xs
xsm
sm
md
lg

ไอซ์แลนด์อัด CO2ใส่หินใต้ภูเขาไฟสร้างอากาศสะอาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพควันที่ถูกปล่อยออกจากปล่องระบายของโรงงานอุตสาหกรรมในเยอรมนี (AP Photo/Michael Probst, File)
ไอซ์แลนด์อัดคาร์บอนไดออกไซด์ใส่หินในใจกลางภูเขาไฟ กักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไว้ใต้พิภพไปตลอดกาล โดยเทคนิคของนักเล่นแร่แปรธาตุแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ เป็นการเลียนแบบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพียงแต่เร่งเวลาให้เร็วขึ้น

ปกติกระบวนการตามธรรมชาตินั้น จะใช้เวลานับพันนับหมื่นปีในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในก้อนหิน แต่เทคโนโลยีที่ไอซ์แลนด์ใช้นั้นจะอัดฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใส่หินบะซอลต์ที่ีมีรูพรุนอยู่มากมาย และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกนี้ไว้ตลอดไป

แซนดรา ออสก์ สแนบจอร์นดอตตีร์ (Sandra Osk Snaebjornsdottir) นักธรณีวิทยาระบุว่า ด้วยวิธีดังกล่าวช่วยให้เราร่นเวลาในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มหาศาล

ทั้งนี้ แซนดรากำลังทำงานในโครงการคาร์บฟิกซ์ (CarbFix project) ของไอซ์แลนด์ ร่วมกับนักวิจัยและวิศวกรจากบริษัททางด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ (University of Iceland) ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (France's National Centre for Scientific Research: CNRS) และมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ในสหรัฐฯ

ไอซ์แลนด์นั้นเป็นดินแดนแห่งน้ำพุร้อน ธารน้ำแข็งและภูเขาไฟ ซึ่งพลังงานที่ใช้ภายในประเทศอย่างน้อยครึ่งหนึ่งได้จากแหล่งพลังงานความร้อนใต้ดิน ซึ่งกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของทีมวิจัยคาร์บฟิกซ์ ซึ่งได้เปลี่ยนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพเฮลลิสไฮดิ (Hellisheidi) ให้กลายเป็นห้องปฏิบัติการของพวกเขา

โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่ภูเขาไฟเฮนกิลล์ (Hengill volcano) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ บนชั้นหินบะซอลต์ที่ก่อตัวขึ้นจากลาวาที่เย็นตัวแล้ว และยังเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีไม่จำกัดด้วย

โรงไฟฟ้าจะสูบน้ำใต้ภูเขาไฟเพื่อเดินเครื่องกังหันไฟฟ้า 6 ตัว เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้แก่เมืองเรคยาวิก (Reykjavik) เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ที่อยู่ห่างออกไป 30 กิโลเมตร

คาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าจะถูกดักจับจากไอน้ำ แล้วจะถูกควบแน่นให้กลายเป็นของเหลว จากนั้นละลายใส่น้ำปริมาณมหาศาล ซึ่ง เอ็ดดา ซฺฟ อราดอตตีร์ (Edda Sif Aradottir) ผู้อำนวยการโครงการคาร์บฟิกซ์ อธิบายอย่างง่ายๆ ว่าเป็นการผลิตโซดาจากคาร์บอนไดออกไซด์

น้ำซ่าที่ได้จะถูกส่งต่อทางท่อออกไปอีกหลายกิโลเมตร เพื่อไปยังบริเวณที่เป็นรูปโดมสีเทาคล้ายกระท่อมอิกลู (igloo) ของชาวเอสกิโมและพื้นผิวขรุขระเหมือนดวงจันทร์ เมื่อถึงบริเวณนี้น้ำซ่าโซดาจะถูกฉีดอัดด้วยแรงดันสูงลงสู่หินที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 1,000 เมตร

ของเหลวซ่าจากคาร์บอนไดออกไซด์นี้จะเข้าไปอุดรูพรุนของหินและเริ่มกระบวนการกลายเป็นของแข็ง เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สัมผัสแคลเซียม แมกนีเซียมและเหล็กในหินบะซอลต์ ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกฉีดลงไปนั้นจะกลายเป็นแร่ธาตุภายใน 2 ปี และเมื่อกลายเป็นหินแล้วก็จะถูกกักเก็บไว้ตลอดไป ยกเว้นเมื่อภูเขาไฟระเบิด แต่ภูเขาไฟที่นั่นไม่ได้ระเบิดมากว่าพันปีแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น