xs
xsm
sm
md
lg

กินจาน ช่วยโลก ไม่ต้องทิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ม้าในกรุงวอร์ซอ โปแลนด์ กินจานที่ผลิตมาเพื่อกินและย่อยสลายได้  (Janek SKARZYNSKI / AFP )

นักประดิษฐ์ชาวโปแลนด์สร้างเทคโนโลยีช่วยอนุรักษ์โลก ผลิตจานกินได้จากรำข้าวสาลี เป็นแผ่นสีน้ำตาลกรอบๆ มีเส้นใยอาหารสูง คล้ายแผ่นซีเรียลแห้ง แต่ไม่มีรสชาติ


เจอร์ซี ไวซอคกี (Jerzy Wysocki) นักประดิษฐ์และนักลงทุนชาวโปแลนด์ พัฒนาเทคโนโลยีผลิตจานกินได้จากเส้นใยข้าวสาลี โดยเขาได้ให้ความเห็นแก่ผู้สื่อข่าวว่า เนื้อหมูพอร์กชอปที่อยู่บนจานข้าวสาลีนี้ อร่อยกว่าที่วางบนจานพลาสติก


ทั้งนี้ โรงงานผลิตจานกินได้นี้คือโรงงานไบโอเทรม (Biotrem) ตั้งอยู่ที่เมืองซัมบรูฟ (Zambrow) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ ซึ่งหากลองชิมจานกินได้นี้จะพบว่าไม่มีรสชาติและเหมือนแผ่นซีเรียลแห้งๆ แต่ไวซอคกีกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญคือจานกินได้นี้ย่อยสลายได้


นักประดิษฐ์วัย 60 ปีผู้นี้ประดิษฐ์จานกินได้เมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว และทุกวันนี้โรงงานไบโอเทรมก็ผลิตจานได้ถึงปีละประมาณ 15 ล้านใบ และคาดว่าปริมาณจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก เมื่อสหภาพยุโรปตัดสินใจห้ามใช้จานและอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารจากพลาสติกในปี ค.ศ.2021 ที่จะถึงนี้


ในฐานะที่เป็นทั้งลูกชายและหลานชายเจ้าของโรงโม่แป้ง ไวซอคกีจึงได้แนวคิดในการผลิตอุปกรณ์บนอาหารจากข้าวสาลีนี้ จากความพยายามหาวิธีใช้ประโยชน์ของเหลือทิ้งจากการผลิตแป้งสาลี ซึ่งต้องใช้พื้นที่จำนวนมากในการกำจัด แต่เขาก็บอกด้วยว่า นอกจากนี้เขายังมีแรงผลักดันจากความปรารถนาที่ดี เพราะปัญหาขยะในทะเลเป็นเรื่องใหญ่และกำลังคุกคามโลก


“ในการผลิตจานกินได้นี้ เราใช้เพียงรำข้าวสาลี ซึ่งเรานำไปอัดด้วยแรงดันและอุณหภูมิที่แม่นยำ โดยใช้เครื่องจักรที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อการนี้” ไวชอคกีกล่าว


ด้าน มัลกอร์ซาตา เธน (Malgorzata Then) ประธานกรรมการผู้บริหารไบโอเทรม ให้ข้อมูลว่าจานกินได้นี้ราคา 15 เซนต์ยูโร ซึ่งแพงกว่าจานพลาสติก 20% แต่ก็เสริมว่า ราคาจานพลาสติกในปัจจุบันนี้ ไม่ได้รวมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย การรีไซเคิลและมลภาวะทางทะเล


เธนบอกว่า แรกเริ่มทางบริษัทมองหาลูกค้าที่มีแนวโน้มคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างภัตตาคารและโรงแรมซึ่งต้องการนำเสนอสินค้าและบริการที่สร้างสรรค์ แต่ตอนนี้ด้วยข้อกำหนดของสภาพยุโรป ทำให้ลูกค้าบางรายที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากนัก ก็ถูกบังคับให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายทางชีวภาพ
ไบโอเทรมส่งออกจานกินได้ไปทั้งยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย โดยลูกค้าจากออสเตรเลียยังขอให้ตรวจสอบด้วยว่า จานย่อยสลายได้นี้เป็นมิตรต่อไส้เดือนด้วยหรือไม่


“นี่เป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็มากพอสำหรับเราที่จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเพื่ออนาคต” ไวซอคกีกล่าว


ทั้งนี้ เทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็น่าจะใช้ผลิตจานกินได้จากผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวลาร์เลย์ มันสำปะหลัง รวมถึงสาหร่าย ซึ่งทางไวซอคกีก็ให้ข้อมูลว่าเมื่อใช้มันสำปะหลังจะได้จานที่ให้รสชาติที่ดี ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่สนใจสินค้าจากมันสำปะหลัง


ทางด้านไอโอเทรมยังคาดหวังว่าจะขยายการผลิตสู่กล่องกินได้สำหรับบรรจุอาหารแบบนำกลับหรือสำหรับใช้ในงานจัดเลี้ยง ซึ่งตอนนี้งานวิจัยมาถึงระยะใกล้ประสบความสำเร็จแล้ว โดยเหลือเพียงพัฒนาให้กล่องอาหารนั้นทนของเหลวและความร้อนได้มากขึ้น


ทั้งนี้ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องกินจานหรือบรรจุภัณฑ์กินได้นี้ เพราะเป้าหมายของบรรจุภัณฑ์อาหารนี้คือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มีความชื้นเล็กน้อย ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีนี้ก็จะย่อยสลายได้ภายใน 1 เดือน หรือหากฝนตกก็ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์


เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ไบโอเทรมไม่ใช่รายเดียวในโปแลนด์ที่ก้าวมาอยู่แถวหน้าเพื่อทำสงครามกับพลาสติก ยังมีนักวิจัยจากภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกดัญสก์ (Gdansk University of Technology) ที่ได้พัฒนาวิธีผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้จากมันฝรั่ง ทำให้ได้ช้อน ส้อมและมีดที่เต่ากินได้อย่างปลอดภัย


“เราเป็นรายเดียวเท่าที่มีการทดสอบความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์เราต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และดูเหมือนว่าเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเหล่านี้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม” ศาสตราจารย์เฮเลนา จานิก (Helena Janik) จากมหาวิทยาลัยกดัญสก์บอกเอเอฟพี


ด้าน โรเบิร์ต บัจโก (Robert Bajko) ผู้ขายนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้แก่นักลงทุน ระบุว่า เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารนี้ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อน หรือใช้เงินลงทุนมหาศาล ใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลาสติกอยู่แล้ว ก็สามารถเริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ได้ “เพียงชั่วข้ามคืน”

เครื่องจักรในโรงงานไบโอเทรม กำลังผลิตจานกินได้ (Janek SKARZYNSKI / AFP)
คนงานในโรงงานไบโอเทรมจัดเรียงจานกินได้  (Janek SKARZYNSKI / AFP)
เจอร์ซี ไวซอคกี ผู้ประดิษฐ์งานกินได้ทดลองชิมจานที่ผลิตจากรำข้าวสาลี  (Janek SKARZYNSKI / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น