นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบคลื่นแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก คาดจะช่วยเผยจุดกำเนิดในอดีตที่ยาวนานของดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน
หลังจากขี่หลังยานอวกาศอินไซต์ (InSight) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ไปถึงดาวอังคาร ยานไซส์ (SEIS) ยานลงจอดรูปโดมที่ลงจอดพื้นผิวดาวอังคารเมื่อเดือน ธ.ค.2018 ที่ผ่านมา ได้ตรวจพบสัญญาณการสั่นไหวใต้พื้นผิวดาวอังคาร
องค์การอวกาศฝรั่งเศสหรือซีเนส (Cnes) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมยานไซส์ เผยว่าเครื่องมือที่ติดตั้งบนยานได้ตรวจพบ สัญญาณการสั่นสะเทือน ที่แม้ว่าสัญญาณจะอ่อน แต่เป็นสัญญาณแผ่นดินไหวบนดาวอังคารหรือมาร์สเควก (marsquakes) ได้อย่างชัดเจน
เครื่องมือดังกล่าวมีหน้าที่หลักคือวัดการสั่นสะเทือนของพื้นผิวดาวอังคารที่เกิดจากสภาพอากาศ ทว่าสามารถตรวจวัดการเคลื่อนไหวลึกลงไปใต้พื้นผิวได้ด้วย ซึ่งทีมวิจัยคาดหวังว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลกิจกรรมที่ใจกลางดาวอังคารได้ ด้วยหวังว่า จะได้มองย้อนกลับไปถึงการก่อตัวของดาวอังคารเมื่อหลายล้านปีก่อน
ฟิลิปเป โลญองเน (Philippe Lognonne) นักวิจัยจากสถาบันธรณีฟิสิกส์ปารีส (Paris' Institut de Physique du Globe) กล่าวว่าเป็นเรื่องยอดเยี่ยมที่ในที่สุดได้สัญญาณว่า ยังคงมีแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร ซึ่งพวกเขาต่างรอคอยสัญญาณแรกของแผ่นดินไหวบนดาวอังคารมานานหลายเดือน
ทางด้าน บรูซ บาเนิร์ดท (Bruce Banerdt) จากนาซา กล่าวว่าการตรวจวัดแผ่นดินไหวได้นั้น เป็นการปักหมุดกำเนิดสาขาใหม่ นั่นคือ วิชาแผ่นดินไหวดาวอังคาร
ทีมวิจัยระบุว่า ยังคงทำงานเพื่อยืนยันถึงสาเหตุของการสั่นไหวที่เกิดขึ้นและต้องยืนยันให้ได้ว่า การสั่นสะเทือนนั้นมาจากภายในของดาวเคราะห์ ไม่ใช่การบิดเบือนจากลมหรือสัญญาณรบกวน โดยทีมวิจัยเลือกสัญญาณสั่นสะเทือนเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2019 ที่ผ่านมาศึกษา แต่เครื่องมือยังตรวจวัดได้อีก 3 สัญญาณสั่นสะเทือน แต่เป็นสัญญาณที่อ่อนกว่ามาก