xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “เกาะเคี่ยมใต้” แหล่งหอยใหญ่กว่าที่ใดในไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสุริยน หมิแหม รองประธานท่องเที่ยวชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ โชว์ตัวอย่างหอยนางรมที่เลี้ยงในกระชัง
อยากดูหอยใหญ่ต้องไปสุราษฎร์ฯ แต่ถ้าอยากดูหอยใหญ่กว่าให้ไป “เกาะเคี่ยมใต้” ที่ จ.พังงา เพราะสภาพแวดล้อมนั้นเอื้อให้เลี้ยงหอยนางรมได้คุณภาพดี และยังเป็นจุดขายสำหรับชุมชนเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาโฮมสเตย์เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา เคยรวมตัวกันทำธุรกิจท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ โดยครัวเรือนที่มีความพร้อมได้สร้างห้องพักแยกออกจากตัวบ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่ด้วยปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่ง และปัญหาทางด้านกฎหมาย ชุมชนจึงต้องล้มเลิกธุรกิจท่องเที่ยวดังกล่าวไป

กระทั่งผู้ใหญ่บ้านของชุมชนเกาะเคี่ยวใต้ คือ นายดาหนี่ หาผล และนายสุริยน หมิแหม รองประธานท่องเที่ยวชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับ ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้นำเจ้าหน้าที่ศูนย์ไปเยี่ยมชมชุมชน ทำให้ผู้ไปเยี่ยมเยือนได้เห็นว่า เกาะเคี่ยมใต้นั้นสวยงาม มีความสดใหม่ เพราะยังไม่เปิดเกาะ และยังมีปูมดแดงที่หายาก รวมถึงมีกระชังเลี้ยงปลาและหอยนางรม ซึ่งเป็นวิถีการทำประมงที่น่าสนใจ และยังเป็นแหลงผลิตกุ้งเสียบของดี จ.พังงาด้วย

ทางศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน จึงได้เข้าไปช่วยฟื้นการทำท่องเที่ยวอีกครั้ง และจัดการพัฒนาคนเพื่อให้พร้อมรับการท่องเที่ยว ที่อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อม โดย น.ส.ปัณฑธิดา ไชยจิตร ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า คนทั่วไปอาจคุ้นเคยกับนวัตกรรมที่เป็นเทโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ แต่สิ่งที่ศูนย์ฯ กำลังดำเนินการคือการสร้างนวัตกรรมทางสังคม เพื่อให้คนในชุมชนพร้อมสำหรับทำธุรกิจท่องเที่ยว

น.ส.ปัณฑธิดากล่าวว่านวัตกรรมทางสังคมในที่นี้คือการการเข้าไปจัดการเชิงพื้นที่ และมองว่ามิติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องของชุมชน เพราะโดยทั่วไปเมื่อมีโครงการต่างๆ เข้าไปในชุมชน จะไม่ได้พัฒนาคนร่วมด้วย สำหรับกรณีของการท่องเที่ยวเมื่อไม่ได้พัฒนาคนก็ทำให้คนในท้องที่ไม่พร้อมรับแขก ไม่มีจิตบริการ ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่ได้รับจากโครงการที่เคยลงไปในพื้นที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช

พร้อมกันนี้ น.ส.ปัณฑธิดา ได้ยกตัวอย่างว่าเคยมีหมู่บ้านที่ได้รับการโปรโมทจากทางการ จนทำให้นักท่องเที่ยวแห่ไปเยือน แต่คนในชุมชนรับแขกไม่เป็น ไม่มีจิตสำนึกในการบริการ มุ่งแสวงหาแต่กำไร และที่พักยังไม่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม สุดท้ายนักท่องเที่ยวจึงแค่ไปเยือนแล้วกลับไปพักที่อื่น ทิ้งไว้เพียงขยะให้หมู่บ้านโดยที่คนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ

จากบทเรียนดังกล่าวทางศูนย์ฯ จึงได้เตรียมความพร้อมให้ชุมชน โดยคุยกับชุมชนเพื่อให้เกิดการตกผลึกว่าชุมชนต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบใด และนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายคือใคร และให้ชุมชนได้เข้าฝึกอบรมด้านการเงิน การทำบัญชีสำหรับท่องเที่ยว บ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ การทำตลาดประชาสัมพันธ์ รวมถึงจัดทำแผนสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูเรื่องทรัพยากรสำหรับกำหนดแนวทางท่องเที่ยว และการทำแผนธุรกิจ

ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน ระบุว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้มีใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถจัดโปรแกรมท่องเที่ยวได้ ดังนั้น รูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชนและไม่ผิดกฎหมาย คือการจัดการในรูปแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีกฎอยู่ 4 ข้อ คือ มีห้องพักไม่เกิน 4 ห้อง มีห้องแยกจากเจ้าของบ้านอย่างชัดเจน มียารักษาโรคและมีกิจกรรมชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วม

