xs
xsm
sm
md
lg

ใครบอกว่าเขาเหงา “ไมเคิล คอลลินส์” ลูกเรืออะพอลโล 11 ผู้โคจรรอบดวงจันทร์ลำพัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ไมเคิล คอลลินส์ บรรยายระหว่างงานฉลอง 50 ปี ส่งคนไปดวงจันทร์ (Gregg Newton / AFP)
ระหว่างที่ “นีล อาร์มสตรอง” และ “บัซ อัลดริน” ลงไปลงสำรวจดวจันทร์ “ไมเคิล คอลลินส์” ผู้บังคับโมดูลประจำภารกิจอะพอลโล 11 ต้องโคจรรอบดวงจันทร์เพียงลำพัง ทำให้เขากลายเป็นคนโดดเดี่ยวจากคนทั้งโลกที่สุด

“ผมมักถูกตั้งคำถามว่า ผมคือคนที่โดดเดี่ยวที่สุดในประวัติศาสตร์อันโดดเดี่ยวของระบบสุริยะที่โดดเดี่ยวหรือไม่ เมื่อผมต้องอยู่กับตัวเพียงลำพังในการโคจรที่โดดเดี่ยวนั้น และคำตอบก็คือ ไม่ ผมรู้สึกปกติดี” ไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) ผู้บังคับโมดูลประจำภารกิจอะพอลโล 11 (Apollo 11) ที่พาคนไปลงดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

คอลลินส์บอกว่าเขาดื่มด่ำกับกาแฟร้อนที่ยอดเยี่ยม และจะฟังเพลงก็ได้หากต้องการ และบอกด้วยว่าโมดูลบังคับการโคลัมเบีย (Command Module Columbia) ที่เขาขับในภารกิจอะพอลโล 11 นั้นมีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่เขาต้องการ และก็มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเขาก็ดื่มด่ำกับเวลาที่มีให้ตัวเอง แทนที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างล้นเหลือ

ลูกเรืออะพอลโล 11 (Apollo 11) ทั้ง 3 คน ได้แก่ นีล อาร์สตรอง (Neil Armstrong) ผู้บังคับการ, บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ผู้บังคับโมดูลอีเกิลเพื่อลงจอดดวงจันทร์ และไมเคิล คอลลินส์ ผู้บังคับโมดูลโคลัมเบีย ที่พาทั้งสามคนออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.1969

มนุษย์อวกาศทั้งสามคนออกเดินทางด้วยการนำส่งของจรวดแซทเทิร์น 5 (Saturn 5) จากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ฟลอริดา สหรัฐฯ และใช้เวลา 4 วันไปถึงดวงจันทร์ โดยอาร์มสตรองและอัลดรินได้ลงสำรวจดวงจันทร์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.เวลา 22.56 น. ส่วนคอลลินส์ขับโมดูลรออยู่ในวงโคจรเพียงลำพัง หลังจากนั้นพวกเขาได้เดินทางกลับสู่โลกในวันที่ 24 ก.ค.

“เราในฐานะลูกเรือรู้สึกถึงน้ำหนักของทั้งโลกบนบ่าของพวกเรา เรารู้ว่าทุกคนจับจ้องมองมาที่พวกเรา ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู” คอลลินส์ในวัย 88 ปี เผยในช่วงกิจกรรมฉลอง 50 ปีส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ และเปรียบเที่ยวบินสู่ดวงจันทร์ของอะพอลโล 11 ว่า เป็นสายโซ่เดซีหรือการเชื่อมต่อของเหตุการณ์ที่ยาวนานและเปราะบาง

คอลลินส์อธิบายว่าปฏิบัติการนี้เป็นการเชื่อมต่อของความสำเร็จย่อยๆ อย่างเช่น การหลุดพ้นแรงโน้มถ่วงของโลก หรือการค่อยๆ ชะลอตัวเพื่อเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ โดยเที่ยวบินนี้อยู่กับคำถามภายใต้ความตึงเครียดและความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป อะไรที่ต้องทำตอนนี้ เพื่อเชื่อมต่อสายโซ่เดซีอย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้ลูกเรืออะพอลโล 11 ที่ยังมีชีวิตอยู่เหลือเพียง คอลลินส์และอัลดริน โดยอัลดริน ซึ่งเป็นมนุษย์คนที่ 2 ที่ก้าวลงบนดวงจันทร์ตามหลังอาร์มสตรองเพียง 19 นาที มีอายุ 89 ปีแล้ว และเป็น 1 ในมนุษย์ 12 คนที่มีโอกาสลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 4 คน

ส่วน นีล อาร์มสตรอง ผู้บังคับการบินอะพอลโล 11 และเป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวลงบนดวงจันทร์ ได้ลาโลกนี้ไปเมื่อปี ค.ศ.2012 ขณะอายุได้ 82 ปี
บัซ อัลดริน ปาฐกถาในงานฉลองอะพอลโล 11 ส่งเยือนดวงจันทร์ เมื่อ 17 ก.ค.2019 ที่ศูนย์การสำรวจอวกาศเดวิดสัน (Davidson Center for Space Exploration) ณ ศูนย์อวกาศและจรวดสหรัฐฯ (US Space & Rocket Center) ในฮันท์วิลล์ อะลามาบา  (Loren ELLIOTT / AFP)
ไมเคิล คอลลินส์ (ที่ 2 จากซ้าย) และ บัซ อัลดริน (ขวา) เข้าพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Brendan Smialowski / AFP)
ไมเคิล คอลลินส์ จับมือกับ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Brendan Smialowski / AFP)
ภาพถ่ายอย่างเป็นทางการของลูกเรืออะพอลโล 11 จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เมื่อ 30 มี.ค.1969 (ซ้ายไปขวา) นีล อาร์มสตรอง ในฐานะผู้บังคับการ , ไมเคิล คอลลินส์ ในฐานะผู้ขับโมดูล (ยืน) และ บัซ อัลดริน ในฐานะผู้ขับโมดูลดวงจันทร์ (HO / NASA / AFP )
ภาพลูกเรืออะพอลโล 11 เมื่อ 10 ม.ค.1969 หลังเปิดตัวลูกเรือที่จะรับภารกิจไปลงดวงจันทร์ (ซ้ายไปขวา) บัซ อัลดริน, นีล อาร์มสตรอง และ ไมเคิล คอลลินส์  (NASA file photo / HO / AFP )
ภาพ นีล อาร์มสตรอง ฝึกซ้อมสำหรับภารกิจอะพอลโล 11 เมื่อ ก.พ.1969 ที่สำนักวิจัยการลงจอดดวงจันทร์ (Lunar Landing Research Facility) ก่อนจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์คนแรกที่ก้าวลงดวงจันทร์ในอีก 5 เดือนหลังจากนั้น (NASA file photo / HO / AFP )
ไมเคิล คอลลินส์ (กลาง) บรรยายระหว่างงานฉลอง 50 ปี ส่งคนไปดวงจันทร์ โดยมี ชาร์ลี ดุค (Charlie Duke) ลูกเรืออะพอลโล 16 (ซ้าย) และ รัสตี ชไวค์การ์ท (Rusty Schweickart) ลูกเรืออะพอลโล 9 ร่วมด้วย (Gregg Newton / AFP)
หินดวงจันทร์ในปริซึมแก้ว ที่จัดแสดงภายในงานฉลอง 50 ปีส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ (JOSH EDELSON / AFP)
ภาพ นีล อาร์มสตรอง เมื่อ 15 ก.ค.1969 เตรียมก่อนเดินทางไปดวงจันทร์ 1 วัน (์NASA / HO / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น