ตระหนักวิกฤตขยะพลาสติกล้นโลก ตอกย้ำแนวคิด Upcycling “เปลี่ยนขยะพลาสติกไร้ราคา มาเพิ่มมูลค่า” ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562”
วิกฤตขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหารุนแรงที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข เพราะขยะพลาสติกได้สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำ โดยเฉพาะขยะทะเล สำหรับประเทศไทย ขยะพลาสติก ติดอันดับ 5 ของโลก หรือคิดเป็น 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด
ที่น่ากังวลคือ ขยะพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีฝังกลบและเผาทำลาย บางส่วนตกค้างในสิ่งแวดล้อม แต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงทะเลจำนวนมาก กลายเป็นแพขยะในทะเลขนาดใหญ่
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน การกินขยะพลาสติกของนกและปลาในทะเล รวมทั้งการสะสมของไมโครพลาสติกในดินหรือแหล่งน้ำ และผลพวงขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดการขยะไม่ถูกวิธี
จากผลสำรวจนั้น กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ และประเทศแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ขยะกว่า 80-90% ถูกกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษทางแม่น้ำและมหาสมุทร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวิธีการกำจัดของเสียที่ไม่ถูกต้อง
หากเทียบจากประเทศที่มีรายได้สูงรวมถึงส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น มีโครงสร้างและระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูง นั่นหมายความว่า ขยะพลาสติกที่ถูกใช้แล้วทิ้ง (แม้จะไม่ได้นำกลับมาใช้ใหม่หรือถูกเผา) แต่จะถูกเก็บไว้ในหลุมฝังกลบที่ปลอดภัย และไม่มีความเสี่ยงในการสร้างผลกระทบห่วงโซ่อาหารของสัตว์และระบบนิเวศของธรรมชาติ
ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการขยะด้วยวิธีที่ถูกต้อง ที่เป็นทางออกของการแก้ปัญหานี้เท่านั้น เพราะพลาสติกบางประเภทย่อยสลายได้ยาก ความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้นำมาใช้ใหม่จึงเป็นประเด็นที่ต้องให้สำคัญ ดังนั้น หนทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะยาว คือ การลดขยะพลาสติกโดยนำมารีไซเคิลและใช้ซ้ำเพิ่มขึ้น
หลายประเทศจึงหันมาใส่ใจ หาวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เช่น ซิม คิสเลอร์ (Siim Kiisler) ประธานสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเอสโตเนียได้เปิดการประชุมโดยเชิญผู้แทนให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเกี่ยวกับเศษซากทะเล และเรียกร้องให้ยุติการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastics) ภายในปี พ. ศ. 2568
ขณะเดียวกัน ประเทศอินเดียมีประชากร 1.3 พันล้านคน นับว่ามีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกจัดเตรียมแผนยกเลิกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2565 ตามแผนประกาศเมื่อปีที่แล้ว
นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของประเทศแคนาดา ตระหนักและประกาศนโยบายเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเช่นกัน มีการตั้งเป้าเลิกใช้ให้เร็วที่สุดภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการผลักดันการเลิกใช้พลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาในระดับโลก จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศในมหาสมุทรทั่วโลก
แคนาดาจะหันมาใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลพบว่า ประชาชนในแคนาดา ทิ้งถุงพลาสติกมากกว่า 34 ล้านใบ/วัน ซึ่งถุงพลาสติกเหล่านี้กว่า 87% ถูกกำจัด โดยการใช้วิธีใส่หลุมฝังกลบ ซึ่งต้องใช้เวลานานนับพันปี กว่าจะย่อยสลายได้หมด
จะเห็นได้ว่า วิธีที่ช่วยทำให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนซึ่งถูกนำมาใช้ในปัจจุบันและเป็นที่นิยม นั่นคือ การยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง (Upcycling) หรือแนวคิดการยืดอายุของพลาสติกให้กลายเป็นขยะให้ช้าที่สุด ด้วยการทำใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไป
การยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลงถือเป็นกระแสใหม่ทางเศรษฐกิจที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาขยะล้นโลก กำลังเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่ไม่อาจชะล่าใจได้อีกต่อไป โดยจะยึดหลักตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากการกำจัดของเสียการนำมาใช้ซ้ำ บนพื้นฐานการออกแบบใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจยั่งยืนมากขึ้น
