xs
xsm
sm
md
lg

สามสหัสวรรษในการเดินทางของกลิ่นมดยอบและกำยาน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ถาดเครื่องหอมที่มีมดยอบและกำยาน (https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Blessing_of_Chalk,_Frankincense_and_Myrrh_during_the_Mass_Liturgy_of_the_Epiphany,_in_Poland.JPG)
เมื่อ 1512 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระราชินี Hatchepsut แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณได้ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย Thutmose ที่ 2 ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดากับพระนาง ครั้นเมื่อฟาโรห์ Thutmose ที่ 2 เสด็จสวรรคต Hatchepsut ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน และเพื่อให้ประชาชนเลื่อมใส และศรัทธาพระนางได้ทรงสวมพระทาฐิกะ (เครา) ปลอม เพื่อให้ดูเป็นฟาโรห์ผู้ชายและทรงโปรดให้เจ้าชาย Nehasi เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชนต่างชาติ เช่น ชาว Punt (ที่อาศัยอยู่ในประเทศ Somalia ในปัจจุบัน) เมื่อขบวนท่านราชทูตเดินทางกลับถึงอียิปต์ ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ทูตได้นำอัญมณี ทองคำ งาช้าง และลิงบาบูนกลับมาด้วย แต่สิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือต้นมดยอบ (myrrh) 31 ต้น ซึ่งยางของไม้ชนิดนี้เวลาถูกนำไปเผาจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ว ฟาโรห์ Hatchepsut จึงทรงโปรดให้นำต้นมดยอบทั้ง 31 ต้นไปปลูกรายรอบวิหาร Amon ในเมือง Thebes และทรงโปรดให้ช่างแกะสลักบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ลงบนกำแพงของมหาวิหาร Hatchepsut ซึ่งยังปรากฏให้โลกเห็นจนทุกวันนี้

การดำรงชีวิตของชนชั้นสูงในสมัยโบราณนั้นเวลาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มักนิยมเผาสารหอม เช่น กำยาน (frankincense) และมดยอบ เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมไปทั่วศาสนสถาน เพราะเชื่อว่ากลิ่นหอมมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงนิยมดื่มน้ำที่มีกลิ่นหอมของดอกไม้ หรือซักผ้าด้วยน้ำที่ปรุงแต่งด้วยกลิ่นหอม ในพิธีศีลจุ่ม (baptism) และเวลากษัตริย์องค์ใหม่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็มีราชพิธีสรงพระวรกายด้วยน้ำที่มีกลิ่นหอมเช่นกัน ในโบสถ์ของชาวคริสต์นิกายโรมันแคทอลิกก็มีการเผากำยานหรือมดยอบ โดยพระนักบวชจะตักสารหอมโรยบนถ่านไฟในเต้าที่มีโซ่คล้องแขวนกับขาตั้ง แล้วเดินไปในโบสถ์พร้อมกันนั้นก็แกว่งเต้าไปมาตลอดทาง และในเวลาเดียวกันบรรดาคริสต์ศาสนิกชนก็อธิษฐานเพื่อให้พระเจ้าที่สถิตอยู่เบื้องบนทรงทราบคำขอที่ได้ลอยขึ้นตามควันกำยานด้วย

ในช่วงเวลาที่พระเยซูประสูติก็มีปราชญ์ 3 คนได้เดินทางจากกรุง Babylon มาเข้าเฝ้าเพื่อถวายของขวัญ 3 ชิ้น อันได้แก่ ทองคำ (แทนกษัตริย์) มดยอบ (แทนมวลมนุษย์) และกำยาน (แทนพระผู้เป็นเจ้า) เพื่อน้อมคารวะต่อทารกเยซู

ขาว Hebrew ในดินแดน Palestine นิยมใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันมะกอก อบเชย และมดยอบในการบูชาพระเจ้า

ในกฎมณเทียรบาลของไทยโบราณเวลาจะสำเร็จโทษเจ้านายชั้นสูงหรือเชื้อพระวงศ์ เพชรฆาตจะนำถุงแดงคลุมตัวนักโทษ แล้วทุบด้วยสากตำข้าวที่ทำจากไม้จันทน์หอม

ตำราอายุรเวชของชาวอินเดียมีกรรมวิธีรักษาโรคแบบสุคนธ์บำบัดด้วยกลิ่นกุหลาบ ขิง ผักชี รวมถึงไม้จันทน์ ซึ่งเป็นไม้หอมที่หายากและมีราคาแพง และนิยมใช้ดอกไม้จันทน์สำหรับเผาศพบุคคลสำคัญ

