มนุษย์อวกาศหญิงของนาซาจะกลายเป็นผู้หญิงที่อยู่บนสถานีอวกาศยาวนานที่สุด หลังภารกิจยืดเวลาออกไปจาก 6 เดือน เป็น 11 เดือน ขณะที่ลูกเรือชาย 2คนที่เดินทางไปพร้อมกันจะกลับลงมาก่อน
คริสตินา แฮมมอค คอช (Christina Hammock Koch) มนุษย์อวกาศหญิงวัย 40 ปีขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เดินทางขึ้นไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2019 พร้อมๆ กับมนุษย์ชายชาวอเมริกันและรัสเซียอีก 2 คน
เดิมมนุษย์อวกาศหญิงของนาซาคนนี้มีกำหนดอยู่บนสถานีอวกาศ 6 เดือน แต่ล่าสุดนาซาเผยว่าเธอจะได้ใช้เวลาอยู่ในวงโคจรเกือบๆ 11 เดือน ซึ่งนั่นจะทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่มีเที่ยวบินอวกาศยาวนานที่สุด ทำลายสถิติของ เปกกี้ วิทสัน (Peggy Whitson) มนุษย์อวกาศหญิงอีกคนของนาซา ที่เคยใช้เวลาบนสถานอวกาศ 288 ปี ในช่วงปี ค.ศ.2016-2017
รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า คอชจะอยู่บนสถานีอวกาศไปจนถึงเดือน ก.พ.2020 ส่วนเพื่อนร่วมทางชาย 2 คนที่เดินทางขึ้นไปพร้อมเธอจะเดินทางกลับลงมาบนโลกในวันที่ 3 ต.ค.นี้
คอชเผยว่าเธอรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “เจ๋งดี” เมื่อทราบว่าภารกิจของเธอถูกยืดเวลาออกไป ซึ่งเธอเองก็ทราบมาก่อนแล้วว่า มีโอกาสที่ภารกิจจะยาวนานขึ้น ซึ่งนับเป็นฝันที่กลายเป็นจริง
ด้าน เจนนิเฟอร์ โฟการ์ตี (Jennifer Fogarty) นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ประจำโครงการวิจัยลูกเรือ (Human Research Program) ของนาซากล่าวว่า การยืดภารกิจของคอชออกไปนั้น จะช่วยให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากเที่ยวบินอวกาศอันยาวนานที่จะส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ และยังจะช่วยสนับสนุนภารกิจในอนาคตที่จะส่งคนกลับไปดวงจันทร์และส่งคนไปเยือนดาวอังคาร
มนุษย์อวกาศนาซาที่ทำสถิติเป็นชาวอเมริกันที่ใช้เวลาบนเที่ยวบินอวกาศยาวนานที่สุดคือ สก็อตต์ เคลลี (Scott Kelly) ที่ใช้เวลาบนสถานอวกาศนานาชาตินาน 340 วัน ร่วมกับ มิคาอิล กอร์เนียนโก (Mikhail Kornienko) มนุษย์อวกาศรัสเซีย เมื่อช่วงปี ค.ศ.2015-2016
ขณะที่เที่ยวบินอวกาศที่ยาวนานที่สุดทำสถิติโดย วาเลรี โปลยากอฟ (Valery Polyakov) มนุษย์อวกาศรัสเซีย ที่ใช้เวลาบนสถานีอวกาศมีร์ (Mir space station) ของรัสเซีย นานถึง 14 เดือน ระหว่างปี ค.ศ.1994-1995
ปัจจุบันลูกเรือที่อยู่บนสถานีอวกาศมีชาวอเมริกัน 3 คน คือ คอช, แอนน์ แมคเคลน (Anne McClain) และ นิค แฮก (Nick Hague) ชาวรัสเซีย 2 คน คือ โอเล็ก โกโนเนนโก (Oleg Kononenko) และ อเล็กซีย์ ออฟชินิน (Alexey Ovchinin) และชาวแคนาดาอีก 1 คน คือ เดวิด แซงต์-ฌาคส์ (David Saint-Jacques)
ทั้งนี้ ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย.นี้ จะมีมนุษย์อวกาศหลายคนเดินทางกลับมายังโลก และจะมีมนุษย์อวกาศผลัดใหม่กลับขึ้นไป ซึ่งมีทั้ง ลูกา ปาร์มิตาโน (Luca Parmitano) มนุษย์อวกาศชาวอิตาลี และมนุษย์อวกาศคนแรกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั่นคือ ฮัซซา อาลี อัลมันซูรี (Hazzaa Ali Almansoori) ซึ่งจะใช้เวลาบนอวกาศประมาณ 1 สัปดาห์
ตอนนี้มนุษย์ที่จะขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ ต้องอาศัยยานอวกาศโซยุซของรัสเซียนำส่งขึ้นไป ส่วนภาคเอกชนของสหรัฐฯ อย่างสเปซเอกซ์ (SpaceX) และโบอิง (Boeing) ก็กำลังพัฒนาการขนส่งของตัวเองเพื่อนำมนุษย์ไปอวกาศ และมีกำหนดที่พร้อมนำส่งมนุษย์ช่วงปลายปี 2019 นี้ ซึ่งเอเอฟพียังเน้นด้วยว่า สถานีอวกาศนานาชาติ เป็นสถานที่มีความร่วมมือระหว่างอเมริกันและรัสเซียที่พบได้น้อยมาก โดยสถานีอวกาศแห่งนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998
แม้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีบทบาทในการนำส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในการลำเลียงเสบียงและสัมภาระให้แก่ลูกเรือบนสถานีอวกาศ อย่างกรณีล่าสุดจรวดนอร์ธรอปกรัมแมนแอนทาเรส (Northrop Grumman Antares rocket) ของนอร์ธรอปกรัมแมนอินโนเวชันส์ ซิสเตม (Northrop Grumman Innovation Systems) ได้นำส่งยานขนส่งซิกนัส (Cygnus) ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อลำเลียงอุปกรณ์วิทยาศาสตร์และงานวิจัยหนัก 7,600 ปอนด์ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