นักวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ตัวใหม่ที่จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรือ สามารถตรวจหาแบคทีเรียได้รวดเร็วในระดับนาที จากเดิมใช้เวลานานหลายวัน ช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น
อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาโดยทีมจากมหาวิทยาลัยแพนน์สเตท (Penn State university) ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิยาศาสตร์โพรซีดิง ออฟ เดอะ เนชันนัล อะคาเดมี ออฟไซนส์ (Proceeding of the National Academy of Sciences)
ปัก คิน หว่อง (Pak Kin Wong) ศาสตราจารย์ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และวิศวกรรมเครื่องกล ผู้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาแบคทีเรียนี้ อธิบายว่า อุปกรณ์ตรวจหาแบคทีเรียนี้ จะดักจับเซลล์แบคทีเรีย แล้วนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน
วิธีดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ภายใน 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ว่า(ผู้ป่วย)ติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวต่อการรักษาด้วยยาหรือไม่ ซึ่งต่างจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการในปัจจุบัน ที่ต้องใช้เวลา 3-5 วันเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกัน
หว่องบอกเอเอฟพีว่า ทุกวันนี้เรารักษาด้วยยาปฏิชีวนะแม้กระทั่งไม่ปรากฏการติดเชื้อแบคทีเรีย นั่นทำให้เราได้รับยาเกินขนาด และนั่นเป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทีมวิจัยต้องการจะสื่อ อีกทั้งยังมีคำถามที่นำมาสู่งานวิจัยนี้ว่า เราจะตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรียได้อย่างรวดเร็วหรือไม่
รายงานทางวิชาการของทีมวิจัยยังระบุด้วยว่า มากกว่าการตรวจหาว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถจำแนกชนิดของแบคทีเรีย ได้จากรูปร่างของแบคทีเรียเอง ด้วยการตรวจว่าแบคทีเรียดังกล่าวเป็นทรงกลม รูปแท่งหรือเป็นเกลียว
หว่องบอกว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยตรวจหาแบคทีเรียที่ติดเชื้อในร่างกาย แต่ไม่สามารถระบุชนิดของแบคทีเรียได้ ซึ่งทีมวิจัยกำลังทำงานเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว และจะระบุสปีชีส์ของแบคทีเรียได้
หลังจากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ตัวอย่างแบคทีเรยดังกล่าวยังจะถูกนำไปทดสอบกับยาปฏิชีวนะ เพื่อตรวจสอบว่าแบคทีเรียดังกล่าว “ดื้อยา” หรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด แม้ว่ากว่า 75% ของตัวอย่างปัสสาวะที่ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาระดับคลีนิคนั้นให้ผลเป็นลบ (negative) โดยหว่องระบุว่า การตรวจว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ได้อย่างรวดเร็วนั้น จะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมหาศาล
ทั้งนี้ ทีมวิจัยกำลังยื่นจดสิทธิบัตร และตั้งเป้าพัฒนาเป็นอุปกรณ์ที่พร้อมลงสู่ตลาดภายใน 3 ปี พร้อมเป้าหมายที่จะลดขนาดของอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ที่โรงพยาบาลและห้องตรวจของแพทย์