xs
xsm
sm
md
lg

อว.จัดพิธีถวายราชสักการะ “ร.4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อว.จัดพิธีถวายราชสักการะ “ร.4 พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เนื่องใน “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 18 สิงหาคม”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีวางพุ่มดอกไม้ ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 เนื่องในโอกาส “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในการวางพุ่มดอกไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พุ่มดอกไม้ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพุ่มดอกไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีคณะผู้บริหาร อว. และผู้เข้าร่วมพิธีฯ ร่วมต้อนรับผู้แทนพระองค์ ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซอยโยธี กรุงเทพฯ

ในโอกาส “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” คณะผู้บริหาร อว. นำโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. ได้ร่วมวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

วิทยาศาสตร์ คือ ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวย ความสะดวกต่างๆ ที่ถูกพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำให้วิทยาศาสตร์ยิ่งมีความสำคัญและมีบทบาทในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น โดยในอดีตมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ค้นพบสิ่งต่างๆ ผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ในการคำนวณคาดการณ์ล่วงหน้า

เฉกเช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี ว่าจะเกิดสุริยุปราคา ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งสุริยุปราคาก็ได้เกิดขึ้นจริงตรงตามวันที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ ณ ตอนนั้นพระองค์ทรงถอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคา อยู่ที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับคณะสำรวจทั้งจากฝรั่งเศส อังกฤษ และสิงคโปร์ จากเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
นอกจากนี้ ทาง อว. ยังได้จัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562” กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แนวคิดหลัก “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” กับนโยบาย “วิทย์สร้างคนสร้างแรงบันดาลใจ กับ 1 ล้านเยาวชนไทย” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 25 สิงหาคม 2562 ณ อาคาร 6 - 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำหรับปีนี้ มีนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากถึง 17 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร กว่า 102 องค์กร ร่วมโชว์ผลงานและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 9 ไฮไลท์สร้างแรงบันดาลใจ เช่น นิทรรศการภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เพื่อร่วมฉลอง 50 ปีกับก้าวแรกบนดวงจันทร์ของมนุษย์ พลาดไม่ได้กับความลับของดวงจันทร์ เรียนรู้ผ่านการจำลองสถานการณ์จริงกับประสบการณ์ 4 มิติ และ การจำลองสถานการณ์ภาวะไร้น้ำหนัก MOON WALK

สัมผัสผลงานอันน่าทึ่งของนักประดิษฐ์ที่มีแนวคิดก้าวล้ำเกินยุค ในนิทรรศการ นิโคลา เทสลา: ยอดนักประดิษฐ์ผู้คิดเปลี่ยนโลก, ร่วมฉลองปีสากลแห่งตารางธาตุกับนิทรรศการมหัศจรรย์ เมืองแห่งธาตุ

เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพในนิทรรศการพินิจ พิพิธ-พันธุ์ ที่ถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียน นิทรรศการที่จะนำพาทุกท่านไปรู้จักเรื่องราวของความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งของประเทศไทยและของโลก ผ่านการนำเสนอในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่มีการจัดเก็บความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบของตัวอย่างดอง ตัวอย่างแห้ง และสัตว์สตัฟฟ์ มากกว่า 1,000 ตัวอย่าง

จากพลาสติกสารพัดประโยชน์..ทำไมจึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม มาร่วมค้นหาผู้ร้ายตัวจริงได้ในนิทรรศการพลาสติกพลิกโลก และ ครั้งแรกกับการเปิดตัวกิจกรรมต้นแบบ Spike Prime ด้าน STEAM Education ครั้งแรกในเมืองไทยกับนิทรรศการ LEGO Space Challenge Land

งานนี้เข้าชมฟรี ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงาน ได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (@thailandnstfair) หรือสอบถามข้อมูลที่

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทร. 0 2577 9960






กำลังโหลดความคิดเห็น