วันที่ 2 พฤษภาคม ปี 2019 เป็นวาระครบห้าศตวรรษแห่งการจากไปของ Leonardo da Vinci ในวัย 67 ปีที่เมือง Amboise ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นสถานที่ๆ Leonardo มนุษย์ผู้รอบรู้ศิลปวิทยาได้ใช้เวลาสามปีสุดท้ายของชีวิต
เนื่องในโอกาสที่สำคัญมากนี้ ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส และประธานาธิบดี Sergio Mattarella ของอิตาลีจึงได้เดินทางไปที่ Amboise เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองด้วยกัน
เมื่อครั้งที่ Leonardo เดินทางมาพำนักอยู่ที่ Amboise นั้น เขามีอายุ 64 ปีแล้ว และได้เดินทางจากเมือง Naples ในอิตาลีมาที่ประเทศฝรั่งเศสตามคำเชิญของกษัตริย์ Francis ที่ 1 ผู้ทรงมีอีกพระนามว่า สุริยะเทพแห่งคริสศตวรรษที่ 16 เพราะพระองค์ทรงทำให้ฝรั่งเศสก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชูบรรดาศิลปินและสถาปนิกที่มาทำงานถวาย Leonardo จึงได้เป็นราชศิลปินในกษัตริย์ Francis ที่ 1 โดยได้ทอดทิ้งโรมไว้เบื้องหลัง เพราะในเวลานั้น ศัตรูคู่แข่งคนสำคัญของ Leonardo คือ Michelangelo Buonarotti และ Rafaello Sangio da Urbino หรือ Raphael กำลังเฟื่องฟูและรุ่งเรืองมาก จนตระกูล Medici ซึ่งเคยสนับสนุน Leonardo ได้เปลี่ยนใจไปส่งเสริม Michelangelo และ Raphael แทน
ก่อนจะเดินทางไป Amboise เล็กน้อย Leonardo รู้สึกปริวิตกมาก จึงได้วาดภาพเหมือนในวัย 62 ปีที่แสดงอารมณ์ขรึมเศร้า ดังจะเห็นได้จากการดูที่ดวงตาในภาพ จะเห็นเสมือนว่า Leonardo กำลังหมดหวังกับชีวิตที่เหลือ เพราะริมฝีปากทั้งสองข้างเม้มปิด เสมือนจะแค้นโลกและตนเองที่ทำให้ความฝันทั้งหลายไม่มีวันจะเป็นจริง
ด้วยความขมขื่น Leonardo จึงเดินทางด้วยลาไป Amboise ในปี 1516 และได้นำภาพ 3 ภาพที่ตนโปรดปรานมากเป็นพิเศษติดตัวไปด้วย คือภาพ Mona Lisa, ภาพ Virgin and Child with Saint Anne และภาพ Saint John the Baptist (ขณะนี้ภาพทั้งสามอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Louvre ในปารีส)
เมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ Amboise Leonardo ได้เข้าพักที่คฤหาสน์ Clos Luce ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยหรู และอยู่ไม่ไกลจากปราสาทที่ประทับของกษัตริย์ Francis ที่ 1 ซึ่งในเวลานั้นมีพระชนม์มายุเพียง 23 ชันษา และการเดินทางมาของ Leonardo ในครั้งนี้ เพราะพระราชมารดา Louise แห่ง Savoy ทรงตระหนักดีว่า ถ้า Francis ที่ 1 ทรงได้รับคำชี้แนะและคำสอนจาก Leonardo พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต
พระเจ้า Francis ที่ 1 เองก็ทรงรู้สึกยินดี และศรัทธาในความสามารถของ Leonardo มากถึงกับได้เปรียบเทียบ Leonardo ว่า เป็นเสมือนพระบิดาบังเกิดเกล้า และเพื่อให้การถวายงานของ Leonardo ดำเนินไปอย่างไร้อุปสรรค รวมถึงมีความสะดวก และเป็นการส่วนพระองค์จริงๆ พระเจ้า Francis ที่ 1 จึงทรงโปรดให้ขุดอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมต่อระหว่างคฤหาสน์ Clos Luce กับปราสาทที่ Amboise
