xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่แค่สังคมมนุษย์ “แม่ลิงโบโนโบ” ก็ช่วยลูกหาสะใภ้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพแม่ลิงโบโนโบจัดแต่งขนให้ลูกตัวผู้ภายในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่คองโก (Martin Surbeck / Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology / AFP)
ไม่ได้มีแค่ในสังคมมนุษย์ที่คนเป็นแม่จะเข้าไปช่วยเหลือลูกชายหาลูกสะใภ้ เพราะการศึกษาล่าสุดพบว่า แม่ลิงโบโนโบก็ช่วยเหลือลูกลิงตัวผู้คัดเลือกตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ และยังทำหน้าที่กีดกันศัตรูหัวใจของลูกด้วย

เอเอฟพีรายงานถึงการศึกษาล่าสุด ที่พบว่าแม่ลิงโบโนโบแสดงบทบาทเหนือชีวิตรักของลูกลิงตัวผู้ ตั้งแต่สร้างสถานะในฝูงเพื่อสร้างความมั่นคงว่า ลูกตัวผู้จะได้เจอตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ และยังเข้าไปช่วยจัดการตัวผู้ที่เป็นคู่แข่งในการผสมพันธุ์ของลูกด้วย

รายงานวิชาการของพฤติกรรมลิงโบโนโบนี้ ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารเคอร์เรนท์ไบโอโลจี (Current Biology) โดยพบว่า ลิงโบโนโบตัวผู้ที่แม่ยังมีชีวิต และยังคงอยู่ในฝูงนั้นมีโอกาสที่จะมีลูก มากกว่าลิงตัวผู้ที่ขาดแม่และแม่ไม่มีสถานะในฝูงถึง 3 เท่า

ทีมวิจัยให้เครดิตเรื่องนี้แก่ความสำเร็จของ “บารมีแม่” ตามธรรมชาติของสังคมลิงโบโนโบที่ตัวเมียเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นสังคมลิงที่รู้จักกันมานานแล้วว่า มีลักษณะที่ช่วยเหลือกันและรักสงบ ต่างจากสังคมที่นิยมความรุนแรงและมีตัวผู้เป็นใหญ่อย่างสังคมชิมแปนซี

มาร์ติน เซอร์เบค (Martin Surbeck) นักวานรวิทยาจากสถาบันมานุษย์วิยาวิวัฒนาการมักซ์พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) ในเมืองไลป์ซิก เยอรมนี ผู้ร่วมวิจัย ระบุว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสถานะแม่ลิงต่อการสืบพันธุ์ของลิงตัวผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งคือการขยายพันธุ์นั่นเอง

“เราแปลกใจที่ได้เห็นว่า แม่ลิงนั้นแข็งแกร่งได้ขนาดนั้น และส่งต่อความแข็งแกร่งโดยตรงต่อไปยังรุ่นหลานที่เกิดมา” เซอร์เบคกล่าว

ในการศึกษาครั้งนี้ เซอร์เบคและคณะได้สังเกตการณ์ประชากรลิงโบโนโบในธรรมชาติที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก รวมถึงประชากรลิงชิมแปนซีที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในไอวอรีโคสต์ แทนซาเนีย และอูกานดา และเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อของลิง ทีมวิจัยยังได้เก็บตัวอย่างเลือดลิงไปวิเคราะห์ดีเอ็นเอด้วย

ทีมวิจัยพบว่าทั้งแม่ลิงโบโนโบและแม่ลิงชิมแปนซี ต่างพยายามที่จะเข้าไปช่วยลูกตัวผู้เลือกคู่ แต่ลิงโบโนโบนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าลิงชิมแปนซี เพราะสถานะทางสังคมสูงสุดของลิงโบโนโบนั้นได้รับอิทธิพลจากตัวเมีย ส่วนสังคมของลิงชิมแปนซีจะแตกต่างออกไปเพราะได้รับอิทธิพลจากลิงตัวผู้ที่แข่งขันได้สถานะ “จ่าฝูง” (alpha status)

อย่างไรก็ตาม ลิงทั้งสองชนิดถือเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมนุษย์ในอาณาจักรสัตว์ และยังมีดีเอ็นเอตรงกับมนุษย์ประมาณ 99%

เซอร์เบคบอกอีกว่าแม่ลิงโบโนโบนั้นมีพฤติกรรมคล้าย “ใบผ่านทางสังคม” โดยลูกลิงตัวที่มีความใกล้ชิดกับแม่ ยังมีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มมากๆ และยังเข้าถึงตำแหน่งสำคัญในกลุ่มที่เปิดทางให้ลิงตัวผู้เหล่านั้นมีโอกาสปฏิสัมพันธ์ รวมทั้งผสมพันธุ์กับลิงตัวเมียได้มากขึ้น

“หากมีตัวเมียที่โดดเด่นมากๆ คุณจะเห็นเลยว่าแม่ลิงจะเข้าไปยุ่มย่ามด้วย และใต้เงาของแม่ลิงเหล่านั้นก็คือลิงตัวผู้นั่นแหละ แต่ในทางตรงกันข้าม เราพบว่าหากแม่สูญเสียสถานะทางสังคมชั้นสูง ลูกตัวผู้ของเธอก็ตกกระป๋องด้วย และผลพวงที่ตามมาคือมีโอกาสได้ผสมพันธุ์น้อยลง” เซอร์เบคระบุ

มากกว่านั้นแม่ลิงโบโนโบยังขัดขวางคู่แข่งของลูกที่จะมาแย่งผสมพันธุ์ โดยตัวแม่นั้นจะทำหน้าที่ตั้งแต่คอยปกป้องลูกของตัวเองไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งได้สำเร็จ หรือแม่กระทั่งเข้าไปขัดจังหวะการเกี้ยวตัวเมียและผสมพันธุ์ของลิงคู่แข่งด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือแม่ลิงโบโนโบไม่ได้เข้าไปวุ่นวายหรือช่วยเหลือลูกๆ ตัวเมียในการผสมพันธุ์ ซึ่งเซอร์เบคเชื่อว่า เพราะลูกลิงโบโนโบตัวเมียจะทิ้งฝูง ส่วนตัวผู้ยังคงอยู่กับแม่ที่ฝูง ดังนั้นจึงอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาและความพยายามของแม่ลิงในแง่ของการวิวัฒนาการ

ทีมวิจัยเชื่อด้วยว่า พวกเขาอาจจะมีหลักฐานที่เป็นไปได้สำหรับ “สมมติฐานสถานะคุณยาย” ซึ่งลิงตัวเมียที่พ้นวัยเจริญพันธุ์แล้วจะยังคงมีอายุยืนยาว และถ่ายทอดพันธุกรรมของเธอต่อไปได้ จากการสร้างหลักประกันด้วยความสำเร็จในการขยายพันธุ์ของลูกหลาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่นักมานุษยวิทยาได้ประยุกต์ใช้กับสังคมมนุษย์ และเซอร์เบคก็เชื่อว่าใช้ได้กับกรณีของประชากรลิงโบโนโบเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยยังสงสัยคือความน่าสนใจของกลไกทางสังคมดังกล่าวที่เปิดทางให้ลิงตัวเมียทำเช่นนั้นได้ แต่เหตุใดจึงไม่เลือกถ่ายทอดพันธุกรรมผ่านทางลูกๆ ที่เป็นตัวเมีย แต่ส่งผ่านทางลูกๆ ที่เป็นตัวผู้แทน ซึ่งเซอร์เบคระบุว่า ทีมวิจัยยังต้องทำวิจัยระยะยาว เพื่อยืนยันถึงประโยชน์ของพฤติกรรมดังกล่าวว่า ช่วยให้แม่ลิงมีอายุยืนยาว และหาคำตอบว่าแม่ลิงยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่ที่เป็นตัวเมีย ซึ่งเข้ามาในฐานะคู่ผสมพันธุ์ของลูกๆ ที่เป็นตัวผู้หรือไม่

เซอร์เบคกล่าวว่า การศึกษาความแตกต่างระหว่างสังคมลิงโบโนโบที่มีความเสมอภาคทางเพสและรักสงบ โดยสมาชิกแสดงออกทั้งมีพฤติกรรมรักร่วมเพศและรักต่างเพศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภายในสังคมให้แข็งแกร่ง กับสังคมลิงชิงแปนซีที่มีจ่าฝูงตัวผู้เป็นผู้นำสังคม อาจจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปถึงการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ในอดีต

“เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนคือเราไม่ได้วิวัฒนาการมาจากลิงโบโนโบหรือลิงชิงแปนซี แต่เรามีบรรพบุรุษร่วมกันกับลิงทั้งสองชนิด เมื่อเปรียบเทียบเรากับสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของเรา อาจได้แนวคิดเกี่ยวกับลักษณะการสืบสายพันธุ์ที่อาจจะช่วยวิวัฒนาการภายใต้ความกดดันของการคัดสรรตามธรรมชาติ” เซอร์เบคกล่าว
ลูกลิงโบโนโบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคองโก (Issouf SANOGO / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น