เมื่อกลิ่นหอมทำให้ผู้คนที่สูดดมรู้สึกดี และมีสรรพคุณในการรักษาไข้ได้ด้วย การซื้อขายสารหอมจึงแพร่หลายไปทั่วโลก มีผลทำให้ผู้คนพยายามเดินทางไกลไปทุกภูมิภาคของโลก เพื่อแสวงหาสารหอมมาซื้อ-ขายกัน บ้างก็นำต้นพืชที่ให้สารหอมมาปลูกเพื่อจะได้ทำอุตสาหกรรมสารหอมที่เป็นของตนเอง บางคนได้พยายามดัดแปลงสายพันธุ์เพื่อให้สารหอมมีกลิ่นดีขึ้น และขายได้ในราคาสูง ดินแดนตะวันออกกลางได้มีตลาดค้าสารหอมกันมานานหลายพันปีแล้ว เช่น ได้ค้าขายยางไม้หอม (กำยาน มดยอบ) กับพ่อค้าชาว Phoenician และชาว Arabia ได้ซื้อขายการบูรกับพ่อค้าชาวจีน และแลกเปลี่ยนอบเชยกับพ่อค้าชาวอินเดีย เป็นต้น

เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อนหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์อาหรับได้พัฒนาระบบกลั่นของเหลวมีผล ทำให้ได้สารหอมที่มีกลิ่นหอมเข้มข้นยิ่งขึ้น นักเทคโนโลยีชาวยุโรปก็ได้นำเทคนิคใหม่นี้ไปผลิตน้ำหอมเพื่อขายในปริมาณมากให้พ่อค้าชาว Venice ในอิตาลีนำน้ำหอมไปถวายกษัตริย์ และขายให้ชนชั้นสูงในยุโรปต่อไป ครั้นเมื่อ Vasco da Gama พบเส้นทางเดินเรือจากยุโรปถึงอินเดีย บรรดาสินค้าสารหอม (อบเชย การบูร ลูกจันทน์ ก้านพลู และยางไม้หอม) ก็ถูกนำขึ้นเรือจากเอเซียไปยุโรปเพื่อผลิตและขายให้คนที่มีฐานะดีใช้ เพราะสินค้าที่ผลิตจากสารหอมมีราคาแพง อีกทั้งคนที่ซื้อก็เชื่อว่า สารหอมสามารถปกป้องและรักษาโรคได้ด้วย เช่น เวลาผู้พิพากษาชาวอังกฤษจะว่าความ ท่านจะถือช่อดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมเดินเข้าไปในศาล เพื่อไม่ให้ตนล้มป่วยจากการได้กลิ่นตัวของนักโทษที่ตนจะต้องตัดสินคดี

แต่เมื่อถึงวันนี้ คนทั่วไปนิยมใช้น้ำหอมแทนสารหอมแล้ว และได้ค้นคว้าหาความจริงเกี่ยวกับที่มาของความหอมและสรรพคุณของสารหอม เช่น มดยอบ และกำยานจนพบว่า Herodotus เมื่อ 450 ปีก่อนคริสตกาลได้เคยกล่าวถึงแพทย์อียิปต์ กรีก โรมัน และเปอร์เซียนิยมใช้มดยอบในการทำความสะอาดแผล ซึ่งการทดสอบสมบัติของมดยอบในห้องปฏิบัติการปัจจุบัน ได้ผลว่า มดยอบมีสมบัติการเป็นยาปฏิชีวนะ สามารถลดอาการอักเสบในปอด และความอึดอัดของอาการโรคหอบหืด และสามารถลดความเจ็บปวดได้ด้วย นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ Mary Magdelen ได้ถวายมดยอบแด่พระเยซูก่อนถูกนำตัวขึ้นตรึงบนไม้กางเขน การทดสอบของแพทย์ในอินเดียก็ได้แสดงให้เห็นว่า มดยอบมีสาร gugulsterone ที่สามารถลดระดับ cholesterol ในเลือด และป้องกันโรคหัวใจ รวมถึงโรคเส้นเลือดอุดตันได้ด้วย การทดลองโดยแพทย์ชื่อ Guido Majno เมื่อ 40 ปีก่อนได้แสดงว่า มดยอบสามารถฆ่าแบคทีเรีย Staphylococus ได้ในทำนองเดียวกับกำยาน ดังนั้นของขวัญที่ปราชญ์ 3 คนนำไปถวายพระเยซู Joseph และ Mary เมื่อ 2,000 ปีก่อนจึงมิใช่เพื่อให้ดับกลิ่นสาบในโรงนา อันเป็นสถานที่ๆ พระเยซูประสูติ แต่ให้เป็นพระโอสถเพื่อรักษาโรคด้วย

ความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมดยอบ คือเป็นยางไม้ที่ได้มาจากพืชในสกุล Commiphora ในวงศ์ Burseraceae ลำต้นมีหนาม ซึ่งเวลาถูกกรีด น้ำยางจะไหลเอ่อออกมา แล้วแข็งตัว การกรีดทุกครั้งจะทำให้ยางไหลออกมา ยางมีสีเหลือง ในระยะแรกจะใส แต่จะทึบแสงเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ

ประเทศ Somalia, Oman, Eritrea ใน Ethiopia เป็นถิ่นที่มีการปลูกต้นมดยอบมาก โดยชาวบ้านจะเก็บยางมดยอบ เมื่อได้ในปริมาณมากก็จะลำเลียงด้วยลาและอูฐไปขายให้ชาวเมืองใช้ในพิธีทางศาสนาใช้เป็นยาบ้วนปาก ลดกลิ่นปาก ใช้ทาแผลในปาก และใช้ทำความสะอาดแผล ในยุคที่โลกยังไม่มี formaline ผู้คนยังใช้มดยอบดับกลิ่นศพด้วย

