xs
xsm
sm
md
lg

วัดฮินดูในอินเดียอนุบาลตะพาบไม่ให้สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ตะพาบดำบังคลาเทศกำลังกินอาหารในบึงภายในวัดฮายาคริวามธวะ (Biju BORO / AFP)
ในอดีต “ตะพาบหน้าดำบังคลาเทศ” เคยพบได้ดาษดื่นตามแหล่งน้ำจืดในอินเดีย และยังเป็นอาหารสำหรับชาวท้องถิ่น แต่การล่ามากเกินไปและการสูญเสียแหล่งอาศัยเป็นเหตุให้ตะพาบชนิดนี้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แต่วัดเก่าแก่ในอินเดียได้ใช้เมตตาช่วยขยายพันธุ์ตะพาบหายากนี้

ครั้งหนึ่งตามแหล่งน้ำธรรมชาติทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐอัสสัม เคยเต็มไปด้วยตะพาบหน้าดำบังคลาเทศ (black softshell turtle) แต่การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการล่าเกินพอดีเนื่องจากเป็นอาหารที่นิยมของชาวท้องถิ่น เป็นเหตุให้ประชากรตะพาบหมดสิ้นไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

เมื่อปี ค.ศ.2002 ตะพาบหน้าดำบังคลาเทศถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ขณะที่ตะพาบน้ำคงคาหรือตะพาบน้ำอินเดีย (Indian softshell turtle) และตะพาบนกยูงอินเดีย (Indian peacock softshell turtle) ถูกจัดให้อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ทว่า บึง ณ วัดฮายัคริวา มธวะ (Hayagriva Madhav temple) ภายในอาณาเขตของศูนย์จาริกแสวงบุญฮาโช (Hajo pilgrimage centre) ของชาวฮินดูนั้น เป็นเหมือนบึงสวรรค์สำหรับเหล่าตะพาบที่กำลังจะสูญพันธุ์นี้ เพราะตะพาบภายในวัดนี้มีสถานะเป็นที่สักการะบูชา จึงช่วยให้พวกมันรอดพ้นจากอันตราย

“มีเต่ามีตะพาบมากมายภายในบึงของวัดนี้” ชยาทิตยา ปูรกายาสถา (Jayaditya Purkayastha) จากกลุ่มอนุรักษ์กูดเอิร์ธ (Good Earth) ที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของวัดทำโครงการเพื่อขยายพันธุ์ตะพาบ บอกเอเอฟพีว่า ประชากรเต่าในอัสสัมนั้นลดจำนวนลงไปมหาศาล จึงมีความคิดว่าเราต้องยื่นมือเข้าไปช่วย และทำอะไรบางอย่างเพื่อพิทักษ์สิ่งมีชีวิตสปีชีส์นี้จากการสูญพันธุ์

ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เต่ากลุ่มแรกที่ปูรกายาสถาฟักออกมา 35 ตัว และในจำนวนนั้นมีตะพาบดำบังคลาเทศด้วย 16 ตัว ถูกปล่อยในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่อยู่ใกล้ๆ วัด

โครงการนี้ผู้มีส่วนสำคัญคือ ปรานับ มาลาการ์ (Pranab Malakar) เจ้าหน้าที่ดูแลบึงของวัด ที่เคยเป็นนักอนุรักษ์มายาวนาน ก่อนที่จะผันตัวมาทำหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของเต่าและตะพาบ โดยเขาได้เปิดเผยว่าคุ้นเคยกับการดูแลเต่าเพราะความชื่นชอบส่วนตัว และหลังจากที่ได้ร่วมมือกับทางกลุ่มอนุรักษ์กูดเอิร์ธ ภารกิจดังกล่าวก็กลายเป็นความรับผิดชอบของเขา

“ที่นี่ไม่มีใครทำอันตรายเต่าและตะพาบ เพราะพวกมันเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ผมเกิดและโตที่นี่ เราได้เห็นเต่าและตะพาบมาตั้งแต่พวกเรายังเป็นเด็ก ผู้คนเคารพบูชาเต่าและตะพาบเหล่านี้” มาลาการ์กล่าว

มาลาการ์จะเก็บรวบรวมไข่เต่าและไข่ตะพาบตามตลิ่งที่เป็นดินทรายรอบๆ บึงของวัด โดยก่อนหน้านี้มีตลิ่งที่สร้างจากคอนกรีต แต่ก็ถูกรื้อออกไปแล้วหลายปี จากนั้นค่อยๆ วางใส่เครื่องฟักไข่อย่างระมัดระวัง

โครงการอนุรักษ์ของกูดเอิร์ธนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่งผลให้ทางกลุ่มกำลังคัดเลือกวัดอื่นๆ อีกประมาณ 18 วัด ที่อยู่ในระแวกเดียวกัน เพื่อทำภารกิจคล้ายๆ กันนี้ แต่ก็ยังมีความท้าทายสำหรับโครงการอนุรักษ์เต่าและตะพาบนี้ โดยเฉพาะค่านิยมของผู้มาเยือนวัด ที่มักจะโยนขนมปังหรืออาหารต่างๆ ให้เต่าและตะพาบ

ปูรกายาสถาชี้ปัญหาว่า พฤติกรรมของผู้ไปเยือนวัดที่ให้อาหารเต่าและตะพาบดังกล่าว จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาในหมู่เต่าและตะพาบที่อาศัยอยู่ในบึงของวัด อีกทั้งเต่าและตะพาบเหล่านี้ยังจะสูญเสียนิสัยตามธรรมชาติในการล่าหาอาหารด้วย
ปรานับ มาลาการ์ เก็บไข่เต่าและตะพาบริมบึง เพื่อนำไปฟัก (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ ฉีดพ่นละอองน้ำในกล่องที่บรรจุไข่และตะพาบ ซึ่งเก็บขึ้นจากตลิ่งริมบึง (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ ฉีดพ่นละอองน้ำในกล่องที่บรรจุไข่และตะพาบ ซึ่งเก็บขึ้นจากตลิ่งริมบึง (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ ตรวจสอบกล่องที่บรรจุไข่เต่าและไข่ตะพาบ (Biju BORO / AFP)
ชาวฮินดูและลูกเฝ้าดูตะพาบดำบังคลาเทศกินอาหารริมบึงของวัดฮายาคริวามธวะ (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ เก็บไข่เต่าและตะพาบริมบึง เพื่อนำไปฟัก (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ เก็บไข่เต่าและตะพาบริมบึง เพื่อนำไปฟัก (Biju BORO / AFP)
ปรานับ มาลาการ์ อุ้มเต่าที่อยู่ริมบึง (Biju BORO / AFP)
ผู้ศรัทธาไปเยือน วัดฮายาคริวามธวะ  (Biju BORO / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น