ในขณะที่เราเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำ โลกก็ต้องเย็นด้วย ซึ่งเทรนด์ต่อไปในอนาคตของเครื่องปรับอากาศคือการใช้สารทำความเย็นที่ไม่ส่งเสริมภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมคือการดูแลการใช้สารทำความเย็นที่มีความเสี่ยงติดไฟง่ายอย่างปลอดภัยด้วย
รศ.ดร.ฉัตรชาญ ทองจับ หัวหน้าโครงการ สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ (RAET) วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) อธิบายให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า ปกติสารทำความเย็นจะเป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งมีสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศและมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) สูง
เดิมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทยจะใช้ R22 เป็นสารทำความเย็น แต่มีกฎหมายให้เลิกผลิตไปเมื่อปี พ.ศ.2560 และเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ จะใช้สารทำความเย็น 2 ชนิด คือ R410A และ R32 ซึ่งช่างแอร์ต้องพัฒนาความรู้เพิ่มเติม เช่น เพิ่มเติมความรู้เรื่องความดันในการเติมสารทำเย็น เนื่องจากชนิดสารทำความเย็นที่เปลี่ยนไป ความดันที่ใช้ในระบบทำความเย็นก็เปลี่ยนไปด้วย
ทว่า R410A และ R32 ต่างมีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูง โดยค่า GWP ของ R410A มีค่าประมาณ 2,000 และค่า GWP ของ R32 มีค่าประมาณ 600 ขณะที่สารทำความเย็นธรรมชาติหรือ "Green Cooling” ชนิด R290 สำหรับใช้ในเครื่องปรับอากาศ และเป็นสารทำความเย็นที่จะมีการส่งเสริมให้ใช้มากขึ้นในอนาคตนั้นมีค่า GWP ประมาณ 3 และR290 ยังสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25 และมีคุณสมบัติการถ่ายเทความร้อนที่ดีเยี่ยม
“การใช้สารทำความเย็นชนิดเดิมจะผลักภาระไปที่โลก” รศ.ดร.ฉัตรชาญกล่าว แต่ระบุข้อเสียของ R290 สารทำความเย็นที่ได้จากปิโตรเลียมว่า สามารถติดไฟได้ง่าย อย่างไรก็ตามสารทำความเย็นแบบสารสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ ก็สามารถติดไฟได้เช่นกัน เพียงแต่มีความสามารถในการติดไฟต่ำกว่าสารทำความเย็นธรรมชาติ อีกทั้งสารทำความ R410A จะถูกห้ามใช้ในปี พ.ศ.2563
เมื่อภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลกและแนวโน้มบ้านเรือนต่าง จะใช้เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนอย่างไทยที่มีอากาศร้อนขึ้นทุกปี ทางออกจึงเป็นการเลือกใช้สารทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนต่ำ และหันมาให้ความรู้แก่ช่างซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้สามารถใช้งานสารทำความเย็นธรรมชาติที่สามารถติดไฟได้แทน
ทั้งนี้ มจพ. พร้อมด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จึงได้ร่วมเปิดตัวการอบรม ”การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย” ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.เพื่อฝึกอบรมช่างให้เข้าใจเกี่ยวกับการใช้และติดตั้งสารทำความเย็นธรรมชาติในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอย่างถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การลดการใช้พลังงานและลดภาวะโลกร้อน
การฝึกอบรม “การจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ ภารกิจของโครงการฯ คือ การสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
การจัดหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าว เพื่อให้ผู้ฝึกอบรมหันมาใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยสาขาวิชา RAET จะให้ความรู้และเทคนิคด้านการใช้งานของสารทำความเย็นธรรมชาติที่ปลอดภัย นอกจากนี้ มจพ. ยังได้รับเงินทุนจากกองทุนโครงการ RAC NAMA ที่บริหารโดย กฟผ. มาสนับสนุนอุปกรณ์การฝึกอบรมสำหรับจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม ขณะที่ GIZ จะสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
รศ.ดร.ฉัตรชาญกล่าวว่า การอบรมดังกล่าวจะเน้นการฝึก “ครูช่าง” เพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ช่างอื่นๆ ต่อไป โดยแบ่งครูเป็น 3 ระดับ คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยสำหรับฝึกวิศวกร ครูอาชีวะสำหรับฝึกช่างและผู้ทำงาน และสุดท้ายคือถ่ายแก่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยจะฝึกอบรมรุ่นละ 16 คน ตามจำนวนความพร้อมของอุปกรณ์ในการฝึกอบรม ซึ่งมีการฝึกอบรมครูช่างรุ่นแรกในเดือน ส.ค.62 ณ ห้องปฏิบัติการสาขาวิชา RAET มจพ.
“ในการอบรมภาคทฤษฎี ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็นชนิดต่างๆ วัฏจักรระบบทําความเย็น ทฤษฎีการเชื่อม รวมไปถึงความเสี่ยงและข้อควรระวังเกี่ยวกับความปลอดภัยในการดำเนินงาน และฝึกปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การติดตั้ง งานเชื่อม การใช้งาน การตรวจสอบการรั่ว การติดฉลาก การรายงาน และการส่งมอบงาน รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการใช้เครื่องมืออย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในต่างประเทศ และการประยุกต์ใช้กับเครื่องมือที่หาได้ในประเทศไทยอีกด้วย” รศ.ดร.ฉัตรชาญกล่าว
นอกจากนี้ GIZ และ มจพ.ยังร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นที่แรก และตามด้วยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 2 สุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 10 ลำปาง วิทยาลัยเทคนิคยโสธร วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์ และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 17 ระยอง