นักวิทยาศาสตร์เดินหน้าโครงการ “บิ๊กบราเธอร์” ติดตั้งเทคโนโลยีอัจฉริยะทั่วป่าอะเมซอน เพื่อเก็บภาพและเสียงของความหลากหลายทางชีวภาพแบบ “เรียลไทม์” ส่งตรงถึงห้องแล็บ สู่เป้าหมายในการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในป่าฝนเขตร้อน
โครงการโปรวิเดนซ์ (Providence Project) เป็นโครงการอนุรักษ์ที่มีรูปแบบในการสอดส่องสิ่งมีชีวิตในป่าฝนอะเมซอนที่บราซิล ซึ่งคล้ายรูปแบบรายการเรียลลิตีบิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) ที่ติดตามชีวิตของผู้เข้าแข่งขันในรายการโทรทัศน์
โครงการตามติดสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในป่าฝนนี้ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสนามว่า มิเชล อังเดร (Michel Andre) จากมหาวิทยาลัยโพลิเทคนิคแห่งคาตาโลเนีย (Polytechnic University of Catalonia) และสถาบันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาไมรัว (Mamiraua Sustainable Development Institute) ทางตอนเหนือของบราซิล
อังเดร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการชีวสวนศาสตร์ประยุกต์ (bioacoustic applications laboratory) ของมหาวิทยาลัย บอกว่าอยากให้ทั้งโลกเข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปกป้องป่าฝนอะเมซอน และสนับสนุนการตั้งต้นอนุรักษ์
แม้ว่าก่อนหน้านี้มีเทคโนโลยีดาวเทียมและโดรนที่ใช้มานานหลายปี เพื่อตรวจตราจำนวนต้นไม้ที่ถูกตัดทำลายทุกๆ ปี แต่อังเดรบอกว่า ยังมีข้อมูลอยู่น้อยมาก เกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่างๆ ที่อยู่ตามต้นไม้และใต้ร่มไม้ของป่าใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่จุดประกายให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่ีสุดเพื่อติดตามความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมขนาดใหญ่
“ด้วยโหนดโปรวิเดนซ์ เราจึงเก็บรวบรวมภาพถ่ายและเสียงของป่าฝนน้ำหลากมาไมรัว (Mamiraua flooded forest) ได้อย่างไม่จำกัด “หูอัจฉริยะ” พวกนั้น กำลังส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์มายังห้องปฏิบัติของเรา เพื่อให้เราวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น ด้วยความช่วยเหลือจากชุมชนเผ่าพื้นเมืองของท้องถิ่นในมาไมรัว และนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาไมรัว” อังเดรกล่าว