xs
xsm
sm
md
lg

ชื่นชมเด็กไทยรับ 3 รางวัลเวทีโครงงานวิทย์โลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เด็กไทยจาก “เชียงราย - ฉะเชิงเทรา - ระยอง” เจ๋งคว้า 3 รางวัลสเปเชียลอวอร์ดจากเวทีแข่งโครงงานวิทย์ระดับโลก “อินเทล ไอเซฟ 2019” ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เด็กไทยคว้า 3 รางวัลจากเวทีแข่งโครงงานวิทย์ระดับโลก เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 17 พ.ค. โดยผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายรวิน ระวิวงศ์​ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงอุดมศึก ษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าอพวช. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้นำเยาวชนไทย จำนวน 17 ทีมจากโรงเรียนต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศา สตร์สำหรับเยาวชนในระดับนานาชาติ The Intel International Science and Engineering Fair 2019 (Intel ISEF) ซึ่งเป็นเวทีการแข่งขันวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดโลก ระหว่างวันที่ 12 - 17 พ.ค.2562 โดยมีนักวิทยาศา สตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 80 ประเทศมาร่วมแข่งขัน ที่เมืองฟินิกส์ รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผลปรากฎว่า เยาวชนจากประเทศไทย สามารถคว้าสเปเชียลอวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลที่ผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ จากองค์กรชั้นนำของโลก จำนวน 45 ราย อาทิ Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society องค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก องค์การบริหารการบินอวกาศสห(NASA) เป็นต้น ได้ร่วมกันโหวตลงคะแนนหลังจากที่ตัวแทนเยาวชนประเทศต่างๆ ได้นำผลงานมานำเสนอ เพราะสามารถนำผลงานไปใช้ได้จริงถึง 3 รางวัล

ผอ.อพวช.กล่าวต่อว่า รางวัลแรกสเปเชียลอวอร์ด ด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมพร้อมมอบทุนการศึกษา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่โครงงาน "การพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง" ของโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย สเปเชียลอวอร์ด ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพสำหรับการวิจัยข้ามสาขา และการทำงานเป็นทีมให้แก่โครงงาน "เบ้ากุดจี่เทียมสำหรับเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช" ของโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา และรางวัลสเปเชียล อวอร์ดจากสมาคมเคมีอเมริกัน ให้แก่โครงงาน “การสังเคราะห์อนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนจากน้ำมันหมูเหลือใช้เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเล” ของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง

ด้านนายธีรกานต์ วรรณกาญจน์ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” จ.ฉะเชิงเทรา ได้อธิบายถึงแนวคิดของโครงงาน ว่า ผักหวานป่าเป็นผักเศรษฐกิจ เป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่มีปริมาณผลผลิตที่ได้ค่อนข้างต่ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จากการศึกษา พบว่าอัตราการรอดชีวิตของต้นอ่อนผักหวานป่าค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเสียหายของรากของต้นอ่อนผักหวานป่าขณะย้ายจากถุงเพาะชำพลาสติก ลงปลูกในดิน ส่งผลให้ต้นอ่อนส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงได้ทดลองทำเบ้ากุดจี่เทียมที่ผลิตจากมูลโคที่ผสมกับดินเหนียวแล้วนำมาปั้นขึ้น รูปเป็นทรงกลม ภายในบรรจุเส้นใยของลำต้นมันสำปะหลังจากนั้นจึงเติมเชื้อรา T. harzianum ซึ่งมีส่วนช่วยในการเติบโตของต้นอ่อนผักหวานป่า

นอกจากนี้ ยังได้นำผงที่ได้จากใบสะเดานำไปทารอบๆ บริเวณด้านนอกของเบ้ากุดจี่เทียม เพื่อป้องกันการทำลายของปลวก ผลปรากฎว่า การใช้เบ้ากุดจี่เทียมแทนถุงพลาสติกจะช่วยให้อัตราการรอดและการเจริญเติบโตของ ต้นอ่อนผักหวานป่าดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนการลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะต้นอ่อนผักหวานป่า และยังสนับสนุนแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายพิรชัช คชนิล จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ กล่าวว่า โครงงานที่ทำขึ้นเพื่อพัฒนาสารเคลือบเมล็ดพันธุ์อุ้มน้ำจากยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายของข้าวไร่ในสภาวะขาดน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วง โดยทำการศึกษาสมบัติของยางไม้ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ ได้แก่ ยางมะกอกป่ายาง งิ้วป่า และยางมะค่า กับกัวกัมและพอลีอะคิเลต พบว่ายางมะกอกป่ามีการดูดซับน้ำ และการอุ้มน้ำ สูงกว่ายางไม้ชนิดอื่นๆ และสามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าพอลีอะคริเลตซึ่งเป็นพอลีเมอร์สังเคราะห์ นอกจากนี้ พบว่าการเคลือบเมล็ดพันธุ์ด้วยยางยางมะกอกป่าจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของ แมลง การเกิดเชื้อรา และช่วยในการอุ้มน้ำของเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ได้ดีกว่าการเคลือบเมล็ดพันธ์ข้าว ด้วยยางไม้อีกสองชนิด ดัง นั้น ความรู้ที่ได้จากโครงงานนี้จะเป็นแนวทางในการช่วยเกษตรสามารถปลูกข้าวได้ใน สภาพแวดล้อมที่ที่แห้งแล้งได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการลดการใช้น้ำในการเพาะปลูก


ขณะที่ นายปุถุชน วงศ์วรกุล จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง กล่าวถึงผลงานของทีมว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในอนาคต ทำให้เราต้องนำเข้าพลังงานไฟฟ้าบางส่วนจากประเทศลาว เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น โครงงานนี้จึงมีแนวคิดที่จะศึกษา การผลิตเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ไม่มีวันหมด โดยการสังเคราะห์และติดตั้งตัวเร่งปฏิกิริยาที่เป็นอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้ได้จากการสังเคราะห์จากการนำแท่งเหล็กและน้ำมันหมูเหลือใช้มาผ่านกระบวนการสลายพลาสมา จากนั้นนำอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่สังเคราะห์ได้มาศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของมัน เมื่อเรามีอนุภาคนาโนของเหล็กคาร์บอนที่มีคุณภาพดีจะช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำทะเลได้ดียิ่งขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น