xs
xsm
sm
md
lg

ปส.โชว์ศักยภาพไทยพร้อมเฝ้าระวังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปส. นำบอร์ดนิวเคลียร์ เยือนสถานีตรวจ RN65 โชว์ศักยภาพไทยพร้อมเฝ้าระวังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) นำคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และคณะอนุกรรมการ กว่า 30 คน เยี่ยมชมความพร้อมเฝ้าระวังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (RN65) เมื่อ 15 สิงหาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หวังผลักดันภารกิจด้านการเฝ้าตรวจการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้สนธิสัญญา CTBT ให้เกิดนโยบายการพัฒนาความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT: Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) โดยได้รับการสนับสนุน รวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากคณะกรรมการดังกล่าว ที่ร่วมทุ่มเทผลักดันกฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้อง

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานขององค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ พ.ศ. 2561 อันแสดงถึงเจตจำนงของประเทศไทยในการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์”

ประเทศไทยได้จัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจภายใต้ระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส 41 จังหวัดเชียงใหม่ และสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 จังหวัดนครปฐม โดยความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการเตรียมการองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์

ในครั้งนี้ ปส.ได้เชิญคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (พนส.) และคณะอนุกรรมการภายใต้ พนส. เยี่ยมชมภารกิจ ปส. ด้านการเฝ้าระวังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ณ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (Radionuclide Station: RN65) โดยมี รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ให้การต้อนรับ ในฐานะหน่วยงานที่ให้ความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ และอำนวยความสะดวกมาโดยตลอด

นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 ได้จัดตั้งส่วนระบบเฝ้าตรวจชนิดและกัมมันตภาพรังสีแกมมาในอนุภาคในอากาศแล้วเสร็จเมื่อปี 2560 โดยได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการเตรียมการองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์เมื่อปี 2561 และมีแผนที่จะยกระดับสถานี โดยการติดตั้งระบบเฝ้าตรวจก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี (Radioactive Noble Gas) ในเร็วๆ นี้

“ทำให้สถานีอาร์เอ็น 65 มีสมรรถนะเทียบเท่าสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ จำนวน 40 สถานี ทั่วโลก และเหนือกว่าสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอื่นที่จัดตั้งในภูมิภาคอาเซียน”

นอกจากนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติยังส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากสถานีทั้งสองแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ รวมทั้งเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการที่ชัดเจนมากขึ้น สอดรับกับการปรับโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น