ปกติแหล่งท่องเที่ยวมักเป็นศัตรูสำหรับการวางไข่ของเต่า แต่รีสอร์ทบนเกาะทะลุ จ.ประจวบฯ ได้กลายเป็นแหล่งฟักไข่และอนุบาลเต่ากระแหล่งใหญ่ของประเทศ จากผลการดำเนินงานมา 10 ปี ช่วยฟักลูกเต่ามานับหมื่นตัวแล้ว
เกาะทะลุเป็นเกาะในอ่าวไทย ในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาเดินทางจากฝั่งไปถึงเกาะด้วยเรือเร็วหรือสปีดโบ้ท (Speed Boat) ประมาณ 12 นาที พื้นที่ของเกาะส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท และบางส่วนเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม
ในพื้นที่ของรีสอร์ทนั้นได้แบ่งส่วนหนึ่งเป็นแหล่งอนุบาลเต่ากระ (Hawksbill sea turtle) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ชนิดเต่าทะเล ได้แก่ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง เต่าตนุและเต่าหัวค้อน ที่พบในทะเลไทย โดยสถานะการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดให้เต่ากระอยู่ในสถานะถูกคุกคามในระดับเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ และมีข้อมูลว่าเต่าชนิดนี้ขึ้นวางไข่ในไทยเพียง 2 แห่งคือ เกาะมันนอก-เกาะมันใน จ.ระยอง และเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายณัช โขมพัตร เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้า เกาะทะลุไอส์แลนด์ รีสอร์ท เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบันพบเพียงเต่ากระขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดหน้ารีสอร์ท ซึ่งทางรีสอร์ทจะขุดไข่ที่แม่เต่าวางไว้มาฟักให้รอด จากนั้นเลี้ยงให้โตจนมีขนาดประมาณ 25 เซ็นติเมตรขึ้นไป จึงปล่อยลงทะเล และจำเป็นต้องช่วยฟักและเลี้ยงให้รอด เพราะลูกเต่าที่ฟักแล้วปล่อยลงทะเลเลยนั้นจะมีอัตรารอดจนถึงวัยเจริญพันธุ์เพียง 1 ใน 1,000
“จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญและมีบันทึกหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหว พบว่าเต่าที่มีขนาด 25 เซ็นติเมตร จะเอาตัวรอดจากฉลามได้ โดยมีภาพชัดเจนว่าเต่าดิ้นหลุดจากปากฉลาม เราจึงเอาขนาดตัวดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการปล่อยเต่ากลับคืนสู่ทะเล” ณัชบรรยาย โดยเต่าขนาดดังกล่าวจะมีอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน
ทั้งนี้ การอนุรักษ์เต่ากระได้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ผ่านการดำเนินงานโดยมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2556 เพื่อสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องจากพระราชดำริ สมเด็จพระกณิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ให้ข้อมูลว่าจากการเก็บสถิติการขึ้นวางไข่ของแม่เต่า พบว่ามีแม่เต่า 10 แม่ขึ้นวางไข่ที่ชายหาดบริเวณหน้ารีสอร์ท และได้ตั้งชื่อให้แม่เต่า เช่น แม่นกแก้ว แม่ศรีบางสะพาน แม่ศรีสยาม แม่ศรีจันทร์ แม่เพรียงและแม่ศรีประจวบ โดยพบว่าแม่เพรียงเป็นแม่เต่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไข่มีอัตราการฟักสูง
เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังการวางไข่ของแม่เต่าเพื่อติดตามว่าแม่เต่าตัวไหนขึ้นฝั่งมาไข่ หากเป็นแม่เต่าตัวใหม่ที่ยังไม่เคยมีประวัติก็จะฝังชิปให้บริเวณใต้ครีบหน้า บางครั้งแม่เต่าวางไข่แล้วไปพบรังทีหลังก็จะไม่ทราบว่าเป็นไข่ของแม่เต่าตัวไหน โดยเต่าตัวเมียจะผสมพันธุ์กับเต่าตัวผู้ได้หลายตัว และจะเก็บน้ำเชื้อของตัวผู้ไว้ในตัว เมื่อถึงเวลาวางไข่ก็จะฉีดน้ำเชื้อใส่ถุงไข่ เช่นเดียวกับตัวผู้ที่สามารถผสมพันธ์กับตัวเมียได้หลายตัว
แม่เต่าตัวหนึ่งจะวางไข่ได้หลายครั้ง แต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 15 วัน จากการฝังชิปเต่าและติดตามการวางไข่ทำให้ทราบว่าแม่เต่าบางตัววางไข่ได้มากถึง 6 รัง แต่บางตัววางไข่แค่ 2 รัง แต่ละรังมีไข่เฉลี่ยประมาณ 100-200 ฟอง และยังพบด้วยว่าแม่เต่าที่วางไข่ในช่วงเดือน ต.ค. จะมีอัตราการฟักของไข่น้อย เพราะเป็นช่วงที่เข้าใกล้ฤดูหนาวและมีมรสุม แต่เมื่อใช้หลอดไฟช่วยฟักก็มีอัตราฟักที่ดีขึ้น
เมื่อแม่เต่าวางไข่แล้ว เจ้าหน้าที่จะค่อยๆ เก็บไข่อย่างระมัดระวังไม่ให้ไข่เต่าพลิกหรือตะแคง เนื่องจากจะทำให้เต่าไม่ฟักเป็นตัว จากนั้นนำไปฟังในทรายให้มีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเผาพิพัธระบุว่าได้รับความช่วยเหลือด้านองค์ความรู้จากกองทัพเรือที่มีประสบการณ์ในการฟักและอนุบาลลูกเต่า และอุณหภูมินั้นมีผลต่อการกำหนดเพศลูกเต่า
วิธีการฟักไข่เต่านั้นจะฝังไข่ที่ริมหาดทรายด้วยความลึกที่ได้อุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม และใช้ถังพลาสติกขนาดใหญ่ครอบรังไว้ พร้อมทั้งกั้นเป็นคอก โดยในการอนุรักษ์ของมูลนิธิฯ นั้นจะควบคุมอุณหภูมิให้มีสัดส่วนของลูกเต่าตัวผู้และตัวเมียในจำนวนเท่าๆ กัน การระบุเพศเต่านั้นทำได้ยาก ต้องใช้วิธีผ่าดูอวัยวะเพศ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเต่าที่ฟักออกมานั้นเป็นตัวผู้และตัวเมียจำนวนเท่าไร
แม่เต่าที่ขึ้นมาวางไข่จะถูกฝังชิปเพื่อติดตามการวางไข่ เช่นเดียวกับลูกเต่าที่ได้รับการอนุบาลจนมีขนาดที่พร้อมปล่อยจะได้รับการฝังชิป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามได้เมื่อลูกเต่าตัวเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุประมาณ 10 ปีกลับมาวางไข่ แต่สำหรับลูกเต่าตัวผู้เมื่อลงทะเลแล้วจะไม่กลับขึ้นฝั่งอีก นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงร่วมกับมูลนิธิฯ เจาะเลือดเต่าเพื่อศึกษาความซ้ำของดีเอ็นเอเต่าตัวผู้แทน
ปัจจัยที่ทำให้เต่ากระขึ้นวางไข่ที่ชายหาดเกาะทะลุนั้น นายเผ่าพิพัธระบุว่า มีการศึกษาพบว่าแสงมีผลมากที่สุด โดยบนเกาะมีช่วงเวลามืดสนิทสม่ำเสมอตั้งแต่เวลา 18.30 น.ถึง 06.00 น.ส่วนลักษณะทรายบนเกาะก็ไม่แตกต่างจากทรายที่อื่น ทั้งนี้ ได้เริ่มปล่อยเต่าเมื่อปี พ.ศ.2554 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วปล่อยเต่าไปประมาณ 5,000-6,000 ตัว จึงคาดว่าจะมีแม่เต่าใหม่ๆ ขึ้นมาวางไข่ในปี พ.ศ.2564 แต่ได้เริ่มฝังชิปเต่าเมื่อปี พ.ศ.2556 ดังนั้นคาดว่าจะติดตามลูกเต่าที่ปล่อยได้แน่ชัดในปี พ.ศ.2566
นอกจากการช่วยฟื้นฟูประชากรเต่าแล้ว ทางเกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท ยังมีกิจกรรมปลูกปะการังเขากวาง โดยใช้ท่อพีวีซีเป็นรากเทียมให้ประการัง ซึ่งเผ่าพิพัธให้ข้อมูลว่า ในอดีตรอบเกาะทะลุอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปะการัง จนกระทั่งเกิดพายุเกถล่มเมื่อปี พ.ศ.2532 ได้สร้างความเสียหายแก่ปะการังจำนวนมากจนกลายเป็นสุสานปะการัง จึงมีแนวคิดฟื้นฟูปะการัง ซึ่งผลจากการดำเนินงานพบว่าปะการังเจริญเติบโตได้ค่อนข้างดีถึงปีละ 10 เซ็นติเมตร ขณะที่ตามปกติปะการังจะเติบโตเพียงปีละ 3-5 เซ็นติเมตร โดยปลูกปะการังมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 รวมแล้วจำนวน 80,000 กิ่ง
“จริงๆ แล้วเป็นจำนวนที่น้อยมากสำหรับปะการังที่เสียไป แต่ก็ทำให้คน 80,000 คนได้รู้จักและเห็นคุณค่าของปะการัง” เผ่าพิพัธกล่าว พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวนั้นกระตุ้นให้ปะการังเสียหายจำนวนมาก ซึ่งหลายครั้งเกิดจากความไม่ตั้งใจ แต่เป็นความพยายามเอาตัวรอดจึงเผลอไปเหยียบปะการัง ดังนั้น เขาจึงจัดกิจกรรมฝึกดำน้ำแบบ Skin Dive เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีทักษะในการดำน้ำ และสามารถเอาตัวรอดได้ ไม่ตื่นตกใจจนเผลอทำร้ายปะการัง
จากความสำเร็จในการดูแลทรัพยากรจากท้องทะเล พร้อมๆ กับการใช้ประโยชน์ของผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะทะลุนี้ รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่านสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า เป็นตัวอย่างให้นักวิจัยของ สกสว.ได้นำไปถอดบทเรียนและขยายผลต่อไป เพราะไม่ใช่ทุกพื้นที่จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันนี้