xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยเผยปมหญิงโสดวัย 40 ต้องรู้ก่อนเป็นเหยื่อ “พบรักออนไลน์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิจัยเผยปม ‘พิศวาสอาชญากรรม’ หญิงโสด 40 อัพ เหยื่อ “พบรักออนไลน์” ต้องเตือนภัยล่วงหน้าและสร้างความตระหนักรู้ เพราะเสียหายแล้วติดตามคืนได้ยาก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยโครงการวิจัย “ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน” จัดเวทีเสวนา “พิศวาส อาชญากรรม : แนวทางป้องกันและปราบปราม” เมื่อ 26 ส.ค 62 ณ โรงแรมวิคทรี กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันตัวของประชาชนและตระหนักรู้ถึงภัยอาชญากรรมที่มาจากโลกไซเบอร์

ผศ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นักวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย “ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน” เปิดเผยข้อมูลว่า นับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2561 – พฤษภาคม 2562 ประเทศไทยมีผู้ร้องทุกข์จากกรณีพิศวาสอาชญากรรม หรือ การถูกล่อลวงให้โอนเงิน ผ่านการรู้จักและพบรักกันบนสื่อสังคมออนไลน์ จำนวน 332 ราย มีมูลค่าความเสียหาย 193 ล้านบาท

"ผู้ที่ตกเป็นหยื่อมากที่สุดจะเป็นหญิงโสดอายุ 40 - 60 ปี การศึกษาดี หน้าที่การงานมั่นคงและมีฐานะดี โดยหากย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2558 พบเหยื่อที่สูญเสียมากที่สุดคือ 33 ล้านบาท โดยถูกหลอกโอนเงินไปให้คนรักออนไลน์ถึง 26 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและอินสตราแกรม เป็นช่องทางที่ทำให้เหยื่อพบเจอคนร้าย เนื่องจากคนร้ายจะเข้ามาทำความรู้จักเหยื่อ จากการเข้าไปในกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายกันในโลกโซเชียล"

คนร้ายที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ที่ใช้รูปโปรไฟล์ชาวตะวันตก หน้าตาดี การศึกษา และมีหน้าที่การงานมั่นคง เข้ามาทำความรู้จักกับเหยื่อ โดยอาชีพที่ได้รับการแอบอ้าง เพื่อล่อลวงเหยื่อ ก็เช่น วิศวกรบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน นักบิน ทูต

“การสื่อสารในยุคดิจิทัล เอื้อให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่ายด้วยข้อมูลที่แสดงออกในโลกไซเบอร์ ข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกเองนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงให้อาชญากรนำมาเป็นฐานข้อมูลในการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งต่อตัวบุคคลและลดความเชื่อมั่นในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ไม่สามารถป้องปรามการจู่โจม หรือเยียวยาความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิผลโดยเฉพาะอาชญากรข้ามชาติ ดังนั้นการสร้างมาตรการเตือนภัยล่วงหน้าและสร้างความตระหนักรู้ อาจจะเป็นผลดีกว่าการเยียวยาเหยื่อและตามดำเนินดีอาชญากรหลังเกิดความเสียหายแล้ว"

จากคดีที่เกิดขึ้นกับเหยื่อพบรักออนไลน์มีข้อจำกัดในการติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีทางอาญาและชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางทรัพย์สินที่ติดตามได้ยากเนื่องจากมักมีการยักย้ายถ่ายโอนไปยังผู้อื่นนอกประเทศไทย ยิ่งถ้าเป็นเสียหายต่อชีวิตและทางเพศย่อมเป็นการยากที่ชดเชยให้กลับมาคืนสภาพเดิม ผู้ล่อลวงจำนวนมากปฏิบัติการจากต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มความลำบากให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ต้องผสานความร่วมมือไปยังประเทศเจ้าของอำนาจให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือยึดทรัพย์สินกลับมาชดเชยความเสียหายให้กับเหยื่อ

"ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในสังคม จึงเป็นแนวทางการป้องกันเบื้องต้นที่สำคัญในการแก้ปัญหานี้” ผศ.ทศพล กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น