คอลัมน์นี้ขอแชร์เทคนิคการหาทิศเหนือด้วยการใช้แอปพลิเคชั่น Google Maps เพื่อใช้ดูภาพถ่ายดาวเทียมในการอ้างอิงตำแหน่งทิศเหนือ โดยเทคนิคนี้เกิดจากการที่พวกเราเดินทางไปถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่ประเทศชิลี ซึ่งเป็นประเทศทางซีกโลกใต้ และยังเป็นการตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพปรากฏการณ์บนขาตั้งกล้องแบบตามดาว ในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งวิธีที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้กันในการหาทิศเหนือหรือใต้ ในเวลากลางวันอาจเริ่มจากการใช้เข็มทิศแล้วตั้งกล้องตามดาวแล้วปรับชดเชยด้วยวิธีการทำ Star Drift Alignment โดยเป็นการตั้งเมาส์ของฐานตามดาว ให้ตรงกับขั้วฟ้าเหนือให้มากที่สุด เพื่อใช้สำหรับการถ่ายภาพดาวที่ใช้ระยะเวลาบันทึกภาพนาน ซึ่งวิธีการนี้ค่อนข้างจะใช้เวลานานพอสมควร
สำหรับเทคนิคนี้ ต้องยกเครดิตให้คุณมติพล ที่ช่วยคิดไอเดียการหาทิศด้วยการใช้แอพพลิเคชั่น Google Maps เพื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมในการอ้างอิงทิศได้อย่างแม่นยำ ในระดับที่ยอมรับได้ โดยมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้
ตัวอย่างการหาทิศเหนือจาก แอปพลิเคชัน Google Maps ในสมาร์ทโฟน
จากตัวอย่างการหาทิศเหนือ จากภาพถ่ายดาวเทียม บริเวณหอดูดาวอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (AstroPark) หากสังเกตจากจุดผู้สังเกต ทิศเหนือจะตรงกับบริเวณอาคารที่มี “หลังคาสีแดง” ซึ่งเราสามารถใช้จุดนี้เป็นจุดอ้างอิงในการปรับฐานกล้องให้ชี้ไปในทิศที่ใกล้เคียงกับทิศเหนือได้ในระดับที่ยอมรับได้
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการช่วยหาทิศในเวลากลางคืนได้เช่นกัน ในหลายๆ กรณี เช่น ไม่สามารถมองเห็นดาวเหนือได้ หรือกรณีอยู่ใจกลางเมืองที่รอบตัวเต็มไปด้วยตึก ก็นำมาใช้ได้ดีเช่นกัน
ทำไมวิธีนี้ถึง น่าจะดีกว่าการใช้เข็มทิศ?
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ววิธีนี้มันดีกว่าการใช้เข็มทิศยังไง ขออธิบายง่ายๆ คือ กรณีที่เราใช้เข็มทิศ บริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เราอยู่อาจมีโลหะเป็นสื่อทำให้เข็มทิศคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน และการใช้วัตถุที่อยู่ไกลๆ จากภาพดาวเทียม เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงทิศ หากลองเทียบระยะเชิงมุมดูจะพบว่าหากปรับแนวขาตั้งกล้องไปใกล้เคียงมาก ความเคลื่อนจะน้อยมาก จนสามารถตามวัตถุท้องฟ้าได้นานพอสมควร
ดังนั้น สำหรับบางสถานการณ์ที่เราต้องการความรวดเร็วและไม่พิถีพิถันมากนัก เทคนิคการหาทิศด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำครับ เพราะว่ามีความแม่นยำได้ในระดับที่ยอมรับได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน