เมื่อหกศตวรรษก่อนคริสต์กาล ในอิตาลีมีนักบวชผู้แก่เรียนท่านหนึ่งนามว่า Dionysius Exiguus (คำนี้แปลเป็นไทยว่า เด็นนิสร่างเล็ก) แม้รูปร่างจะเป็นปมด้อย แต่เด็นนิสก็มีปมเด่นตรงที่เป็นผู้มีความรู้มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา หรือภาษาศาสตร์ เช่น ได้แปลตำราดาราศาสตร์หลายเล่มจากที่เขียนเป็นภาษากรีกเป็นภาษาละติน ทั้งๆ ที่เป็นบุรุษบ้านนอกจากเมือง Scythia ซึ่งอยู่นอกกรุงโรม แต่ก็ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโรม และเสียชีวิตเมื่อก่อนปี ค.ศ.550
โลกปัจจุบันรู้จักเด็นนิสว่าเป็นคนที่ได้กำหนดให้วันที่ 25 ธันวาคมของปี 743 (ตามปฏิทินโรมัน ซึ่งได้กำหนดให้เริ่มนับปีจากปีที่มีการสร้างกรุงโรม) เป็นวันเริ่มต้นของคริสต์ศักราช เพราะมีความคิดว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่พระเยซูประสูติ ดังนั้น ค.ศ.แรกคือ Anno Domini 1 (หรือ AD1)
การกำหนดคริสตศักราชโดยการยึดวันประสูติของพระเยซูทำให้คริสต์ศาสนิกชนในสมัยนั้นยินดีและยอมรับ จากนั้นทุกคนก็ได้กำหนดให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อน AD 1 เป็นปีก่อนคริสตศักราช (หรือ Before Christ BC)
แต่ Dionysius คำนวณปีที่พระเยซูประสูติผิดพลาด เพราะนักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมาได้ศึกษาและวิเคราะห์เอกสารต่างๆ ทางประวัติศาสตร์และดาราศาสตร์จากหลายแหล่ง จนได้พบว่าปีที่พระเยซูประสูติ แตกต่างไปจากปีที่ Dionysius คิด
วงการประวัติศาสตร์รู้ว่าไม่มีใครเคยบันทึกวันที่พระเยซูประสูติ เพราะตั้งแต่เด็กจนวัยหนุ่มไม่มีใครรู้จักพระองค์ หลังจากได้เทศนาจนกระทั่งมีอายุประมาณ 30 ปีที่ทะเลสาบ Galilee พระองค์ก็เป็นที่โจษจรรย์ว่าสามารถเทศนาได้ดีเลิศ อีกทั้งสามารถรักษาคนป่วยและคนพิการให้หายได้ อีก 3 ปีต่อมา ชาววัย 33 ปีคนนี้ก็ได้เดินทางถึงกรุง Jerusalem เพื่อเข้าฟังคำพิพากษา ถูกจับ และถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงถูกตัดสินให้นำตัวไปตรึงบนไม้กางเขน
สำหรับวันประสูติของพระเยซูนั้น แม้คัมภีร์ไบเบิลที่เขียนโดยนักบุญ Matthew และ Luke ก็มิได้ระบุปี เดือน และวันประสูติอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่อ้างถึงโดยทางอ้อมว่า วันเวลาที่ประสูติเป็นยุคของกษัตริย์ Herod มหาราชแห่งอาณาจักร Judaea และพระองค์ทรงประสูติที่หมู่บ้าน Bethlehem หลังจากที่พระมารดา Mary และพระบิดา Joseph ได้เดินทางมารายงานตัวที่ Bethlehem ตามบัญชาของ Herod ที่ให้ทหารฆ่าทารกเพศชายที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง 2 ขวบทุกคน
เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้ว่า ณ เวลาที่พระเยซูเสด็จมาพักอยู่ที่ Bethlehem กุมารเยซูต้องมีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป และเมื่อนักประวัติศาสตร์ยิวชื่อ Josephus ได้บันทึกว่า ในปีที่ Herod เสด็จสวรรคตได้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา การคำนวณทางดาราศาสตร์ย้อนหลังโดยนักดาราศาสตร์ปัจจุบันที่รู้วิถีโคจรของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์อย่างละเอียดตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคต ทำให้เรารู้ว่าหลังจากที่ทรงป่วยหนักเป็นเวลานาน กษัตริย์ Herod มหาราชก็ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ก่อนคริสต์ศักราช 4 ปี นั่นคือปี AD 4 ดังนั้นพระเยซูก็ต้องประสูติก่อน AD 4
คัมภีร์ไบเบิลยังได้กล่าวถึงปราชญ์สามคนแห่งกรุง Babylon ที่ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าทารกเยซูว่า ได้ใช้ดาวดวงหนึ่งที่สว่างสุกใสมากบนท้องฟ้าในการนำทาง ผู้คนที่สนใจดาวคริสตมาสจึงได้ตั้งประเด็นสงสัยว่าดาวคริสต์มาสเป็นดาวดวงใด การสืบค้นประวัติของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในอดีตทำให้รู้ว่า เมื่อก่อนคริสต์ศักราช 5 ปี นักดาราศาสตร์จีนได้บันทึกการเห็นดาวหางปรากฏบนท้องฟ้าเป็นเวลานาน 70 วัน แต่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันไม่เชื่อว่า ดาวคริสต์มาส คือ ดาวหาง ซึ่งเป็นดาวอัปมงคลสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงไม่ควรนำมาเชื่อมโยงกับวันประสูติของพระเยซู
ครั้นเมื่อ D. Hughes แห่งมหาวิทยาลัย Sheffield ในอังกฤษได้แสดงให้เห็นว่า ในทุก 139 ปี ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดีและโลกจะโคจรมาอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน การ “ซ้อน” กันของดาว (conjunction) ในลักษณะนี้ทำให้คนบนโลกเห็นดาวทั้งสองมีขนาดใหญ่และสว่างกว่าปกติ นอกจากเหตุผลนี้แล้วนักดาราศาสตร์ชาว Babylon ก็ยังเชื่อว่า ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวแห่งเทพ Jupiter และดาวเสาร์เป็นดาวแห่งเทพผู้พิทักษ์ชาวยิว ดังนั้นเมื่อดาวทั้งสองปรากฏตัวอยู่ตรงตำแหน่งหมู่ดาวปลา (Pisces) ซึ่งแทนประชากรชาวยิว นี่จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า ยิวจะได้ครอบครองดินแดน Judaea และเหตุการณ์ดาวซ้อนกันนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมก่อนคริสต์ศักราช 7 ปี (7 BC) การเห็นนี้ก็ยังตรงกับคำทำนายของโหรชาวยิวแห่งเมือง Sippar ในอาณาจักร Babylon ได้เคยทำนายไว้ว่า เมื่อใดที่ดาวเสาร์ “ซ้อน” ดาวพฤหัสบดี ในปีนั้นพระผู้ช่วยให้รอด (Messiah) จะลงมาจุติจากสวรรค์
วิธีคำนวณหาปีที่พระเยซูประสูติอาจสืบค้นได้อีกวิธีหนึ่งจากการรู้เวลาที่พระองค์ทรงเทศนา คัมภีร์ที่เขียนโดยนักบุญ Luke ได้ชี้ให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา หลังจากที่ได้ผ่านพิธีศีลจุ่มโดย John the Baptist แล้ว และเมื่อ John เริ่มทำพิธีศีลจุ่มเป็นครั้งแรกในยุคของจักรพรรดิ Tiberius Caesar ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พบว่า เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.28-29 ตัวเลขนี้จึงแสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องประสูติก่อนคริสต์ศักราชอย่างน้อย 1 ปี และการที่ Luke คิดว่า พระองค์ทรงมีพระชนมายุประมาณ 30 พรรษา ตัวเลขจริงอาจเป็น 32 หรือ 34 ก็ได้ ดังนั้น พระองค์จึงต้องมีพระชนม์ในยุคของกษัตริย์ Herod มหาราชอย่างแน่นอน
ในประเด็นเรื่องเดือนที่พระเยซูประสูติก็มีให้ขบคิด เพราะคัมภีร์ไบเบิลอ้างว่า ในช่วงเวลานั้น เด็กเลี้ยงแกะได้เห็นดาวคริสต์มาสเช่นกัน แต่เด็กจะไม่น่าจะนำแกะมาเลี้ยงกลางทุ่งหญ้าในฤดูหนาว คือในช่วงเดือนธันวาคมอย่างแน่นอน แต่ควรกระทำในฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วง ดังนั้นการอ้างว่าเดือนธันวาคมเป็นเดือนประสูติจึงเป็นการยึดเวลาที่พระนาง Mary ทรงตั้งครรภ์ นั่นคือวันที่พระเยซูทรงมาจุติ วันประสูติจึงน่าจะเป็นในอีก 10 เดือนต่อมาคือ ประมาณกลางเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม
ส่วนวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งถูกกำหนดเป็นวันคริสต์มาสนั้นก็ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันเทศกาลที่สำคัญ จนกระทั่งพระเยซูได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 350 ปี และการเลือกวันที่ 25 ธันวาคม เพราะเป็นวัน winter solstice ที่นับจากวันนี้ไป กลางวันจะนานกว่ากลางคืน อันเป็นลางดีที่แสดงให้เห็นว่า แสงธรรมจากพระเยซูได้เริ่มให้ความสว่างแก่โลกมนุษย์
จึงเป็นว่า พระเยซูได้ประสูติก่อนคริสต์ศักราชตั้งแต่ 5, 6 หรือ 7 ปี ดังนั้นปฏิทินที่เราใช้กันทุกวันนี้จึงช้ากว่าที่เป็นจริง 5, 6, 7 ปี นั่นคือ ปี 2019 ควรเป็นปี 2024, 2025 หรือ 2026
เวลาปีที่ผิดพลาดเกิดจากความบกพร่องในการนับ โดยนักบวช Dennis ร่างเล็กคนนั้น
สรุปว่า ไม่มีใครรู้วันประสูติของพระองค์ที่แน่นอน ที่รู้ก็โดยประมาณ โดยใช้เหตุผล และหลักฐานทั้งทางประวัติศาสตร์และศาสนา
สำหรับวันที่ทหารโรมันตรึงพระเยซูบนไม้กางเขนก็มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลเช่นกันว่า พระเยซูทรงถูกจับและทรงถูกไต่สวนโดยนายทหารชื่อ Sanhedrim และทรงถูกตัดสินพิพากษาโดยแม่ทัพชื่อ Pontius Pilate ให้พระองค์ทรงถูกโบยตีด้วยแส้ แล้วให้นำไปตรึงบนไม้กางเขน จนสิ้นพระชนม์ในอีก 6 ชั่วโมงต่อมา หลังจากที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ทหารคนหนึ่งได้ใช้หอกแทงพระปรัศว์ (สีข้าง) และบรรดาสานุศิษย์ทุกคนได้เห็นพระโลหิตไหลจากพระบาดแผล
ตามจารึกในคัมภีร์ของนักบุญ Mark พระเยซูถูกนำตัวไปตรึงบนไม้กางเขนเมื่อเวลาประมาณ 9 โมงเช้า และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลาบ่าย 3 โมง รายงานที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ Josephus เมื่อก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 3 ได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของปราชญ์ 3 คน คือ นักปรัชญา Socrates (ถูกบังคับให้กินยาพิษ) นักคณิตศาสตร์ Pythagoras (ถูกม็อบสังหาร) และพระเยซู (ถูกตรึงบนไม้กางเขน) แต่มิได้ระบุวันที่ใดๆ เพียงแต่บอกว่าวันสวรรคตของพระเยซูเป็นวันศุกร์ที่ใกล้เทศกาล Passover ในยุคที่แม่ทัพ Pontius Pilate กำลังปกครองอาณาจักร Judaea ตั้งแต่ ค.ศ.26-36 แต่นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันหลายคนคิดว่า วันตรึงน่าจะเป็นศุกร์ที่ 3 เมษายน ค.ศ.33 และพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ เพราะพระหทัยล้มเหลวเนื่องจากการเสียพระโลหิตในปริมาณมาก จนช็อกหมดแรง
ในส่วนของสถานที่ตรึงพระเยซูนั้น คัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงพระเยซูว่า พระองค์ทรงแบกไม้กางเขนขนาดใหญ่ไปที่สถานประหาร Golgotha (ซึ่งเป็นคำในภาษา Aramaic ที่พระเยซูใช้พูด และมีความหมายว่า สถานที่มีกะโหลกศีรษะจำนวนมาก) ซึ่งเป็นบริเวณนอกเมือง Jerusalem ไปทางทิศเหนือ
ในการกล่าวถึงเหตุการณ์วันสิ้นพระชนม์ก็มีบันทึกว่า ท้องฟ้าเหนือ Judaea ในเวลากลางวันมืดนาน 3 ชั่วโมงก็ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนักดาราศาสตร์ไม่พบปรากฏการณ์สุริยุปราคาเหนือ Judaea เลย ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า ผู้เขียนได้แต่งเติมเหตุการณ์ให้ดูอัศจรรย์ เป็นการเพิ่ม drama ให้เห็นความสำคัญ เช่นเดียวกับวันสวรรคตของกษัตริย์ในยุคนั้น
Isaac Newton คิดว่า วันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์น่าจะเป็นวันที่ 23 เมษายน ค.ศ.34 แต่นักประวัติศาสตร์คิดว่า มี 2 วันที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ วันที่ 7 เมษายน ค.ศ.30 กับวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.33
สำหรับเหตุการณ์อื่นๆ ที่มิได้เกี่ยวข้องกับศาสนา เราหลายคนคงสงสัยว่า นักประวัติศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่า จักรพรรดิ Alexander มหาราชแห่งอาณาจักร Macedonia ทรงพิชิตกองทัพเปอร์เซียภายใต้การนำของกษัตริย์ Darius ที่ 3 ได้อย่างราบคาบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ก่อนคริสตศักราช 331 ปี (331 BC) ที่สมรภูมิใกล้เมือง Gaugamela (ในประเทศอิรักปัจจุบัน) หรือสุลต่าน Saladin แห่งอียิปต์และซีเรียทรงกรีฑากองทัพมุสลิมเข้ายึดเมือง Ashqelon ในประเทศอิสราเอลได้ จากกองทัพนักรบครูเสดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1187 จากนั้นได้ยึดครองเมือง Jerusalem ต่อ
การรู้วันที่เกิดเหตุก็ยังนับว่าดียังไม่พอ เพราะในบางเหตุการณ์นักประวัติศาสตร์สามารถรู้เวลาที่เกิดด้วย การที่นักประวัติศาสตร์สามารถทำได้ เพราะชาวกรีกโบราณมีประเพณีนิยมรูปแบบหนึ่งคือ ชอบบันทึกชื่อของหัวหน้าคณะผู้พิพากษาแห่งนคร Athens ทุกปี ดังเช่นเมื่อเกิดสงครามระหว่างชาวกรีกกับชาว Sparta ในปีก่อนคริสตศักราช 431 ปี นักประวัติศาสตร์ในเวลานั้นได้บันทึกว่า หัวหน้าคณะผู้พิพากษาแห่งนคร Athens มีชื่อว่า Pythodorus และเมื่อกองทัพชาว Carthage ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแอฟริกาตอนเหนือได้บุกโจมตีเกาะ Sicily ของอาณาจักรโรมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นักประวัติศาสตร์ในเวลานั้นก็อ้างว่า ในเวลานั้น เมือง Athens มี Hieromemnon เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษา เป็นต้น
ตั้งแต่เมื่อก่อนคริสตกาลประมาณ 700 ปี ทุกปี ชาว Athens จะมีการลงคะแนนเลือกหัวหน้าคณะผู้พิพากษา ดังนั้น การจะเทียบปีที่เกิดเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็สามารถจะรู้ได้ ถ้ารู้ชื่อหัวหน้าคณะผู้พิพากษาประจำกรุง Athens ในเวลานั้น โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์โรมันชื่อ Diodorus แห่งเกาะ Sicily ได้บันทึกชื่อของหัวหน้าคณะผู้พิพากษาทุกคน ตั้งแต่เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาลจนกระทั่งถึงเมื่อ 300 ปีก่อนคริสตกาล
ตั้งแต่สมัยโบราณชาวอียิปต์ บาบิโลน จีน กรีก ฮินดู และโรมัน ต่างก็มีปฏิทินของชาติที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กำหนดวันสำคัญต่างๆ ทางศาสนา และเพื่อช่วยคนทั่วไปได้รู้เวลาที่ชาวนาจะเริ่มต้นทำเกษตรกรรม แต่การบันทึกเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ตามปฏิทินของชาติแต่ละชาติจะไม่ตรงกับปฏิทินของชาติอื่นๆ ดังนั้นโลกจึงมีปฏิทินมุสลิม ปฏิทินมายา ปฏิทิน Gregorian (ในยุคสันตะปาปา Gregorian ที่ 13) และปฏิทิน Julian ที่นักดาราศาสตร์ชื่อ Christopher Clavius ได้แก้ไข และถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1582
ครั้นเมื่อนักประวัติศาสตร์ปัจจุบันต้องการจะวิเคราะห์ความถูกต้องหรือความผิดพลาดของปฏิทินโบราณ เพื่อให้รู้วัน เดือน ปีที่เกิดเหตุการณ์ตามปฏิทินปัจจุบัน เขาก็ประสบปัญหาอีก เช่น ปฏิทินโรมันที่นิยมใช้ เมื่อ 190 ปีก่อนคริสตกาลนั้นได้กำหนดวันปีใหม่ผิดพลาดไป 117 วัน จนอีก 22 ปีต่อมา ความผิดพลาดได้ถูกปรับลดลงเหลือ 72 วัน แต่เมื่อถึงเมื่อ 46 ปีก่อนคริสตกาล ความผิดพลาดกลับเพิ่มเป็น 90 วัน ดังนั้นจึงไม่มีใครรู้ว่า วันที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นตรงกับวันใดกันแน่ในปฏิทินปัจจุบัน
แต่เมื่อถึงวันนี้ ความหวังที่จะรู้วันที่เกิดเหตุการณ์เฉพาะบางเหตุการณ์ มีโอกาสจะเป็นจริงได้ เพราะนักประวัติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงวันที่เกิดเหตุการณ์ กับวันที่นักดาราศาสตร์ได้บันทึกว่าเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาในปีนั้น
เช่น กวีกรีกชื่อ Archilochus ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล และกวี Pindar ซึ่งมีชีวิตในช่วง 5 ศตวรรษก่อนคริสตกาล เป็นคนชอบจดบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และมักกล่าวถึงปรากฏการณ์อุปราคาที่เกิดในปีนั้นด้วย การอ้างถึงในลักษณะนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์ปัจจุบันสามารถคำนวณย้อนหลังไปได้ว่า เหตุการณ์ต่างๆ จริงเกิดขึ้นในปีใด โดยใช้คอมพิวเตอร์คำนวณวิถีโคจรของดวงจันทร์รอบโลก และของโลกรอบดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำ จนสามารถตอบคำถามได้ว่าท้องฟ้าเหนือบริเวณและสถานที่ทุกหนแห่งบนโลก ณ เวลาย้อนหลังไปหลายพันปีก่อนได้ว่า บนท้องฟ้ามีดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ดวงใดอยู่ ณ ตำแหน่งใด วันจันทร์เพ็ญเต็มดวงเกิดขึ้นเมื่อใด รวมถึงวันทั้งหลายที่เกิดอุปราคาด้วย
ดังกรณีสุลต่าน Saladin ในสงครามครูเสดเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระองค์ทรงให้อาลักษณ์ในพระองค์นาม Imad-ed-din จดบันทึกว่า ในวันที่กองทัพภายใต้การนำของพระองค์จะเดินทางข้ามแม่น้ำ Orontes (ในซีเรีย) ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ทำให้ท้องฟ้าในเวลากลางวันมืดสลัว และดาวต่างๆ ได้ออกมาปรากฏบนฟ้า และวันที่เกิดเหตุการณ์สวรรค์มืดครั้งนั้น ปราชญ์ Imad-ed-din ได้ระบุว่าเป็นเดือน Ramadon ของปี Hegira ที่องค์ศาสดา Mohammed เสด็จหนีจาก Mecca ไป Medina
คำจารึกที่กล่าวถึงเดือนที่เกิดสุริยุปราคานั้นถูกต้อง แต่ปีที่เกิดเหตุการณ์ผิดพลาด เพราะควรเป็นปี ค.ศ.1176 ดังนั้นกองทัพ Saladin จึงข้ามแม่น้ำ Orontes เมื่อวันที่ 11 เมษายน ปีค.ศ.1176 เวลา 7 โมงเช้า ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง เพราะนักประวัติศาสตร์ซีเรียก็ได้เห็นเหตุการณ์สุริยุปราคาเดียวกันที่เมือง Antioch ซึ่งได้ทำให้ประชาชนและผู้คนในเมืองตกใจกลัว เพราะความมืดได้เข้ามาครอบคลุมเมืองนาน 2 ชั่วโมง (เวลานาน 2 ชั่วโมงนั้นเกินจริง แต่อาจเป็นที่เข้าใจได้ว่า บรรดาคนที่เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ตกใจกลัว จนลืมจับเวลา)
อีก 11 ปีต่อมา เมื่อกองทัพ Crusade ในเมือง Asqalon ของประเทศอิสราเอลประสบความพ่ายแพ้ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาก็ได้เกิดอีก การคำนวณทางดาราศาสตร์แสดงให้เห็นว่า วันที่สวรรค์สลัวเป็นวันศุกร์ที่ 4 กันยายน ค.ศ.1187 เวลาบ่าย 2.20 น. และเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาไม่เต็มดวง เพราะ 91% ของดวงอาทิตย์ได้ถูกดวงจันทร์บดบัง ลางร้ายนี้ได้เตือนให้ชาวคริสเตียนทุกคนเริ่มทำใจ เพราะเมื่อถึงวันที่ 2 ตุลาคม กองทัพมุสลิมก็บุกยึดกรุง Jerusalem ได้
โลกมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏการณ์อุปราคาได้ช่วยให้นักประวัติศาสตร์รู้วัน เวลาที่แท้จริง (ตามปฏิทินปัจจุบัน) ของเหตุการณ์ คือ เมื่อจักรพรรดิ Xerxes แห่งอาณาจักรเปอร์เซีย ซึ่งทรงครองราชย์ในช่วงเวลา 486-465 ปีก่อนคริสตกาล ได้กรีฑาทัพบุกประเทศกรีซเมื่อ 480 ปีก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงยกทัพข้ามช่องแคบ Dardanelles และอีก 15 ปีต่อมา พระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์โดยพระโอรส ที่เมือง Persepolis คำถามที่นักประวัติศาสตร์ต้องการจะรู้คำตอบคือ นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันมั่นใจได้เพียงใดว่า วันเวลาที่นักประวัติศาสตร์เขียนบันทึกนั้นถูกต้องตรงกับความจริง เพราะแม้แต่วันประสูติของจักรพรรดิของ Xerxes ก็ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดรู้แน่ชัด แต่โชคก็ยังมีบ้าง เพราะในปีที่พระองค์เสด็จสวรรคต บันทึกที่ถูกจารึกในรูปของอักษรลิ่มโดยนักดาราศาสตร์ชาวบาบิโลน (ปัจจุบันอักษรลิ่มนั้นถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษ) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ว่า ในปีนั้นมีดาวหาง Halley มาปรากฏ การคำนวณเวลาที่ Halley ปรากฏทุกครั้งในอดีตทำให้นักประวัติศาสตร์รู้ปีที่จักรพรรดิ Xerxes สิ้นพระชนม์
ชาวบาบิโลนก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่สนใจจันทรุปราคา และได้บันทึกการเห็นทุกครั้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อ 609 จนถึงเมื่อ 465 ปีก่อนคริสตกาล ข้อมูลที่ได้จึงยืนยันอีกว่า Xerxes สิ้นพระชนม์เมื่อ 465 ปีก่อนคริสตกาล และนักประวัติศาสตร์สามารถบอกวันที่และเดือนที่พระองค์เสด็จสวรรคตได้อย่างประมาณว่า อยู่ระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคม
ด้านอาณาจักร Persia ซึ่งได้ล่มสลายไปหลังจากที่กองทัพของกษัตริย์ Darius ที่ 3 พ่ายแพ้ต่อกองทัพจักรพรรดิ Alexander มหาราช และพระเจ้า Darius ที่ 3 ทรงถูกปลงพระชนม์ นักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ Plutarch กับ Arrian ได้บันทึกการเห็นเหตุการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงว่าได้เกิดขึ้นเมื่อ 11 วันก่อนจะมีการสู้รบจริง และในปีนั้นที่กรุง Athens มีหัวหน้าผู้พิพากษาชื่อ Aristophanes ซึ่งเป็นการยืนยันอีกว่า ปีนั้นเป็นเวลา 331 ปีก่อนคริสตกาล และการคำนวณเหตุการณ์ดาราศาสตร์ย้อนหลังก็ได้ระบุว่า เวลาที่เกิดเหตุการณ์เป็นวันที่ 20 กันยายน เพราะในวันนั้นบริเวณที่มีการสู้รบคือ Gaugamela ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้คนเห็นจันทรุปราคา และอีก 10 วันต่อมาคือวันที่ 1 ตุลาคม จักรพรรดิ Alexander มหาราชก็ได้สถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักร Persia
ใครรู้บ้างว่า พระพุทธเจ้า ประสูติวันที่เท่าไร และเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเป็นวัน เดือน ปีอะไร
อ่านเพิ่มเติมจาก Eclipse โดย Bryan Brewer จัดพิมพ์โดย Earth View Inc. ปี 1978
และ The Historical Figure of Jesus โดย E.P.Sanders จัดพิมพ์โดย Penguin ปี 1993
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์