำรวจพื้นผิวและหาแหล่งน้ำบนดวงจันทร์ หลังจากลงวิกรมลงจอดได้ 2-3 ชั่วโมง

ทางด้าน แมทธิว ไวส์ (Mathieu Weiss) ตัวแทนสำนักงานอวกาศฝรั่งเศส (CNES) ในอินเดีย กล่าวว่า การสำรวจดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะจะเป็นสิ่งที่ตัดสินว่า มนุษย์จะสามารถยืดเวลาสำรวจบนดวงจันทร์ได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีความหมายต่อการใช้ดวงจันทร์เป็นจุดพักระหว่างเดินทางไปดาวอังคาร ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลหลายประเทศ รวมั้งสเปซเอกซ์ (Space X) โครงการอวกาศภาคเอกชนของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ด้วย

แม้ว่าจะขาดการติดต่อกับยานลงจอดวิกรม แต่สำหรับจันทรายาน 2 ยานที่อยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ จะโคจรรอบๆ ดวงจันทร์ต่อไปอีกเป็นปี โดยองคืการวิจัยอวกาศอินเดียระบุว่า ยานโคจรลำนี้ยังอยู่ในสภาพที่ดี ติดต่อได้ ปฏิบัติงานได้อย่างปกติ และอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์อย่างปลอดภัย

ทั้งนายกรัฐมนตรี ดาราบอลลิวูด ตลอดจนสื่อท้องถิ่นของอินเดียต่างให้กำลังใจคนในชาติ โดยผู้นำอินเดียระบุว่า เหตุการณ์นี้อาจชะงักภารกิจอวกาศของอินเดีย แต่ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณของชาติแตกสลาย และอินเดียจะกลับมาใหม่

ส่วน ชาห์ รักห์ คาน (Shah Rukh Khan) นักแสดงบอลลิวูดกล่าวว่า สิ่งสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการได้ทะยานขึ้น และยังมีทั้งความหวังและความเชื่อมากเท่าที่ชาวอินเดียจะมีได้

ขณะที่สื่ออินเดียเปรียบเทียบกับความสำเร็จขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของนาซา 109 ภารกิจตลอดช่วง 60 ปีก่อนนั้น มีภารกิจที่ล้มเหลวถึง 48 ภารกิจ

สำหรับปฏิบัติการจันทรายาน 2 ของอินเดียนี้ ทั้งยานโคจร ยานลงจอดและยานโรเวอร์เกือบทั้งหมดพัฒนาในอินเดีย และใช้งบประมาณพัฒนาทั้งหมดเพียง 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ของนาซาที่ใช้เงินถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 ล้านล้านบาท ในโครงการอะพอลโล (Apollo)

นอกจากนี้อินเดียยังเตรียมพร้อมปฏิบัติการกากันยาน (Gaganyaan) ซึ่งเป็นปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปอวกาศเป็นครั้งแรกของอินเดีย โดยกำหนดเป้าหมายในปี ค.ศ.2022 และอินเดียยังตั้งเป้าส่งยานไปลงจอดดาวอังคารด้วย โดยย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2014 อินเดียเป็นชาติที่ 4 ที่สามารถส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดาวอังคารได้

สำหรับปี ค.ศ.2019 นี้จีนเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานลงจอดและยานโรเวอร์ลงสู่พื้นผิวด้านไกลดวงจันทร์เมื่อเดือน ม.ค. ต่อมาในเดือน เม.ย.อิสราเอลอีกชาติที่พยายามส่งยานไปลงดวงจันทร์ก็ล้มเหลวในนาทีสุดท้ายเมื่อยานอวกาศพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์



จานรับสัญญาณเรดาร์จากการสำรวจท้องฟ้าและดวงจันทร์ที่ตั้งอยู่ด้านหลัง ศูนย์เครือข่ายติดตามและควบคุมระยะไกลขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Manjunath Kiran / AFP)
ไกลาสวาดิวู สิวัน ระหว่างแถลงข่าวก่อนส่งยานลงจอดพื้นผิวดวงจันทร์ (AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น