พระเจ้า Francis ที่ 1 ทรงมีบรรพกษัตริย์ คือ Charles ที่ 8 กับ Louis ที่ 12 ซึ่งในอดีตได้ทรงนำทัพสู้รบกับกองทัพอิตาเลียนหลายต่อหลายครั้ง แม้จะไม่ได้ยึดครองอาณาจักรเพิ่มเติม แต่กองทัพฝรั่งเศสก็ได้ปล้นสดมภ์นำศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุจำนวนมากของอิตาลีกลับฝรั่งเศส
หลังจากที่พระเจ้า Charles ที่ 8 เสด็จสวรรคตและพระเจ้า Louise ที่ 12 ทรงขึ้นครองราชย์แทน แต่พระองค์ทรงไม่มีพระราชบุตร ดังนั้นพระชามาดา (ลูกเขย) Francis ที่ 1 จึงขึ้นครองราชย์ต่อ เพราะพระองค์ทรงมีพระอัธยาศัยดีต่อคนทุกคน ทรงโปรดปรานการเรียนรู้ และทรงมีรสนิยมที่เลิศหรู พระองค์จึงทรงสามารถปฏิรูปฝรั่งเศสได้หลายด้าน จนเป็นที่รักและชื่นชมของชาวฝรั่งเศสทุกคน
แม้จะได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว พระองค์ก็ยังทรงโปรดปรานการเล่าเรียนภาษาละติน จริยศาสตร์ ดนตรี ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ต่อ รวมถึงทรงโปรดปรานการล่าสัตว์ เล่นกีฬามวยปล้ำ และฟันดาบด้วย
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1515 ก่อนที่ Leonardo จะเดินทางถึงฝรั่งเศสหนึ่งปี กษัตริย์ Francis ที่ 1 ทรงนำกองทัพทหาร 20,000 คนไปโจมตีเมือง Milan เมื่อได้รับชัยชนะ ทรงยึดประติมากรรม Laocoon and His Sons ไปครอง และได้พบกับ Leonardo da Vinci เป็นครั้งแรก จึงได้ตรัสชวน Leonardo ให้ไปพำนักในฝรั่งเศส ซึ่ง Leonardo ก็ตอบรับ ดังนั้นเมื่อเสด็จกลับถึงฝรั่งเศสในปี 1516 กษัตริย์ Francis ที่ 1 ทรงโปรดให้พระราชมารดาและพระขนิษฐาอพยพออกจากปราสาท Cloux ที่ Amboise เพื่อให้ Leonardo เข้าพำนักแทน
Benvenuto Cellini ซึ่งเป็นนักประติมากรรมผู้มีชื่อเสียงชาวอิตาลีได้เล่าว่า สมเด็จพระเจ้า Francis ที่ 1 จะเสด็จไปเยี่ยมเยือนราชศิลปิน Leonardo บ่อย เพื่อจะได้สนทนาและเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่า ไม่มีใครอื่นใดในโลกจะรู้มากและรู้ดีเท่า Leonardo อีกแล้ว
ด้าน Leonardo เองก็รู้ว่า ตนมีเวลาที่จะอยู่ในโลกอีกไม่นาน แต่ไม่รู้เวลาที่แน่นอนว่าจะเป็นเมื่อใด ประกอบกับเวลานั้น แขนข้างขวาของ Leonardo เป็นอัมพฤกษ์ แต่การเป็นคนถนัดซ้ายจึงไม่มีปัญหาใดๆ ในการวาดรูป แล้ว Leonardo ก็ได้พยายามวาดภาพ Mona Lisa จน “เสร็จ” แต่นักวิจารณ์ศิลปะหลายคนปัจจุบันคิดว่า คงยังไม่เสร็จ จากการเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นคนที่ชอบทำอะไรไม่เคยเสร็จ เพราะต้องการให้งานสมบูรณ์ 100%
เมื่อใกล้จะสิ้นชีวิต Leonardo ได้เริ่มเขียนพินัยกรรม และเขียนโน้ตสั้นๆ ถึงศิษย์ Salai ว่า “ช่วยบอกด้วยว่าจากความคิดทั้งหลายที่มีในสมุดโน้ตนั้น มีใครเอาไปทำให้เป็นจริงบ้าง”
ถึงวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1519 (ตรงกับรัสมัยพระรามาธิบดีที่ 2) Leonardo ก็จากโลกไปอย่างสงบ
หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว 150 ปี กระดูกของ Leonardo ได้ถูกนำไปฝังที่วิหาร St.Hubert ในเมือง Amboise และท่านประธานาธิบดีทั้งสองก็ได้ไปแวะเยี่ยมคารวะ เป็นการสรุปวาระห้าศตวรรษของการระลึกถึง Leonardo และความสัมพันธ์ที่ประเทศทั้งสองมีต่อกัน
Leonardo เป็นอัจฉริยะบุคคลผู้มีความสามารถและความสนใจในศาสตร์และศิลป์แทบทุกด้าน นับตั้งแต่เคมี (Leonardo พบ acetone) ดาราศาสตร์ (พบแสงโลกซึ่งเป็นแสงที่สะท้อนจากโลกถึงดวงจันทร์) และกลศาสตร์ (พบจุดศูนย์กลางมวลของพีระมิด) ฯลฯ
