xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง "ชิมแปนซี" สัตว์โลกที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์ 98% สูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ชิมแปนซีสิ่งมีชีวิตที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์ที่สุดกำลังจะสญพันธุ์ (AFP Photo/ROB ELLIOTT)
นักวิทย์เป็นห่วงประชากรลิงชิมแปนซีในธรรมชาติลดจำนวนลง ทั้งการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยจากการถางป่า และการล่าเพื่อเป็นอาหาร ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด เหลือน้อยลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเมทแสดงความเป็นห่วงว่า ประชากรไพรเมทแอฟริกัน 4 สปีชีส์ย่อย เสี่ยงจะสูญพันธุ์ โดยในจำนวนนั้น 1 สปีชีส์ย่อยคือชิมแปนซีตะวันตก (western chimpanzee) ได้ลดจำนวนลงถึง 80% ภายใน 3 ช่วรุ่น ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของเมือง และการล่าเป็นอาหาร

รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า เป็นความห่วงใยจากผู้เชี่ยวชาญชิมแปนซีจากทั่วโลกกว่า 40 คน ซึ่งล้วนมีองค์ความรู้ที่สะสมมานานกว่า 300 ปีเกี่ยวกับญาติใกล้ทางพันธุกรรมของมนุษย์กว่า 98%

“นานหลายทศวรรษแล้วที่เราได้ศึกษาเกี่ยวกับชิมแปนซีในธรรมชาติ และเราต่างได้เห็นว่ากลุ่มประชากรที่เราศึกษานั้นโดดเดี่ยวมากขึ้น ชิมแปนซีกำลังลดจำนวนลงจนเหลือเพียงประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่แออัดในมุมหนึ่งของป่า” ผู้เชี่ยวชาญแถลง

สาเหตุหลักของการคุกคามลิงชิมแปนซีและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย สำหรับแอฟริกายังคงมีทุ่งหญ้าสวันนาและป่าที่ไม่ถูกรุกราน แต่พื้นที่เหล่านั้นก็กำลังลดลงเนื่องจากการเติบโตของเมือง การทำเหมือง การทำลายป่า และการทำเกษตรอุตสาหกรรม

ในขณะที่ประชากรมนุษย์ปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 พันล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในตวรรษนี้ และอาจจะเพิ่มไปถึง 4 พันล้านคนในช่วงปลายศตวรรษ แต่จำนวนประชากรลิงชิมแปนซี 3 สปีชีส์ย่อยเหลือเพียงหลักพัน กับลิงชิมแปนซีตะวันออกที่เหลือประมาณ 250,000 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่พบอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ส่วนชิมแปนซีตะวันตกได้สาบสูญไปจากประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกอย่าง เบอร์กินาฟาโซ, เบนิน, แกมเบีย และอาจรวมถึงโตโก ไปเรียบร้อยแล้วด้วย

คริสโตเฟอร์ เบอสช์ (Christopher Boesch) ศาสตราจารย์ประจำสถาบันมานุษยวิทยาวิวัฒนาการมักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) ในไลป์ซิก เยอรมนี เล่าเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ทีมของเขาขับรถไปตามเส้นทางที่เป็นโคลนเลนสู่อุทยานแห่งชาติไต (Tai National Park) ในไอเวอรีโคสต์ ซึ่งในระยะ 100 กิโลเมตรก่อนถึงเขตอุทยาน ก็ได้พบทั้งชิมแปนซีและช้าง แต่ทุกวันต้องไปให้ถึงเขตอุทยานจึงจะเห็นสักฝูงอยู่ในป่า

ด้าน คริเกตต์ ซานซ์ (Crickette Sanz) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ในมิสซูรี ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในสามเหลี่ยมกัวลูโก (Goualougo Triangle) ของคองโกนานหลายทศวรรษ กล่าวว่า การรกรานของมนุษย์และการล่าชิมแปนซีเพื่อเป็น “อาหารป่า” ได้กระตุ้นให้สังคมและพฤติกรรมของชิมแปนซีเปลี่ยนไป

“คั้รงแรกที่เราไปป่านโดกี (Ndoki forest) ชิมแปนซีเข้ามาหาด้วยความสงสัยใคร่รู้ แต่ตอนนี้พวกมันกลับซ่อนตัว มันเป็นเรื่องฉลาดที่พวกมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การอยู่รอดของพวกมันขึ้นอยู่กับเรื่องนี้” ซานซ์กล่าว

จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ยังเปรียบเทียบด้วยว่า ชิมแปนซีที่อยู่ในพื้นที่ถูกคุกคามโดยมนุษย์ มีหลากหลายของพฤติกรรมการเรียนรู้น้อยกว่า ชิมแปนซีที่อาศัยอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากลุ่มประชากรชิมแปนซีราวๆ 150 กลุ่ม จาก 17 ประเทศ และจำแนกพฤติกรรมออกเป็น 31 อย่าง เช่น การกระเทาะเปลือกถั่วหนาๆ การใช้เครื่องมือทลายรังปลวกหรือมด การเก็บน้ำผึ้ง การโยนหินเพื่อสื่อสาร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

ยิ่งมนุษย์ผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ ทั้งการสร้างถนน การตัดไม้เปิดเส้นทาง การเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์ม ยิ่งทำให้พฤติกรรมต่างเหล่านี้ ลดทอนความหลากหลายลง

ทั้งนี้ บรรพบุรุษร่วมระหว่างมนุษย์และชิมแปนซีตัวสุดท้ายอาศัยอยู่บนโลกนี้เมื่อปรมาณ 7 ล้านปีก่อน ซึ่ง มาร์ติน เซอร์เบค (Martin Surbeck) นักไพรเมทวิทยา สถาบันมานุษยวิทยาวิวัฒนาการมักซ์พลังก์ กล่าวว่า เราอาจไม่ไดวิวัฒนาการมาจากลิงโบโนโบหรือชิมแปนซี แต่เราและไพรเมทเหล่านั้นก็มีบรรพบุรุษร่วมกัน

ส่วน เออร์วิน เดอวอร์ (Irven DeVore) นักมานุษยวิทยาผู้โด่งดัง เคยแสดงความแปลกใจที่เราเพิกเฉยต่อญาติไพรเมทที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่า เราจะต้องทุ่มเงินไปเท่าไหร่ในการท่องอวกาศเพื่อค้นพบสิ่งมีชีวิตที่มีพันธุกรรมใกล้เคียงกับเราถึง 98% ขณะที่มีสิ่งมีชีวิตแบบนั้นอยู่บนโลกแล้ว แต่เรากลับปล่อยให้พวกเขาเผชิญการสูญพันธุ์
ชิมแปนซี สิ่งมีชีวิตที่มีบรรพบุรุษร่วมกับมนุษย์เมื่อ 7 ล้านปีที่แล้ว  (AFP Photo/GUILLAUME SOUVANT)
ป้ายรณรงค์งดกินเนื้อลิง (AFP Photo/STR)
เขตฟื้นฟูถิ่นอาศัยชิมแปนซี (AFP Photo/STR)


กำลังโหลดความคิดเห็น