กำยานเป็นยางไม้ที่ได้มาจากต้นไม้สกุล Boswellia ส่วนมดยอบมาจากต้นไม้สกุล Commiphora พืชทั้งสองสกุลนี้มีวงศ์ร่วมกัน และชอบขึ้นในคาบสมุทร Arabia อินเดีย และแอฟริกา ส่วนที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งกำยานและมดยอบได้รับการยอมรับว่าเป็นของสูงที่มีค่ามากเท่ากับทองคำที่น้ำหนักเท่ากันจึงเหมาะสำหรับการเป็นของขวัญที่จะทูลถวายกษัตริย์

ต้นกำยานและต้นมดยอบเป็นต้นไม้ที่มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร มีใบน้อย จึงดูแคระเสมือนเป็นต้นไม้ที่ใกล้ตาย ลำต้นมีหนามเต็ม เวลาชาวบ้านจะเก็บยางไม้เขาจะกรีดลำต้นให้เป็นแผล ซึ่งจะทำให้ยางไม้ไหลออกมา ในเบื้องต้นยางจะมีสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม ครั้นเมื่อถูกแสงแดดและสัมผัสอากาศ หยดยางมดยอบขนาดเท่าเมล็ดถั่วจะแห้งและแข็งตัว จากนั้นสีขาวก็จะกลายเป็นน้ำตาลแดง ส่วนหยดยางกำยานมีสีเหลืองซีด

ชาวโรมันโบราณใช้ควันกำยานในการทำให้บ้านที่อาศัยมีกลิ่นหอม ส่วนชาวอียิปต์โบราณและคริสต์ศาสนิกชนยุคปัจจุบันก็ใช้กำยานในพิธีศาสนา และใช้ในการรักษาแผลที่เกิดจากการถูกวางยาพิษ ท้องร่วง และโรคเรื้อน

นักเคมีได้วิเคราะห์องค์ประกอบของกำยานและพบสารประกอบจำนวนกว่า 110 ชนิด เช่น monoferpenes, sesquiterpenes, monoterpenoids, sesquiterpenoids และ Ketones น้ำมันที่มีสารประกอบเหล่านี้ระเหยง่าย ดังนั้น จึงนิยมใช้ทำน้ำมันหอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีกรด beta-boswellic ในกำยานทำให้มันมีกลิ่นหอมจัด

กลิ่นแรงของมดยอบเกิดจากโมเลกุล furanocudesma -1, 3 diene มดยอบมีรสขม นิยมใช้ตกแต่งบาดแผล ปัจจุบันใช้รักษาและป้องกันโรคเหงือก รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบของยาสีฟัน และใช้ในน้ำยาบ้วนปาก และปนในเหล้าองุ่น

ณ วันนี้ กำยานและมดยอบไม่เป็นที่นิยมมากเหมือนในอดีต แต่ใช้ผสมในน้ำหอมบ้าง ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพในการรักษาโรคก็มีการทดสอบใช้กำยานรักษาคนที่เป็นโรคหอบหืด และโรคไขข้ออักเสบ ฯลฯ ส่วนมดยอบนั้นก็มีการใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะ และกำจัดปรสิต และถ้าใช้สารทั้งสองร่วมกันก็สามารถฆ่าแบคทีเรียได้

ในขณะที่กำยานเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ Oman, Dhofar และ Yemen การเพาะปลูกและทำสวนกำยานก็กำลังสร้างปัญหาให้กับการอนุรักษ์เสือดาวในพื้นที่ เพราะปัจจุบันป่าในดินแดนนี้มีเสือดาว Arabian เพียง 200 ตัว จึงเป็นสัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะถูกมนุษย์บุกรุกรานป่าที่มันอาศัย กล้องถ่ายภาพเสือแสดงให้เห็นว่า เสือกำลังล่าถอยจากถิ่นที่เคยอยู่ เข้าไปในส่วนลึกของป่า เพราะที่บริเวณชายป่าได้ถูกชาวบ้านใช้ในการปลูกต้นกำยาน

การรบกวนเสือดาว และการล่าเหยื่อของเสือดาวอันได้แก่ แพะ ibex และกวาง gazelle ได้ทำให้เสือหาอาหารยากขึ้นทุกวัน มันจึงล่าอูฐแทน ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะอูฐเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญ การถ่ายภาพแสดงให้เห็นว่าเฉพาะใน Oman มีเสือเหลืออยู่เพียง 44-58 ตัวเท่านั้นเอง

ประชากรเสือที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ทำให้มันไม่มีตัวเลือกมากในการจับคู่ การผสมพันธุ์กันระหว่างเครือญาติจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด Oman จึงต้องเลือกระหว่างกำยานกับเสือ

อ่านเพิ่มเติมจาก Encyclopedia of Islamic Herbal Medicine โดย J.A. Morrow จัดพิมพ์โดย McFarland ปี 2011

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น