การเป็นคนที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงไม่มีความรู้คณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งไร้ความรู้และความเชี่ยวชาญในภาษาละติน แต่ก็มีความรู้วิทยาศาสตร์ของ Aristotle บ้าง การมีพรสวรรค์ในการใช้สายตาศึกษาความละเอียดของสิ่งต่างๆ และความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างไม่มีใครสามารถทำได้ดีเท่า ทำให้สามารถบูรณาการวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ได้อย่างกลมกลืน และให้องค์ความรู้ใหม่
ในมุมมองของ Leonardo การวาดภาพเป็นวิทยาศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะภาพที่ได้สามารถช่วยคนดูให้เห็นธรรมชาติดีขึ้น การเห็นในที่นี้หมายความถึงการให้ความสนใจด้วย เพราะถ้าตั้งใจดูจริงๆ ก็จะเห็นความจริงได้มาก
แนวคิดของ Leonardo จึงครอบคลุมเนื้อหาหลายมิติ เช่น เวลาศึกษาแรงเสียดทานในวิชากลศาสตร์ Leonardo ได้พบว่า ขนาดของแรงขึ้นกับธรรมชาติของผิวสัมผัส และขึ้นกับน้ำหนักของสิ่งที่กดทับ Leonardo ยังได้เน้นให้เห็นว่า ถ้าศิลปินเข้าใจธรรมชาติอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจ ผลงานสร้างสรรค์ของศิลปินก็จะสามารถสื่อให้ทุกคนเห็นความสมบูรณ์ของธรรมชาติดีขึ้นด้วย
หลังจากที่ถือกำเนิดในโลกเมื่อ วันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1452 เมื่อเติบใหญ่ในวัย 18 ปี Leonardo ได้เริ่มฝึกวาดภาพกับ Andrea del Verocchio ภาพวาดของ Leonardo ที่ประสบความสำเร็จมากคือ ภาพปูนเปียกชื่อ The Last Supper ที่วาดบนผนังกำแพงโบสถ์ Santa Maria delle Grazie ในเมือง Milan และภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือภาพ Mona Lisa ซึ่งเริ่มวาดเมื่อปี 1504 และได้ทำให้ทุกคนเห็นว่า Leonardo เป็นจิตรกรที่ไม่ได้รับอิทธิพลในการวาดจากศิลปินกรีกหรือโรมัน เพราะวาดจากสิ่งที่เห็น และใช้การเห็นระดับพิเศษรวมถึงเทคนิคการวาดที่ส่อแสดงให้เห็นความเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งของจิตรกรผู้วาด
ตลอดเวลากว่า 5 ศตวรรษที่ผ่านมา Mona Lisa ได้เป็นภาพที่คนทั้งโลกได้ชื่นชม และเทิดทูนความสามารถของ Leonardo อย่างสุดๆ ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะก็ได้วิเคราะห์และวิจารณ์ความหมาย รวมถึงนัยยะต่างๆ ที่มีในภาพ เช่นว่า เหตุใด Mona Lisa จึงยิ้มอย่างมีเลศนัย ความอัศจรรย์ในการวาดแววตา เทคนิคที่เหมาะสมในการจัดฉากสำหรับวาด เทคนิคการใช้แสงและเงา รวมถึงการผสมสีที่ใช้และการท่าทีและแต่งตัวของนางแบบด้วย
ผลการศึกษาทำให้โลกรู้ว่า นางแบบชื่อ Lisa Gherardini ซึ่งเป็นภรรยาคนที่สองของ Francesco di Bartolomew di Zanobi del Giocondo ผู้เป็นพ่อค้าไหมที่ร่ำรวยแห่งเมือง Florence
ขณะนั่งเป็นนางแบบ เธอมีอายุ 16 ปี และ Leonardo ได้วาดภาพของเธอเพียงครึ่งตัว โดยให้นั่งบนเก้าอี้ริมระเบียง เห็นหน้าอก คอ และมือทั้งสองข้างของเธอวางไพล่กัน โดยเธอเบนใบหน้าจากแนวตรงไปเล็กน้อย เธอสวมเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งแสดงการไว้ทุกข์ ดังนั้น ใบหน้าของเธอจึงควรแสดงความเศร้า แต่ Leonardo ได้วาดให้เธอยิ้มเล็กน้อยที่มุมปาก และทอดสายตาไปเบื้องหน้าอย่างสงบ ในขณะที่บรรยากาศเบื้องหลังภาพมีสายน้ำที่ไหลคดเคี้ยว มีหุบเขา และภูเขา มีป่า และมีสะพานโค้งที่ทอดข้ามสายน้ำ บรรยากาศขณะนั้นเป็นเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ และที่ขอบฟ้ามีสายหมอกบางๆ ปกคลุม
