xs
xsm
sm
md
lg

เหตุการณ์แผ่นดินไหวกับอาฟเตอร์ช็อค

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของการติดตามและสังเกตการสั่นไหวของแผ่นดินในปัจจุบันจะก้าวหน้ากว่าในอดีตสักเพียงใด แม้วิศวกรและสถาปนิกจะได้พัฒนาเทคโนโลยีการสร้างอาคาร และตึกระฟ้าให้มั่นคงแข็งแรงสักเพียงใด แต่ภัยแผ่นดินไหวก็ยังเป็นภัยที่คุกคามมนุษย์ชาติทั้งในด้านชีวิต ความปลอดภัย และสภาพทางเศรษฐกิจหลังการเกิดเหตุการณ์อยู่นั่นเอง เพราะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพยากรณ์เวลา และสถานที่ๆ เหตุการณ์จะเกิดได้ รวมถึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าความรุนแรงจะมากน้อยเพียงใดด้วย จนทำให้หลายคนคิดว่า สาเหตุเกิดจากการถูกพระเจ้าลงโทษหรือเกิดจากกรรมเก่า แต่ถ้ารู้วิทยาศาสตร์เราก็จะเห็นว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มนุษย์ชอบตั้งถิ่นฐานและสร้างเมืองตรงบริเวณที่มีแผ่นดินรอยเลื่อน หรือบนเปลือกโลกที่มีการเคลื่อนที่รุนแรงบ่อย

ดังนั้น เวลาใครกล่าวถึงภัยแผ่นดินไหว เราจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้รอบด้าน คือทั้งในมุมมองทางธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์แผ่นดินไหว วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการจัดการภัยพิบัติที่จะทำให้การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งอาจทำได้โดยการวิเคราะห์เหตุการณ์ aftershock ในประเทศต่างๆ ทั้งในอดีตที่เกิดนานมากแล้ว และที่เพิ่งเกิดในเวลาไม่นาน แล้วเราก็จะเห็นว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ทำให้สังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ

มนุษย์ได้เห็นและได้ผจญภัยแผ่นดินไหวมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง คนกรีกโบราณคิดว่า แผ่นดินไหวเกิดเวลาคนตายทำสงครามกันใต้ดิน และการสู้รบทำให้ปฐพีสะเทือน ด้านผู้เฒ่า Pliny และ Aristotle ก็คิดว่าใต้ดินมีพายุ และการพัดอย่างรุนแรงของลมพายุทำให้แผ่นดินสะทกสะท้าน ในความพยายามจะทำนายภัยพิบัติล่วงหน้า นักประวัติศาสตร์กรีก Thucydides ได้บรรยายอากัปกริยาของสัตว์ เช่น หนู สุนัข และงู ว่า ก่อนแผ่นดินจะไหว สัตว์ต่างๆ ได้พากันวิ่งหนีออกจากเมือง Helice

คนญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ มด นกหงษ์หยก นกพิราบ หนู ค้างคาว ไก่ ปลาซาร์ดิน จามรี ฯลฯ จะแสดงพฤติกรรมผิดปกตินานเป็นชั่วโมง เช่น แสดงอาการแตกตื่น วัวและควายส่งเสียงร้องครวญคราง และไม่ยอมถูกต้อนเข้าคอก สุนัขส่งเสียงร้องโหยหวนไปทั่วหมู่บ้าน หนูวิ่งพล่านออกจากรูอย่างไม่กลัวแมว หรือแม้แต่ปลาดุกก็พยายามกระโดดหนีจากบ่อเลี้ยง
ภาพคนงานซ่อมแซมถนนที่เอกวาดอร์เมื่อวันที่ 14 มี.ค.1987 หลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 5 มี.ค.ของปีเดียวกัน  (Fernando ARAUJO / AFP)
ในปี 1948 นักวิทยาศาสตร์รัสเซียก็ได้รายงานว่า ก่อนแผ่นดินจะไหว เขาได้เห็นกุ้งตะกายขึ้นจากน้ำ มดขนไข่ออกจากรัง ไก่ฟ้าส่งเสียงร้อง คนที่เป็นโรคหัวใจมีอาการทรุดหนัก และแม้แต่หมีขาวขั้วโลกก็หยุดจำศีลก่อนครบกำหนดถึงสองสัปดาห์