การยืดอายุวัสดุให้เป็นขยะช้าลง เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้พลาสติก เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้กลับมาดีไซน์ พัฒนาใหม่ ให้สวยงาม มีคุณภาพ อีกทั้ง ยังเพิ่มมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ได้ โดยแนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ในหลายภาคธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ
เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกและเรียนรู้การจัดการอย่างถูกวิธีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จึงได้จัดแสดงนิทรรศการ “พลาสติกพลิกโลก” (Plastic Change the World) ภายในงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2562 ซึ่งจะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 16-25 สิงหาคม 2562 ณ อาคาร 6-12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นิทรรศการดังกล่าวโดยนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ เพื่อร่วมค้นหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกสารพัดประโยชน์จึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและกำลังกลับมาทำร้ายมนุษย์ ใครคือผู้ร้ายตัวจริง และเราจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองได้อย่างไร
ภายในนิทรรศการชุดนี้ ประกอบด้วย 3 โซน
โซนที่ 1 พลาสติกพลิกโลก เพื่อให้มนุษย์เรียนรู้การนำวัสดุในธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อกาลเวลาผ่านไปความต้องการของมนุษย์มีแต่จะเพิ่มขึ้นจนทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ วัสดุราคาถูก สารพัดประโยชน์อย่างพลาสติกจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า พลาสติกก็ยิ่งมีบทบาทมากขึ้น รู้หรือไม่ตอนนี้บนโลกของเรามีพลาสติกกี่ชนิด แล้วยังมีสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้ผลิตด้วยพลาสติก
Hilight: กิจกรรมทดสอบคุณสมบัติวัสดุต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกจึงเป็นวัสดุสารพัดประโยชน์ ร่วมกันตามหาสิ่งของในชีวิตประจำวันที่พบได้ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล มีอะไรบ้างที่ไม่มีส่วนผสมของพลาสติก และมาคำนวณว่าในแต่ละวันเราใช้และทิ้งพลาสติกกี่ชิ้น
โซนที่ 2 พลาสติกพลิกผัน เพราะผลิตง่าย จึงผลิตมาก ใช้มาก ทิ้งมาก แต่ย่อยสลายยาก พลาสติกจึงพลิกผันจากวัสดุสารพัดประโยชน์กลายเป็นขยะ กระจายไปทั่วทุกที่บนโลกไม่ว่าจะแม่น้ำ ยอดเขา มหาสมุทรลึกล้วนมีพลาสติกทั้งขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ด้วยตา และขนาดเล็กยิ่งกว่าปลายเข็ม ทำไมพลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่กำลังจะกลับมาหาเรา โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพลาสติกอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในลำไส้ของเรา
Hilight: กิจกรรมส่องกล้องมองพลาสติกเพื่อดูพลาสติกจิ๋ว ส่วนจัดแสดงภาพถ่ายผลกระทบของพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเต่าทะเลสตัฟฟ์ และแมงกระพรุนซึ่งเป็นอาหารของเต่าเปรียบเทียบกับพลาสติกซึ่งลอยในน้ำ ที่แม้มนุษย์เราจะแยกออกแต่เต่าไม่สามารถแยกได้
โซน 3 พลาสติกพลิกโฉม เนื่องจากปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนทั่วโลกต้องร่วมมือกัน ร่วมเรียนรู้เพื่อค้นพบวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแบบของตัวเองผ่านเรื่องราวของคนจากประเทศต่างๆ และคนจากหลากหลายอาชีพที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ทั้งพลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรีไซเคิลและเทคโนโลยีอัพไซเคิลที่เปลี่ยนพลาสติกเป็นวัตถุดิบกลับสู่กระบวนการผลิต งานวิจัยที่เปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่สามารถย่อยพลาสติกได้
Hilight: พบกับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและงานวิจัยใหม่ๆ มากมายที่ได้รับการร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนำมาจัดแสดงเพื่อให้เห็นความตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่โลกกำลังเผชิญ พบกับนักนวัตกรรมจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เข้าชม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำขวดน้ำกินได้ ให้ผู้เข้าชมได้ทำเอง ชิมเองอีกด้วย