การเชื่อมโยงมนุษย์ (Mona Lisa) กับธรรมชาติโดยรอบด้วยภาพของคน สายน้ำ ป่า ภูเขา หมอกอย่างกลมกลืน ในภูมิประเทศจินตนาการ ได้ทำให้ภาพ Mona Lisa เป็นภาพอมตะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นหนึ่งในบรรดา 20 ภาพที่ Leonardo วาดเสร็จ ซึ่งปัจจุบันภาพเหล่านี้กระจายอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ใน Milan, Paris, Florence, Vienna, London และพระราชวัง Windsor
โดยลูกศิษย์ของ Leonardo ชื่อ Giacimo Caprotti หรือ Salai นำภาพสามภาพออกขายให้ Francis ที่ 1 ในราคา 4,000 เหรียญทองก่อนที่ Leonardo จะสิ้นใจเพียงเล็กน้อย และทุกวันนี้ภาพห้าภาพอยู่ที่ Louvre
ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ พิพิธภัณฑ์ Louvre จะจัดงานที่ระลึกถึง Leonardo อย่างยิ่งใหญ่ และได้ขอยืมผลงานของ Leonardo ที่ยังคงตกค้างอยู่ในอิตาลี เช่น ภาพ Vitruvian Man มาร่วมแสดงด้วย
แต่ก็มีภาพหนึ่งคือ Salvator Mundi ซึ่งเป็นภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุดในโลกราคา 14,400 ล้านบาทจากการถูกนำออกประมูลขายที่ Christie เมื่อปี 2017 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาพที่ Leonardo วาด และผู้ซื้อก็เป็นที่ร่ำลือว่า คือ เจ้าชาย Mohammed bin Salman ซึ่งเป็นมกุฎราชกุมารแห่ง Saudi Arabia ที่ถูกกล่าวหาว่าทรงมีบทบาทในการฆ่า Jamal Khashoggi ที่ Istanbul ในตุรกี
ความลึกลับของภาพ Savator Mundi ซึ่งกำลังเป็นที่โจษจรรย์กันมากคือ ยังไม่มีใครได้เห็นภาพนี้อีกเลย ตั้งแต่การประมูลขายสิ้นสุด
เพราะผู้ซื้อได้วางแผนจะนำภาพออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Louvre Abu Dhabi ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2018 แต่ก็ยังไม่ได้นำออกโชว์ และเมื่อทางพิพิธภัณฑ์ Louvre ได้ขอยืมภาพนี้จาก Louvre Abu Dhabi เพื่อนำไปแสดงที่ Paris ในเดือนตุลาคม ทางพิพิธภัณฑ์ Louvre Abu Dhabi ก็ไม่ให้คำตอบใดๆ ว่าจะให้ยืมหรือไม่ให้ยืม
ข้อสันนิษฐานที่กำลังแพร่สะพัดคือ ภาพที่ขาย-ซื้อกันนั้นได้รับการพบว่า มิใช่ภาพที่ Leonardo วาดจริง เพราะผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้อีกหลายคนปักใจว่า ไม่ใช่ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ศาสนาอิสลามห้ามการวาดภาพพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระเยซูดังที่ปรากฎในภาพจึงเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมในการนำออกแสดงในพิพิธภัณฑ์ของประเทศอิสลาม
ถ้า Salvator Mundi ถูกนำออกแสดงใน Louvre ที่ Paris ในเดือนตุลาคมนี้ นั่นจะเป็นการยืนยันว่า มันเป็นงานวาดของ Leonardo จริง
แต่ถ้าไม่ นั่นก็เป็นการยืนยันว่าทาง Louvre Abu Dhabi ได้ซื้อของปลอมเข้าแล้ว
อ่านเพิ่มเติมจาก Leonardo da Vinci โดย Walter Isaacson จัดพิมพ์โดย Amazon ในปี 2019
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์