“ป่าอเมซอน” เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญของโลก และเป็นป่าฝนขนาดใหญ่ที่สุดที่กินพื้นที่ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร และผลิตออกซิเจนมากถึง 20% แต่กำลังถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงไฟป่าซึ่งตอนนี้กำลังเผาไหม้นานกว่าสิบวันแล้ว
เป็นเขตรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ลุ่มน้ำอเมซอนกินพื้นที่ 7.4 ล้านตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 40% ละตินอเมริกา และยังมีอาณาเขตรวม 9 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาเม และเวเนซูเอลา แต่ 60% ของพื้นที่ลุ่มน้ำอเมซอนอยู่ในบราซิล
ส่วนป่าอเมซอนซึ่งมีพื้นที่พิทักษ์รักษา 2.1 ล้านตารางกิโลเมตร ยังเป็นแหล่งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่มีลักษณะเฉพาะแห่งเดียวของโลก โดย 1 ใน 4 ของสปีชีส์ต่างๆ บนโลกนั้นรวมอยู่ที่ป่าอเมซอน
เอเอฟพีอ้างอิงข้อมูลองค์การสนธิสัญญาปกป้องอเมซอน (Amazon Cooperation Treaty Organization: ACTO) ระบุว่า มีพืชที่ได้รับการจำแนกราวๆ 30,000 ชนิด ปลา 2,500 ชนิด นก 1,500 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 500 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 550 ชนิด และแมลงอีก 2.5 ล้านชนิด และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ทั้งพืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังได้รับการค้นพบอีกประมาณ 2,200 ชนิด
ปอดของโลก
ลุ่มน้ำอเมซอนครองพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของโลก และแม่น้ำอเมซอนกับแม่น้ำสายย่อยของอเมซอนยังเป็นแหล่งน้ำจืดของโลกที่ไม่ถูกแช่แข็งถึง 20% โดยแม่น้ำอเมซอนถือเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และอ้างตามงานวิจัยล่าสุดที่เผยออกมาเมื่อปี ค.ศ.2007 แม่น้ำอเมซอนยังเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก โดยทอดยาวถึง 6,900 กิโลเมตร
ป่าอเมซอนทำหน้าที่เหมือนเป็นอ่างดูดซับคาร์บอน โดยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณออกซิเจนที่ปล่อยออกมา และยังกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 9 หมื่นล้านตัน ถึง 1.4 แสนล้านตัน ซึ่งช่วยควบคุมภาวะโลกร้อนทั่วโลก อ้างอิงตามกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund: WWF) แต่การถากป่านั้นไปลดความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
บ้านของชนพื้นเมือง 420 เผ่า
มนุษย์เข้าไปอาศัยในลุ่มน้ำอเมซอนอย่างน้อย 11,000 ปีมาแล้ว และทุกวันนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 34 ล้านคน ในจำนวนนั้น 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในเมือง และมีอีกประมาณ 3 ล้านคนที่เป็นชนเผ่าอิสระ โดยคนเหล่านั้นเป็นสมาชิกของชนเผ่าต่างๆ 420 เผ่า ในจำนวนดังกล่าวมี 60 เผ่าที่แยกตัวอย่างเป็นอิสระ ซึ่งชนเผ่าในลุ่มน้ำอเมซอนนั้นพูดได้ 86 ภาษา และภาษาถิ่นอีก 650 ภาษา
ข้อมูลจากเซอร์ไววัลอินเตอร์เนชันนัล (Survival International) องค์กรพิทักษ์ชนเผ่า ระบุว่าชนเผ่ากลุ่มใหญ่ที่สุดในอเมซอนคือเผ่าทิกูนา (Tikuna) โดยมีสมาชิก 40,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในบราซิล เปรู โคลอมเบีย
ทั้งนี้ ราโอนิ เมตุกไทร์ (Raoni Metuktire) หัวหน้าตัวแทนชนเผ่าบราซิลจากเผ่าคายาโป (Kayapo tribe) เป็นหัวหอกในการรณรงค์ต่อต้านการทำลายป่าในอเมซอน และยังเดินทางไปทั่วโลกตลอด 3 ทศวรรษ เพื่อเรียกร้องในการรักษาผืนป่าและประชากรชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า
ป่าถูกถางทำลายอย่างมโหฬาร
ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ป่าอเมซอนถูกทำลายจนสูญสิ้นไปแล้วเกือบ 20% และอัตราการสูญเสียนี้ยังคงเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่ง โดยนับแต่ ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ประธานาธิบดีของบราซิลขึ้นมามีอำนาจ เมื่อต้นปี ค.ศ.2019 อัตราการตัดไม้ทำลายป่าก็เพิ่มสูงขึ้น โดยนับถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีการทำลายป่ารวมแล้วมากกว่าปีที่ผ่านมาทั้งปี
สถาบันเพื่อการวิจัยอวกาศแห่งบราซิล (National Institute for Space Research: INPE) ได้ใช้ระบบดาวเทียมดีเตอร์ (DETER) ตรวจการทำลายป่าและพบว่า นับถึงเดือน ก.ค.ปีนี้ มีพื้นที่ป่าฝนของป่าอเมซอนถูกตัดทำลายอย่างราบคาบประมาณ 2,254 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นปริมาณป่าที่ถูกทำลายมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 278%
ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการทำลายป่าคือการนำพื้นที่ไปปลูกถั่วเหลืองและเลี้ยงปศุสัตว์ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และสร้างถนน ตลอดจนการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมทั้งไฟป่า ซึ่งนอกจากความรุ่มรวยด้านความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ป่าอเมซอนยังอุดมไปด้วยแหล่งทรัพยากรแร่ ทั้งทองคำ ทองแดง แทนทาลัม แร่เหล็ก นิกเกิลและแมงกานีส
ตอนนี้พื้นที่ป่าอเมซอนกำลังถูกกัดกินจากไฟป่า โดย INPE เผยข้อมูลว่านับจากเดือน ม.ค.-ส.ค.มีไฟป่าในบราซิลเกือบ 73,000 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดนับแต่ปี ค.ศ.2013 และส่วนใหญ่ไฟป่านั้นเกิดขึ้นในอเมซอน ขณะที่ปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมา เกิดไฟป่าประมาณ 39,759 ครั้ง
ปกติแล้วการเกิดไฟป่าในแถบอเมซอนนั้นเกิดขึ้นได้ค่อนยาก เพราะสภาพอากาศที่เปียกชื้นจะป้องกันการเกิดไฟป่าและการรุกลาม ทว่าในช่วงเดือน ก.ค.และ ส.ค. ของทุกปีปริมาณไฟป่าก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากฤดูแล้งที่กำลังเข้ามา อีกทั้งประชาชนจำนวนมากยังใช้ไฟเพื่อบริหารจัดการพื้นที่เกษตรของตัวเอง และกิจกรรมดังกล่าวจะพุ่งสูงในช่วงต้นเดือน ก.ย.และมักจะสิ้นสุดในเดือน พ.ย.