นี่คือตัวอย่างของความเชื่อที่ว่า สัตว์มีประสาทสัมผัสพิเศษ (Extra Sensory Perception ESP) ที่สามารถส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าภัยอันตรายต่อชีวิตกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ เพราะประสาทการรับรู้ภัยของสัตว์เร็วกว่าประสาทรับรู้ของมนุษย์ที่มีขอบเขตจำกัด เช่น หูคนจะได้ยินเสียงที่มีความถี่ในช่วง 20-20,000 เฮริทซ์ แต่หูค้างคาวจะได้ยินบรรดาเสียงที่มีความถี่สูงกว่าถึง 10 เท่าได้

ในปี 2000 Stanley Coren แห่งมหาวิทยาลัย British Columbia ใน Vancouver ของแคนาดา คิดว่า สุนัขอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ โดยเฉพาะในฤดูหนาว คือ อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าเหมือนคน เขาจึงให้เจ้าของสุนัข 200 คนรายงานระดับความกระวนกระวายใจของสุนัขสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี และได้ข้อมูลว่าความผิดปกติของอารมณ์สุนัขได้เกิดขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2001 จากรายงานสุนัข 193 ตัว มี 95 ตัว (49%) ที่แสดงอารมณ์กระวนกระวายอย่างผิดปกติ และ 91 ตัว (47%) แสดงอาการแตกตื่นกลัวมากกว่าปกติ

ในเบื้องต้น Coren คิดว่า อากาศคือ สาเหตุสำคัญ เพราะวันนั้นมีฟ้าร้อง และฟ้าแลบบ่อย จนสุนัขตื่นกลัว แต่เมื่อเขาดูรายงานสภาพดินฟ้าอากาศในหนังสือพิมพ์ ก็พบว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 6.8 โดยมีศูนย์กลางของการสั่นสะเทือนที่เมือง Nisqually ในรัฐ Washington ที่อยู่ห่างไปทางใต้ของเมือง Vancouver 240 กิโลเมตร

Coren รู้สึกตื่นเต้นกับข้อมูลที่ได้ และคิดว่า สุนัขคงมีความสามารถพิเศษในการรู้เหตุการณ์แผ่นดินไหวล่วงหน้า ในขณะที่นักแผ่นดินไหววิทยา ซึ่งได้วิจัยเรื่องแผ่นดินไหวมานาน มีสถานีวิจัย มีนักวิจัยจำนวนมากทำงานร่วมกัน มีอุปกรณ์วิจัยดีๆ กลับไม่รู้ตัวเลย โดยเฉพาะนักวิจัยในสังกัด Geological Survey (กองสำรวจทางธรณีวิทยา) ของสหรัฐฯ ที่ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของรอยเลื่อน San Andreas มาเป็นเวลานานหลายปี ก็ไม่ได้รายงานว่า มีอะไรที่ผิดปกติ

แต่การศึกษาเรื่อง ESP ของสัตว์ยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า แม่นตรงหรือถูกต้อง 100% การสอดคล้องของเหตุการณ์กับปฏิกริยาตอบสนองของสัตว์ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญคือไม่ทุกครั้งไป

เมื่อมนุษย์และสัตว์ไม่มีความสามารถในการใช้อวัยวะใดๆ เตือนภัยแผ่นดินไหวได้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ในการเตือนภัย ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า อุปกรณ์ seismograph (ที่ใช้ตรวจสอบและบันทึกการสั่นสะเทือนของคลื่นแผ่นดินไหว) เครื่องแรกของโลกถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อนโดยนักประดิษฐ์จีนชื่อ Zhang Heng ในค.ศ.132

