xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์ไม่โอเค “ดาวเทียมอินเทอร์เน็ต” บดบังการศึกษาอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากคลิปวิดีโอของนักดาราศาสตร์เนเธอร์แลนด์ เผยให้เห็นดาวเทียมสตาร์ลิงก์ของสเปซเอกซ์สว่างเรียงแถวเป็นแนวยาว ซึ่งสร้างความกังวลว่าแสดงสว่างจะรบกวนการศึกษาดาราศาสตร์ขั้นสูงของนักวิจัย (Marco Langbroek / AFP)
นักดาราศาสตร์ในเนเธอร์แลนด์แสดงความกังวลต่ออนาคตของการศึกษาท้องฟ้าและอวกาศ หลังจับภาพขบวนดาวเทียมอินเทอร์เน็ต 60 ดวงของสเปซเอกซ์ ที่ต่อแถวยาวทะยานขึ้นฟ้า

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2019 มาร์โก ลังเบิร์ก (Marco Langbroek) นักดาราศาสตร์จากเนเธอร์แลนด์ ได้บันทึกภาพวิดีโอที่มีแสงสว่างจากกลุ่มดาวเทียมอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของสเปซเอกซ์ (SpaceX) เรียงแถวยาว 60 ดวง เหนือท้องฟ้าเมืองไลเดน เนเธอร์แลนด์

แม้จะสวยงามแต่ภาพดาวเทียมอินเทอร์เน็ต 60 ดวงของสเปซเอกซ์ (SpaceX) ได้สร้างความกังวลต่อกลุ่มนักดาราศาสตร์ว่า ในอนาคตดาวเทียมประเภทนี้อาจจะเพิ่มขึ้นจนมีมากถึง 12,000 ดวง และความสว่างอาจจะบดบังมุมมองในการศึกษาอวกาศ รวมถึงคุกคามการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ได้

เอเอฟพีรายงานว่า การยิงจรวดปล่อยดาวเทียมครั้งนี้สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาน่าปวดหัวใหม่สำหรับนักวิจัยที่ต้องหาวิธีแก้ขัด เพื่อรับมือกับวัตถุที่เกะกะการบันทึกภาพถ่ายวัตถุอวกาศของพวกเขา

บิล คีล (Bill Keel) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอลาบามา (University of Alabama) บอกเอเอฟพีว่า ผู้คนกำลังคาดการณ์เกินไปว่า หากมีดาวเทียมอินเทอร์เน็ตแบบนี้และมีความสว่างคงที่อย่างนี้ ต่อไปอีก 20 ปีหรือเร็วกว่านั้น สายตามนุษย์จะมองเห็นจำนวนดาวเทียมมากกว่าดาวจริง

อย่างไรก็ตาม ความสว่างของดาวเทียมอินเทอร์เน็ตก็ลดลงเรื่อยๆ เมื่อทิศทางของดาวเทียมเริ่มคงที่ และเดินหน้าเข้าสู่วงโคจรสุดท้ายที่ระดับความสูง 550 กิโลเมตร ทว่านั่นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์คลายความกังวลลงได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ สเปซเอกซ์ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) นั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ บริษัทที่มีเป้าหมายส่งดาวเทียมอินเทอร์เน็ต และอ้างอิงตามข้อมูลสมาคมอุตสาหกรรมดาวเทียม (Satellite Industry Association) เอเอฟพีระบุว่า ตอนนี้มีดาวเทียมที่ยังคงใช้งานอยู่ประมาณ 2,100 วง โคจรอยู่รอบโลก

ขณะที่โจนาธาน แมคโดเวลล์ (Jonathan McDowell) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาวาร์ดสมิทโซเนียน (Harvard Smithsonian Center for Astrophysics) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เพียงแค่ดาวเทียมอินเทอร์เน็ตจากสเปซเอกซ์เจ้าเดียวที่จะส่งขึ้นไปอีก 12,000 ดวง ก็จะทำให้มีดาวเทียมอยู่บริเวณเส้นขอบฟ้าหลายร้อยดวง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการศึกษาดาราศาสตร์ในบางจุดบนท้องฟ้าและบางช่วงเวลา

“ปัญหาจะยิ่งชัดขึ้นสำหรับท้องฟ้าตอนกลางคืน หากคุณอยู่ไกลออกไปจากเมืองมากๆ และอยู่ในพื้นที่ฟ้าแจ่มและมืดสนิท ดาวเทียมเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาสำหรับสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เพื่อการศึกษาระดับผู้เชี่ยวชาญ” แมคโดเวลล์ระบุ

ทางด้านมัสก์โต้แย้งเรื่องความกังวลนี้ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า กำลังมองหาวิธีที่จะลดแสงสะท้อนจากดาวเทียม และดาวเทียมเหล่านั้นจะส่งผลกระทบ 0% ต่อการศึกษาดาราศาสตร์ขั้นสูง แต่กล้องโทรทรรศน์สำหรับการศึกษาดาราศาสตร์นั้นควรจะย้ายขึ้นอยู่ในอวกาศมากกว่าด้วย พร้อมทั้งแย้งว่า การให้โอกาสผู้คนที่ด้อยโอกาสหลายพันล้านคนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของเขานั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ด้านคีลกล่าวว่าเขายินดีที่มัสก์นั้นเสนอที่จะหาวิธีลดแสงสะท้อนจากดาวเทียมรุ่นถัดไป แต่เขาก็ตั้งคำถามต่อว่าทำไมปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขและป้องกันมาก่อนหน้านี้ ซึ่งหากนักดาราศาสตร์เชิงแสงแสดงความกังวลแล้ว ต่อไปก็เป็นนักดาราศาสตร์วิทยุ ที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยมาจากวัตถุท้องฟ้า เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ท้องฟ้า ซึ่งทำให้การบันทึกภาพหลุมดำอย่างเดือนที่ผ่านมาต้อง “หมดหวัง” ไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการดาวเทียมนั้นมีชื่อไม่ดีในแง่ที่ไม่แสดงความรับผิดชอบมากพอที่จะป้องกันผลข้างเคียง ซึ่งสามารถรบกวนคลื่นในย่านสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์วิทยุได้ ซึ่งคีลกล่าวว่าไม่มีข้อก้ตัวใดที่จะไม่ร่วมหารือกับคณะนักดาราศาสตร์วิทยุเพื่อรับมือกับปัญหาก่อนหน้านี้

“นี่ไม่ใช่เพียงแค่การพิทักษ์ความสนใจทางวิชาการของเรา แต่ยังเป็นการปกป้องท้องฟ้าย่ามค่ำคืนสำหรับมนุษยชาติด้วย” คีลกล่าว
ภาพจากวิดีโอถ่ายทอดการปล่อยจรวดส่งดาวเทียมอินเทอร์เน็ตของสเปซเอกซ์เมื่อ 23 พ.ค.2019 เผยให้เห็นจรวดฟอลคอน 9 ที่ฐานปล่อยจรวด ซึ่งบรรทุกดาวเทียมสตาร์ลิงก์ 60 ดวง กำลังทะยานขึ้นจากฐานปล่อยสเปซลอนช์คอมเพลกซ์ 40 (Space Launch Complex 40: SLC-40) ที่ฐานทัพอากาศแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา (HO / SPACEX / AFP)
จรวดฟอลคอน 9 ของสเปซเอกซ์บรรทุกดาวเทียมสตาร์ลิงก์ 60 ดวง ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดในแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา เมื่อ 23 พ.ค. 2019 (Handout / SPACEX / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น