มองมุมกลับ ปรับมุมมอง แก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน แนะ 4 วิธีลดขยะพลาสติก
งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ‘พลิกวิกฤติขยะพลาสติกสู่ทางออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ได้รับเกียรติจากบุคลากรผู้มีชื่อเสียงในวงการอุตสาหกรรมและการรีไซเคิลหลายท่าน ร่วมกันคิดวิเคราะห์สถานการณ์และร่วมกันคิดหาทางออกให้กับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องของพลาสติกประเภทต่างๆ ข้อดี-ข้อเสีย ความเหมาะสมในการใช้งานและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยพลิกโฉมจากประเทศไทย จากประเทศที่สร้างขยะอันดับต้นๆ ของโลก มาเป็นประเทศต้นแบบในการสร้างไอเดียนวัตกรรมใหม่จากขยะพลาสติก
โดย คลอเดีย อังเจลส์ (Claudia Anghels) ผู้ก่อตั้ง Waveone ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพื่อเน้นย้ำให้ประเทศไทยรับทราบปัญหาให้ถูกจุดเสียก่อน อย่ามองพลาสติกว่ามีแต่โทษเท่านั้น ตัวอย่าง เช่น ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังระดับโลกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งในอดีตได้ใช้พลาสติกในการบรรจุอาหารให้กับผู้บริโภค ก่อให้เกิดความไม่สบายใจถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนมีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน แบรนด์สินค้านี้จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกเป็นกระดาษ ช่วยลดกระแสต่อต้านและร้องเรียนให้ลดลง แต่ในทางกลับกัน การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นกระดาษของแบรนด์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาปริมาณขยะกระดาษมากขึ้นแทน ทั้งที่จากเดิมพลาสติกที่แบรนด์นี้ใช้นั้นเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้
"หากเราเรียนรู้เรื่องวัสดุพลาสติกนั้นด้วยความเข้าใจแล้ว แทนที่จะคิดเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ตามกระแสสังคม ทุกแบรนด์ควรคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ในแง่ของการลดปัญหาขยะประเภทพลาสติกมากกว่า เพื่อส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด"
ในความเป็นจริง ‘พลาสติก’ นั้นมีประโยชน์ในทุกวงการโดยเฉพาะทางการแพทย์ แต่เราควรรู้ว่าจุดไหนควรใช้แบบใดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านขยะตามมา โดยแท้ที่จริงแล้ว พลาสติกที่ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตัวจริงนั้น คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use) ที่เราสมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อย่างเร่งด่วน
ในส่วนของการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล สัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติก วิทยากรได้แสดงภาพของชายหาดในประเทศต่างๆ อันเต็มไปด้วยขยะซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา
วิทยากรชี้แจงว่าน้ำทะเลอาจพัดพาขยะไปเกยตื้นตามหาดต่างๆ อาจห่างจากจุดเดิมหลายร้อยกิโลเมตร ปัญหาขยะพลาสติกทางทะเล จึงไม่ใช่แค่ปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมาโทษกัน ขวดน้ำพลาสติกแบรนด์เดียวกันสามารถหาซื้อที่ซุเปอร์มาร์เก็ตร้านไหนก็ได้ และสร้างขยะจากจุดไหนบนโลกก็ได้เช่นกัน
ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้เพียงครั้งเดียว วิทยากรได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเสพย์ติดการใช้พลาสติก เพราะมันทั้งสะดวก ใช้ง่าย และสะอาด แต่ความฉาบฉวยในการใช้แบบครั้งเดียวนั้นเอง ที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเป็นปัญหาระดับโลกตามมา
ในอีก 2 ปีข้างหน้า กฎหมายสิ่งแวดล้อมของโลกที่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นอีก ประเทศที่ยังล่าช้าหรือไม่จัดการเรื่องปัญหาขยะพลาสติก อาจจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้คือสิ่งที่ประเทศไทยเอง ควรตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง
จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยปรับตัวได้ถูกจุด กับการลดการสร้างปัญหาขยะพลาสติก?
ปาสคาล เรเนาด์ (Pascal Renaud) วิทยากรจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้นำเสนอถึงวิธีการจัดการและต่อยอดด้วยนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์จากโครงงานวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1. พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากธรรมชาติ เช่น ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ ใบตอง ผักตบชวา หลอดจากไม้ไผ่ ซึ่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์เองก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย ซึ่งอาจเกิดเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่เฟื่องฟู เพราะประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งที่มีวัสดุจากธรรมชาติที่หลากหลายประเทศหนึ่งในโลก
2. Say No to Plastic Bag ไม่ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ พลาสติกในรูปแบบอื่นๆ ที่เป็น Single use รวมถึงการไม่แจกจ่ายพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแบบฟรีๆ
3. ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย วิทยากรได้ยกตัวอย่าง หลอดยาสีฟันที่ใช้พลาสติกแบบใช้หมดแล้วเราก็ทิ้งเป็นขยะ แต่มีนวัตกรรมที่เด็กไทยเป็นผู้คิดค้น คือ ยาสีฟันแบบเม็ดเหมือนลูกอม ที่เราเพียงแค่อมหรือเคี้ยวฟันก็สะอาด ทำให้ลดการใช้พลาสติกไปได้อย่างมาก
4. การนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแยกขยะแล้วนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลเท่านั้น แต่เป็นการที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันตั้งแต่ต้นทาง วิทยากรได้ยกตัวอย่าง ขวดน้ำพลาสติกจากประเทศเยอรมนีเปรียบเทียบกับของประเทศไทย ซึ่งขวดน้ำของประเทศเยอรมนีมีความเหนียว ความทนทาน แข็งแรงมากกว่า ซึ่งภาครัฐได้รับซื้อคืน
เมื่อประชาชนจ่ายราคาซื้อน้ำ 1 ขวด ประชาชนจะจ่ายแต่ราคาของผลิตภัณฑ์ภายใน ส่วนบรรจุภัณฑ์นั้น บริษัทที่เป็นต้นทางต้องรับซื้อคืนและนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ทั้งนี้การรับซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกคืน จะช่วยในเรื่องจิตสำนึกการแยกขยะของประชาชน และลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย
การพลิกวิกฤติในครั้งนี้หากพวกเราทุกคนร่วมมือกัน อาจเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้กลายมาเป็นผู้นำของโลกก็ได้ ของมันมีอยู่แล้ว เหลือแค่ไอเดีย