xs
xsm
sm
md
lg

“กากาโป” นกแก้วจอมอ้วนมีลูกเพิ่มแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โฉมหน้านกแก้วกากาโป นกแก้วกลางคืนที่อ้วนที่สุดในโลก  (ANDREW DIGBY / NEW ZEALAND DEPARTMENT OF CONSERVATION / AFP)
สถานการณ์ของ “กากาโป” นกแก้วตุ้ยนุ้ยที่บินไม่ได้และใกล้จะสูญพันธุ์ มีแนวโน้มชวนให้ชื่นใจ เมื่อนกแก้วจอมอ้วนที่พบได้เฉพาะนิวซีแลนด์ ทำลายสถิติฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่ออกมาหลายร้อยฟอง และคาดว่าจะมีลูกนกรอดชีวิตเกือบร้อยตัว

“กากาโป” (kakapo) เป็นนกแก้วที่อ้วนที่สุดในโลกและบินไม่ได้ พบได้เฉพาะถิ่นที่นิวซีแลนด์เท่านั้น และกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยย้อนกลับไปไม่ถึง 50 ปีก่อน เชื่อว่านกหากินกลางคืนชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากโลก

ทว่า แอนดรูว ดิกบี (Andrew Digby) ที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ประจำศูนย์ฟื้นคืนนกกากาโปของนิวซีแลนด์ ระบุว่า จากการจับตาอย่างใกล้ชิดภายใต้โครงการขยายพันธุ์นกกากาโป นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 19เม.ย.2019 นี้จะมีลูกนกกากาโปฟักออกจากไข่

ด้านนักวิทยาศาสตร์นิวซีแลนด์ระบุว่า ฤดูกาลผสมพันธุ์ปีนี้บรรดานกแก้วกากาโปต่างสุขสมในฤดูกาลผสมพันธุ์จนทำลายสถิติ โดยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้นกแก้วซึ่งมีลักษณะผสมพันธุ์เฉพาะตัวนี้มีความสุขสมในการผสมพันธุ์มากขึ้น

จำนวนลูกนกที่รอดชีวิตตามคาดการณ์นี้ เป็นตัวเลขที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรนกที่มีนกโตเต็มวัยเพียง 145 ตัว นับจากการค้นพบนกชนิดเมื่อปี 1970 และปัจจุบันนกกากาโปที่มีชีวิตรอด ถูกนำไปอนุรักษ์ไว้บนเกาะที่ปลอดจากศัตรูตามธรรมชาติของนกชนิดนี้

ดิกบียังอธิบายอีกว่า นกกากาโปเป็นนกแก้วที่ “ไม่ธรรมดา” เพราะ นกตัวเมียเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผสมพันธุ์ และจะผสมพันธุ์ทุกๆ 2- 4 ปี เมื่ิอ “ริมูเบอร์รี” (rimu berry) ต้นไม้ประจำถิ่นของนิวซีแลนด์มีผลเต็มต้น

ดิกบีกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรที่กระตุ้นพฤติกรรมดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ทีมวิจัยกำลังพุ่งความสนใจคือผลริมูเบอร์รี ที่มีวิตามินดี (vitamin D) สูง ซึ่งเป็นสุดยอดอาหารที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญพันธุ์และสุขภาพ

ปีนี้ต้นริมูเบอร์รีให้ผลผลิตอย่างเหลือเฟือ ซึ่งดิกบีระบุว่ามีทฤษฎีหนึ่งที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและอุณหภูมิขึ้นๆ ลง อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลเบอร์รีชนิดนี้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์

เมื่อเริ่มฤดูกาลผสมพันธุ์ นกตัวผู้ที่หนักประมาณ 4.0 กิโลกรัม จะออกไปแสดงการเกี้ยวพาราสี ส่วนนกตัวเมียจะเป็นฝ่ายเลือกตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ โดยเมื่อผสมพันธุ์แล้วต่างก็แยกย้าย และกันนกตัวผู้ออกระหว่างกระบวนการกกไข่

สำหรับโครงการฟื้นคืนนกกากาโปนั้น จะจับตานกกากาโปอย่างเข้มงวด แม้ว่านกเหล่านั้นจะเข้าไปอยู่ในป่า โดยนกแต่ละตัวจะติดอุปกรณ์ส่งสัญญาณวิทยุ และยังมีระบบเฝ้าดูรังนกฝังอยู่ที่รังด้วย โดยดิกบีทราบว่ามีตัวเมียโตเต็มวัย 50 ตัว และมี 49 ตัวที่ออกไข่ 249 ฟอง

ในจำนวนดังกล่าว มีไข่ฟักออกมา 89 ตัว และคาดว่าจะรอดจนโตเต็มวัย 75 ตัว ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มากกว่า 2 เท่า ของตัวเลขความสำเร็จในฤดูกาลผสมพันธุ์เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดิกบีผู้คาดหวังว่า นกแก้วจอมอ้วนนี้จะเพิ่มจำนวนไปถึง 500 ตัวเป็นอย่างน้อย และบอกด้วยว่า โครงการนี้อาจเป็นการบริหารจัดการชนิดพันธุ์ที่เข้มข้นมากที่สุดโครงการหนึ่ง
ภาพลูกนกที่ฟักออกจากไข่และบันทึกไว้เมื่อ 27 ม.ค.2019 ที่ผ่านมา  (ANDREW DIGBY / NEW ZEALAND DEPARTMENT OF CONSERVATION / AFP)
ภาพบันทึกไว้เมื่อ 27 ม.ค.2019 ที่ผ่านมา ขณะนกกากาโปกกไข่  (ANDREW DIGBY / NEW ZEALAND DEPARTMENT OF CONSERVATION / AFP)
นกกากาโปเป็นนกแก้วกลางคืนที่บินไม่ได้  (ANDREW DIGBY / NEW ZEALAND DEPARTMENT OF CONSERVATION / AFP)
นกกากาโปเป็นนกแก้วกลางคืนที่บินไม่ได้  (ANDREW DIGBY / NEW ZEALAND DEPARTMENT OF CONSERVATION / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น