xs
xsm
sm
md
lg

20 ล้านปีก่อนที่เคนย่ามี “สิงโตยักษ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจำลองสิงโตยักษ์ที่เคยอาศัยอยู่ในเคนย่ายุคอดีตเมื่อกว่า 20 ล้านปีก่อน (Mauricio ANTON / ohio university / AFP)
นักวิจัยค้นพบ “สิงโตยักษ์” ที่มีเขี้ยวมหึมา ซึ่งเคยท่องไปทั่วทุ่งหญ้าสะวันนาในดินแดนเคนย่าเมื่อ 20 ล้านปีก่อน และเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ขุดพบกรามล่าง ฟัน และกระดูกส่วนอื่นของสิ่งโตยักษ์ที่ถูกจัดเป็นสปีชีส์ใหม่ว่า “ซิมบากุบวา กุโตกาอัฟริกา” (Simbakubwa kutokaafrika) หรือมีความหมายว่า “สิงโตแอฟริกันยักษ์”

จากการคำนวณของนักวิจัย คาดว่าสิงโตยักษ์ในอดีตนี้หนักได้ถึง 1,500 กิโลกรัม และสามารถล่าเหยื่อในยุคนั้นที่มีใหญ่โตเท่าช้างได้

แมวธิว บอร์ธส (Matthew Borths) จากมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) ผู้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) กล่าวว่า จากขนาดฟันที่ใหญ่โตนั้น ทำให้สิงโตซิมบากุบวานั้นเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่โตกว่าสิงโตในยุคปัจจุบันอย่างมาก และอาจจะตัวใหญ่กว่าหมีขั้วโลกด้วย

ขณะที่ภาพวาดจำลองลักษณะของสิงโตยักษ์ในอดีตนี้ แสดงลักษณะของสัตว์กินเนื้อชนิดนี้คล้ายแมวยักษ์นักล่า ที่มีเขี้ยวขนาดใหญ่และมีขนเป็นลายริ้ว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยเบื้องหลังการค้นพบครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยลงวารสารเจอร์นัลออฟเวอร์ทิเบรทพาลีออนโทโลจี (Journal of Vertebrate Paleontology) ซึ่งอธิบายไว้ว่า สิงโตซิมบากุบวานั้นอาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศเคนย่า เมื่อราว 23 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อ

นักวิจัยระบุว่า การค้นพบนี้จะเผยให้เห็นว่า นักล่าที่มีขนาดมหึมาและเหยื่อนั้นมีวิวัฒนาการอย่างไรเมื่อหลายล้านปีก่อนในช่วงสิ้นสุดยุคพาลีโอจีน (Paleogene epoch) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยเติบโตจากสัตว์ฟันแทะขนาดจิ๋ว กลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายสปีชีส์


กำลังโหลดความคิดเห็น