อุปกรณ์ของ Zhang Heng เป็นโอ่งใหญ่ที่ทำด้วยทองสำริด มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร และมีมังกรแปดตัวอยู่ที่ผนังนอกโอ่งทั้งแปดทิศ (คือ เหนือ ใต้ ออก ตก และทิศระหว่างกลาง) ที่พื้นในบริเวณนอกโอ่งมีคางคกที่ทำด้วยทองแดงจำนวนแปดตัว กำลังอ้าปากรับลูกบอลที่จะเคลื่อนที่ออกจากปากมังกร ภายในโอ่งมีลูกตุ้มเพนดูลัมที่สามารถแกว่งไปมาในแนวระนาบที่ลากผ่านจุดศูนย์กลางของการสั่นสะเทือน เพราะแรงสั่นสะเทือนจะบังคับลูกบอลให้เคลื่อนที่ออกจากปากมังกร ไปตกลงในปากคางคก Zhang Heng เรียกอุปกรณ์ที่สร้างนี้ว่า Houfeng didongyi (ซึ่งแปลว่า อุปกรณ์สังเกตเหตุการณ์แผ่นดินไหว)

สาเหตุที่ Zhang Heng สร้างอุปกรณ์นี้ขึ้นมา มิใช่เพื่อใช้ในการเตือนภัย แต่เพื่อจับผิด เพราะเขาเชื่อว่าเทพยดาจะบันดาลให้แผ่นดินไหวทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐประพฤติผิดมิชอบ อุปกรณ์นี้ทำให้ Zhang ตกทุกข์ลำบาก เพราะถูกบรรดาข้าราชบริพารในราชสำนักต่อต้านคือไม่ยินดีให้ใครกล่าวหาว่ามีการราษฎร์บังหลวงในราชสำนัก

ที่พิพิธภัณฑ์ Science and Technology ในกรุงปักกิ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ Zhang ออกแบบ แต่ตราบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครสาธิตได้ว่า อุปกรณ์นี้ทำนายเหตุการณ์ได้จริง

คนจีนตั้งแต่เมื่อ 780 ปีก่อนคริสตกาล ได้จดบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศและผลกระทบที่เกิดจนถึงปัจจุบัน จีนจึงเป็นชาติที่สนใจเรื่องนี้มาเป็นเวลานานกว่าชนชาติอื่น เพราะจีนมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อย และการสั่นไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1976 ขณะเวลา 3.45 นาฬิกา ที่เมือง Tangshan ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 กิโลเมตร ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีจำนวนผู้เสียชีวิต 242,000 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายและการสูญเสียอย่างมหาศาล เพราะจุดศูนย์กลางของเหตุการณ์อยู่ใต้เมือง Tangshan พอดี และเมืองมีประชากรกว่า 1 ล้านคน อีกทั้งการสั่นสะเทือนที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นขณะใกล้รุ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่กำลังหลับ ดังนั้นผู้คนจึงไม่มีเวลาหนีทัน ความหายนะครั้งนั้นได้สร้างความอับอายให้แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์จีนมาก เพราะไม่มีใครได้เตือนชาวเมือง Tangshan ล่วงหน้าว่า เมืองกำลังจะถูกธรณีถล่มทั้งเป็น
ภาพโบสถ์อายุกว่า 4 ศตวรรษ ในเมืองกีโต เอกวาดอร์ พังเสียหายหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 5 มี.ค.1987 (AFP)
ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรง และทำให้เกิดความเสียหายอย่างยับเยินในบริเวณอื่นของโลกก็มีมากมาย เช่น ในปี 1755 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ถล่มเมือง Lisbon ใน Portugal ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีส่วนผลักดันให้เกิดวิทยาศาสตร์ของแผ่นดินไหว

ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1755 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) กรุง Lisbon ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาและอยู่ตรงปากแม่น้ำ Tagus เมืองมีประชากร 275,000 คน วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ขณะเวลา 9.40 นาฬิกา ผู้คนที่กำลังสวดมนตร์ในโบสถ์ได้ยินเสียงฟ้าร้อง และระฆังโบสถ์ดังขึ้นเองโดยไม่มีใครสั่น ความตกใจทำให้ทุกคนพากันมองไปที่ทะเล และเห็นคลื่นก่อตัวสูงขึ้นๆ ทุกคนจึงพากันสวดมนตร์ขอให้นักบุญ St. Anthony คุ้มครอง แล้วถนนหนทางในเมืองก็เคลื่อน ทำให้หอคอยโบสถ์หักลงทับผู้คนที่กำลังแตกตื่น คลื่นสึนามิ 3 ลูกได้เคลื่อนเข้าถล่มเมืองภายในเวลา 15 นาที ในเมืองเองได้เกิดอัคคีภัย และลมพายุที่พัดแรงทำให้ไฟลุกลามเร็ว ผู้คนเหยียบย่ำกันตาย คนหลายพันคนพากันหนีไปที่ปากแม่น้ำ และถูกคลื่นสึนามิที่สูง 50 เมตร ซัดทำลายชีวิตหมด รวมคนที่เสียชีวิตประมาณ 30,000 คน

รัฐบาลโปรตุเกสได้ให้รัฐมนตรีต่างประเทศเข้าถวายรายงานเหตุการณ์นี้ต่อกษัตริย์ Jose Manuel พระองค์จึงทรงกำหนดให้มีการควบคุมความวุ่นวายโดยให้ทหารเข้าดูแลการปิด-เปิดประตูเมือง เพื่อป้องกันโจรที่ขโมยสมบัติผู้อื่น จัดหน่วยดับเพลิงสกัดการลุกลามของอัคคีภัย และเพื่อป้องกันโรคระบาด ทางการให้ฝังศพคนที่ตายในทะเล จัดหาบ้านให้คนที่ไร้ที่อยู่ได้พักอาศัย รวมถึงหุงหาอาหารให้ตามอัตภาพ และให้ความช่วยเหลือด้านยารักษาโรค ให้เจ้าของบ้านลดราคาค่าเช่าบ้าน ให้เจ้าของร้านขายสินค้าในราคาถูก ห้ามการไล่คนที่ไม่มีเงินค่าเช่าบ้านออกไปพำนักอยู่กลางถนน และได้ตัดศีรษะขโมย 34 คน แล้วนำไปประจานนอกเมือง

จากนั้นกรุง Lisbon ก็ได้เริ่มฟื้นตัวใหม่อย่างรีบเร่ง มีการก่อสร้างอาคารใหม่ และทางการได้ห้ามนักบวชมิให้เทศนาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะถูกพระเจ้าลงโทษ เพราะ Lisbon เป็นเมืองที่เคร่งศาสนามาก กระนั้นชาวเมืองและชาวโลกก็ยังคลางแคลงใจว่า เหตุใดพระเจ้าจึงฆ่าคนดี แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ทำให้ทุกคนพอใจได้

ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเชียที่เมือง Tangshan ในจีนเมื่อปี 1976 และที่ Gujarat ในอินเดียเมื่อปี 2001 นั้นต่างก็เป็นพื้นที่อาศัยของคนยากจน เหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำลงไปอีก แต่ทั้งรัฐบาลจีนและอินเดียก็ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยการปรับระบบโครงสร้างภายในของการบริหารพื้นที่ จัดตั้งหน่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ถึงวันนี้ Tangshan และ Gujarat ได้เป็นเมืองอุตสาหกรรมไปเรียบร้อย

ความตื่นเต้นเรื่องภัยแผ่นดินไหวได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2011 เมื่อญี่ปุ่นประสบความหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ขณะเวลา 14.46 นาฬิกาได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 9.0 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางการสั่นไหวใต้ทะเล ห่างจากเมือง Sendai ในเขต Miyaki ไป 130 กิโลเมตร และอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ Honshu คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นได้ทำลายชีวิตผู้คนไป 19,000 คน บ้านชายทะเล และอาคารในเมืองนับล้านหลังพังทลาย และเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Fukishima ได้รับความเสียหายหนัก จนต้องปิดดำเนินการ กัมมันตรังสีที่รั่วไหลทำให้คนนับแสนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบต้องอพยพหนีเพื่อความปลอดภัย ผลกระทบที่เกิดตามมาคือ ทุกประเทศที่ผลิตไฟฟ้าโดยเตาปฏิกรณ์ปรมาณูต้องทบทวนให้มีการเพิ่มความปลอดภัย เพื่อมิให้เหตุการณ์เลวร้ายนี้เกิดขึ้นอีกในประเทศของตน

