xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “กลุ่มดาว” ประจำ 3 หอดูดาวภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สัญลักษณ์กลุ่มดาวแมงป่อง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
เมืองไทยเรามีหอดูดาวภูมิภาคที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว 3 แห่งที่โคราช ฉะชิงเทรา และสงขลา และแต่ละที่นั้นก็มีกลุ่มดาวเป็นสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีความหมายสำหรับแต่ละที่

หอดูดาวภูมิภาคที่ก่อสร้างและดำเนินการโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และล่าสุดคือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

หอดูดาวแต่ละแห่งมีกลุ่มดาวเป็นสัญลักษณ์แตกต่างกัน อย่างกลุ่มดาวประจำหอดูดาวฯ นครราชสีมา คือ กลุ่มดาวค้างคาว (Cassiopeia) หรือกลุ่มดาวประจำหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา คือ กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) และกลุ่มดาวระจำหอดูดาวฯ สงขลา คือ กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius)

ที่มาของกลุ่มดาวประจำหอดูดาวภูมิภาคแต่ละแห่งนั้น ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เล่าถึงความเป็นมาว่า เริ่มจากการสังเกตเห็นว่าที่หอดูดาวภูมิภาค จ.นครราชสีมา สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวค้างคาวได้ค่อนข้างชัดเจนมากกว่าพื้นที่ๆ อื่น จึงกำหนดให้เป็นกลุ่มดาวประจหอดูดาว จากนั้นจึงเป็นธรรมเนียมในการกำหนดกลุ่มดาวประจำหอดูดาวเรื่อยมา

เมื่อเปิดให้บริการหอดูดาวภูมิภาค จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าเห็นกลุ่มดาวหมีใหญ่ได้ชัดเจนเมื่อฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. และหอดูดาวภูมิภาค จ.สงขลา สามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวแมงป่องได้ชัดเจนกว่าพื้นที่อื่น ส่วนที่ทำการใหญ่ของ สดร.ที่อุทยานดาราศาสตร์ (Astro Park) ใน จ.เชียงใหม่นั้น มีกลุ่มดาวที่เป็นสัญลักษณ์คือกลุ่มดาวนายพราน (Orion)
สัญลักษณ์กลุ่มดาวค้างคาว ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา
กลุ่มดาวค้างคาว

กลุ่มดาวค้างคาวเป็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าเหนือ มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นรูปตัว W หรือบางก็เห็นเป็นรูปตัว M จากการเรียงตัวของดาวที่สว่างสดใสที่เห็นได้ชัด 5 ดวง และเป็นกลุ่มดาวที่ใช้ดาวเหนือและทิศเหนือคร่าวๆ ได้ มักอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มดาวหมีใหญ่ มีดาวอัลฟาแคสซิโอเปีย (Alpha Cassiopeiae) หรือดาวเชดาร์ (Schedar) เป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาว
สัญลักษณ์กลุ่มดาวหมีใหญ่ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา
กลุ่มดาวหมีใหญ่

กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นกลุ่มดาวทางซีกฟ้าเหนือ สำหรับคนไทยเรียกว่ากลุ่มดาวจระเข้ มีดาวสว่าง 7 ดวงเรียงกันเหมือนรูปกระบวยน้ำ และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวที่มีชื่อเสียงที่สุดในท้องฟ้า โดยดาว 2 ดวงแรกของบริเวณคล้ายกระบวยน้ำจะชี้ไปหาดาวเหนือเสมอ ซึ่งดาวเหนือจะอยู่ห่างจากดาวตรงปลายกระบวยน้ำเป็น 4 เท่าของระยะห่างระหว่างดาว 2 ดวงแรกบริเวณคล้ายกระบวยน้ำนั้นเสมอ จึงเป็นอีกกลุ่มดาวที่ใช้หาดาวเหนือได้ ข้างๆ กลุ่มดาวหมีใหญ่มีกลุ่มดาวหมีเล็กที่มีรูปร่างคล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่า

กลุ่มดาวหมีใหญ่เป็นหนึ่งใน 48 กลุ่มดาวที่ปโตเลมี (Ptolemy ) รวบรวมไว้ในบัญชีรายชื่อ และปัจจุบันเป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ 88 กลุ่มดาวยุคปัจจุบัน รองจากกลุ่มดาวงูไฮดราและกลุ่มดาวหญิงสาว ตามลำดับ
สัญลักษณ์กลุ่มดาวแมงป่อง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
กลุ่มดาวแมงป่อง

กลุ่มดาวแมงป่อง หรือกลุ่มดาวราศีพิจิก หนึ่งในกลุ่มดาวจักราศี ปรากฏอยู่ระหว่างกลุ่มดาวตาชั่งกับกลุ่มดาวคนยิงธนู เป็นกลุ่มดาวขนาดใหญ่อยู่ในซีกฟ้าใต้ สังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า มีดวงดาวเรียงรายเป็นแนวคล้ายหางแมงป่อง ปรากฏอยู่ใกล้กับศูนย์กลางทางช้างเผือก มีดาวฤกษ์สว่างที่สุดชื่อว่า “แอนทาเรส” ปรากฏเป็นสีแดง อยู่บริเวณหัวใจแมงป่อง

หากสังเกตท้องฟ้าบริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของไทย จะมองเห็นกลุ่มดาวแมงป่องซึ่งมักจะปรากฏพร้อมทางช้างเผือกในตำแหน่งสูงจากขอบฟ้ามากและสังเกตได้ชัดเจนกว่าภูมิภาคอื่น จึงนำ “กลุ่มดาวแมงป่อง” มาเป็นสัญลักษณ์ประจำหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

ทั้งนี้ เมื่อ 24 มี.ค.52 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ สดร.ก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน 5 แห่งในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน

หอดูดาวภูมิภาคประชาชนได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นโครงการใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานนามว่า หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตามด้วยชื่อจังหวัดนั้นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น