คำชี้แจง กรณีดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 โดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย
ตามที่ได้มีกระแสข่าวว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่จะถึงนี้ จะมีดาวเคราะห์น้อยชื่อ 2006 คิวคิว 23 (2006 QQ23) เข้ามาใกล้โลกจนอาจจะชนโลกได้ โดยระบุว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ความกว้างมากกว่าความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตตเสียอีก หากชนโลกก็จะทำให้เกิดความเสียหายจนบ้านเมืองพังพินาศผู้คนบาดเจ็บล้มตาย ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกันอย่างมาก
สมาคมดาราศาสตร์ไทยขอชี้แจงอย่างรวบรัดที่สุดไว้เสียที่นี้ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จะไม่ชนโลก และไม่เป็นอันตรายต่อโลก ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อย และดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23
- ดาวเคราะห์น้อยคืออะไร?
ดาวเคราะห์น้อยคือวัตถุในระบบสุริยะ เป็นวัตถุแข็งประเภทหินที่มีขนาดใหญ่ระดับหลายเมตรขึ้นไป แต่เล็กกว่าระดับดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อยดวงที่ใหญ่ที่สุดมีขนาด 500 กิโลเมตร
มีดาวเคราะห์น้อยมากแค่ไหน?
นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์น้อยแล้วไม่ต่ำกว่าสองแสนดวง ส่วนใหญ่โคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
ดาวเคราะห์น้อยเป็นอันตรายต่อโลกหรือไม่?
การที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่มีวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีซึ่งห่างจากโลกมาก จึงไม่มีผลใดๆ ต่อโลก มีเพียงดาวเคราะห์นอยบางส่วนมีวงโคจรใกล้เคียงหรือตัดกับวงโคจรของโลก ดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroid) ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง
ในจำนวนดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก บางดวงมีขนาดใหญ่ในระดับที่เป็นอันตรายหากชนโลก และมีวงโคจรใกล้วงโคจรโลกได้ใกล้กว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ (19.5 เท่าของระยะทางระหว่างโลกถึงดวงจันทร์) ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มนี้จะถูกจัดว่าเป็น ดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง (Potentially Hazardous Asteroid) ปัจจุบันพบดาวเคราะห์อันตรายยิ่งแล้วไม่น้อยกว่า 1,600 ดวง
ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 เป็นอันตรายแค่ไหน?
ดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 180-570 เมตร และมีโอกาสเข้าโลกได้มากกว่า 0.05 หน่วยดาราศาสตร์ จึงจัดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยอันตรายยิ่ง ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ หากชนโลกจริง ก็จะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่จากการคำนวณโคจรของดาวเคราะห์น้อยโดยนักดาราศาสตร์ แสดงชัดเจนว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะไม่ชนโลกในวันที่ 10 สิงหาคม 2562 นี้อย่างแน่นอน โดยจะเข้าใกล้โลกที่สุดด้วยระยะทาง 7.5 ล้านกิโลเมตร เมื่อเวลา 14:22 น. ตามเวลาประเทศไทย
มีโอกาสแค่ไหนที่การคำนวณการโคจรนี้อาจผิดพลาด แล้วดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 ชนโลกในวันที่ 10 นี้จริงๆ?
เป็นศูนย์
ตอนนี้มีวัตถุดวงใดบ้างที่มีทิศทางจะชนโลกในอนาคตอันใกล้?
ณ ขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีวัตถุขนาดใหญ่ดวงใดที่จะชนโลก แต่การที่ไม่พบก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี เพราะอาจมีบางดวงที่เรายังไม่พบที่มีทิศทางพุ่งมายังโลกอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงยังคงเฝ้ามองท้องฟ้าทุกคืนเพื่อหาวัตถุที่ยังไม่รู้จักที่อาจจะมาคุกคามโลกในอนาคต และหาหนทางรับมือต่อไป
หากดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 ไม่เป็นอันตรายจริง แล้วเหตุใดองค์การนาซาจึงออกประกาศเตือน?
นาซาออกประกาศแจ้งอยู่เสมอว่า จะมีดาวเคราะห์น้อยดวงใดเข้ามาเฉียดโลกบ้าง ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ นาซาจึงเน้นกรณีนี้ให้พิเศษกว่าปกติเล็กน้อย โดยอธิบายว่า วัตถุใหญ่ระดับนี้ หากชนโลกจริง จะก่อให้เกิดความเสียหายระดับใด ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนตระหนักทราบถึงภัยคุกคามจากท้องฟ้าชนิดนี้ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่มิได้บอกว่าดาวเคราะห์น้อย 2006 คิวคิว 23 จะชนโลกในวันที่ 10 สิงหาคมนี้
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
http://thaiastro.nectec.or.th/library/article/3440/