คำถามที่คนทั้งโลกต้องการรู้คำตอบ คือ เหตุใดการพยากรณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องยาก

ในสมัยก่อน นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามวิเคราะห์รูปแบบการสั่นสะเทือนของคลื่นแผ่นดินไหว ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ตรวจดูการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากใต้ดิน วัดปริมาณแก๊ส radon ที่แผ่นดินปล่อยออกมา แต่ก็ไร้ผล เพราะการสังเกตดังกล่าวมิสามารถใช้บอกลักษณะการสั่นไหวระดับรุนแรงได้ เพราะการสั่นที่รุนแรงระดับ 9 เป็นอันตรายมากที่สุด ซึ่งตามปกติมักเกิดที่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิค โดยเฉพาะบนแผ่นเปลือกโลก Pacific, แผ่นเปลือก Juan de Fuca, แผ่นเปลือก Cocos, แผ่นเปลือก Nazca และแผ่นเปลือก Antarctica ดังนั้นการวางเครื่องตรวจจับ (sensor) จำนวนมากใต้ทะเล ให้ทำงานเป็นเครือข่ายจะสามารถเตือนการเลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก และการเกิดคลื่นสึนามิในมหาสมุทร Pacific ได้ โดยการเคลื่อนที่ของคลื่นใต้น้ำจะถูกรายงานไปยังเรือที่เดินทางผ่านไปมาในย่านนั้น ให้นักสมุทรศาสตร์รู้การเคลื่อนตัวตามแนวนอนของชั้นหินใต้ทะเล

เทคนิคอื่นๆ ที่สามารถช่วยในการทำนายเหตุการณ์แผ่นดินไหวยังมีอีก เช่น จากการวิเคราะห์คลื่นที่เกิดจากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิด ซึ่งสามารถทำให้แผ่นดินไหวได้เช่นกัน

เมื่อโอกาสการรู้ตัวล่วงหน้ามีไม่มากเช่นนี้ การป้องกันตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในความเป็นจริงอันตรายจากแผ่นดินไหว คือ การเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากการที่ผู้คนถูกตึกถล่มทับ จนหลายคนเป็นคนทุพพลภาพ และคนจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่อาศัย ยิ่งถ้าโรงพยาบาลในพื้นที่ถูกทำลายคนไข้จะตายเพราะน้ำไม่ไหล และไฟฟ้าในห้องผ่าตัด การคมนาคมในเมืองต้องหยุดชะงัก และบ้านเรือนถูกไฟไหม้ มูลค่าความเสียหายจะมากมหาศาลทุกครั้งที่แผ่นดินไหว ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ประเมินการสูญเสียโดยภัยแผ่นดินไหวว่ามีมูลค่าประมาณ 141,000 ล้านบาท/ปี

เพื่อลดการสูญเสียเช่นนี้ หลักการออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่ คือควรสร้างให้อาคารมีความยืดหยุ่น และการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารเก่าให้ไม่ล้มง่าย จึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะวิศวกรตามปกติไม่มีข้อมูลกายภาพของพื้นดินเวลาได้รับคลื่นแผ่นดินไหวที่รุนแรง

ดังนั้นการมีข้อมูลที่ดีว่า พื้นดินเคลื่อนที่อย่างไร มากหรือน้อยเพียงใด เวลาคลื่นแผ่นดินไหวมากระทบ จะช่วยให้วิศวกรสามารถจัดหาวัสดุและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้นๆ ได้

ตั้งแต่ปี 2010 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลงทุนมากกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปีในการออกแบบอาคารใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการทรงตัว รวมถึงติดตามการสั่นไหวของแผ่นดินตลอดเวลา เพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมจาก Earth-Shattering Events Earthquakes, Nations, and Civilization โดย Andrew Robinson จัดพิมพ์โดย Thames and Hudson ในปี 2016

สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น