ทั้งนี้ ภายในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคใต้ตอนบน ได้เข้าไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่ จ.พังงาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวจำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองพังงา ชุมชนถ้ำน้ำผุด ชุมชนบ้านบางหมัก ชุมชนเกาเคี่ยมใต้ ชุมชนบ้านคลองบ่อแสน และชุมชนท้ายเหมือง ซึ่ง น.ส.ปัณฑธิดา ระบุว่าอยากให้ชุมชนค่อยๆ พัฒนาการท่องเที่ยว ไม่รีบเร่งจนเกินไปเพราะล้มเหลวได้ง่าย

สำหรับบ้านเคี่ยมใต้นั้น น.ส.ปัณฑธิดา ระบุว่า ชุมชนซึ่งเป็นชาวมุสลิมทั้งหมดนั้นมีความพร้อมมากสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาพื้นที่โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคาดว่าปลายปี 2652 ชุมชนบ้านเคี่ยมใต้จะได้เริ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งระหว่างนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในด้านการเผยแพร่ปรชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังให้พื้นที่ในการประชาสัมพันธ์โครงการภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 ที่ผ่านมาด้วย

ขณะที่การท่องเที่ยวของชุมชนยังอยู่ระหว่างการพัฒนา อาชีพเลี้ยงหอยนางรมยังเป็นรายได้สำคัญของหลายครอบครัว เช่นเดียวกับ นายสุริยนซึ่งกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า หอยนางรมที่เลี้ยงในกระชังที่เกาะเคี่ยมใต้นั้นมีคุณภาพดีที่สุดในไทย หอยมีสีขาวนวลเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในช่วงฝนตกหนักแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่อื่นจะได้หอยที่มีสีส้มแดง ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ชาวประมงในพื้นที่เกาะเคี่ยมใต้จะรับซื้อเพื่อมาเลี้ยงนาน 15 วันเพื่อให้หอยเปลี่ยนเป็นสีขาวนวล และได้ราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัว

นายสุริยนกล่าวว่า พื้นที่เกาะเคี่ยมใต้นั้นรายล้อมด้วยป่าชายเลน ทำให้คลื่นลมสงบ สำหรับสำหรับเลี้ยงหอยนางรม และงานเลี้ยงหอยนางรมนั้นไม่ต้องออกแรงมาก เพียงแค่ล่อลูกหอยนางรมตามป่าชายเลนให้ไปเกาะล้อยางรถจักรยานยนต์ แล้วปล่อยให้โตขนาด 3 เซ็นติเมตร จากนั้นจึงแกะไปติดกับปูนแล้วแขวนไว้ในกระชัง เลี้ยงต่ออีก 6 เดือนโดยไม่ต้องให้อาหาร เพราะหอยจะกินแพลงก์ตอนที่อยู่น้ำ เมื่อโตประมาณ 4 นิ้วก็แกะออกไปจำหน่ายได้ในราคาตัวละ 12 บาท

อย่างไรก็ตาม นายสุริยนระบุว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อชาวประมง สูญเสียหอยนางรมในกระชังไปเป็นจำนวนมาก บางคนเคยเลี้ยงหอยประมาณ 100,000 ตัว แต่เหลือเพียง 10,000 ตัว เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างรุนแรง จนอากาศร้อนจัดมากๆ และทำให้หอยตายไปจำนวนมาก

หลังจากนี้ ชาวชุมชนเคี่ยวใต้ต้องพัฒนาแผนธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อแข่งขันกับอีก 6 ชุมชน โดยชุมชนที่ชนะจะได้เงินรางวัล 100,000 บาท ซึ่ง น.ส.ปัณฑธิดา ระบุว่า เงินจำนวนนี้แม้จะน้อยนิด แต่หากนำไปใช้อย่างเหมาะสมจะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวของชุมชนอย่างมาก เช่น นำไปใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย
หอยนางรม ของชุมชนเกาะเคี่ยมใต้
กระชังเลี้ยงหอยนางรม ของชุมชนเกาะเคี่ยมใต้
กระชังเลี้ยงหอยนางรม ของชุมชนเกาะเคี่ยมใต้
 แนวป่าชายเลนที่ช่วยป้องกับคลื่นลม และเป็นแหล่งผลิตอาหารของหอยนางรม
ชาวชุมชนเกาะเคี่ยมใต้ และห้องพักโฮมสเตย์
ทิวทัศน์ทางทะเลส่วนหน่งของเกาะเคี่ยมใต้
ชาวประมงท่ามกลางทิวทัศน์ทางทะเลส่วนหน่งของเกาะเคี่ยมใต้
แนวป่าชายเลนที่ช่วยป้องกับคลื่นลม และเป็นแหล่งผลิตอาหารของหอยนางรม

ภาพขยายปูมดแดง ปูตัวเล็กๆ ตามแนวหาดทรายที่เกาะเคี่ยมใต้

มะเอียด ผู้ผลิตกุ้งเสียบของดี จ.พังงา
มะเอียด ผู้ผลิตกุ้งเสียบของดี จ.พังงา


กำลังโหลดความคิดเห็น