ฝุ่นคลุ้งเป็นทางตามการเคลื่อนที่ของรถยนต์ ต้นไม้เบื้องหน้าส่วนใหญ่ไม่เหลือใบอยู่แล้ว สีน้ำตาลหลากเฉดคือโทนสีหลักของจุดหมายที่คณะเดินทางมาถึง ครั้งนี้ผมถูกไหว้วานให้ช่วยขับรถนำคณะวิจัยเดินทางมาเพื่อศึกษากล้วยไม้น้ำตามลำห้วยและน้ำตกในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ไอร้อนของสภาพแวดล้อมภายนอกพุ่งเข้าปะทะผิวทันทีที่ประตูรถถูกเปิดออก "เพิ่งจะสิบโมงเช้าเองนะ ไม่เสียชื่อจังหวัดที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในประเทศไทย จริง ๆ" ผมคิด ก่อนจะมองไปยังอุปกรณ์วัดอุณหภูมิซึ่งขึ้นตัวเลขอันควรจะเป็นของช่วงเวลาบ่ายเสียมากกว่า เครื่องมือสำหรับการศึกษาวิจัยถูกจัดเตรียมพร้อม แน่นอนว่าชุดเล่นน้ำก็เป็นหนึ่งในนั้นและเหมือนว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุด ระยะทางเดินเท้าจากลานจอดรถยนต์ระบุไว้ว่าประมาณ 1.8 กิโลเมตร เพื่อเข้าไปยังลำห้วยและน้ำตก สมาชิกเริ่มต้นเดินสำรวจขึ้นไปตามลำธาร
"ปีนี้เหมือนจะติดฝักเร็วกว่าปกตินะ" อาจารย์ที่เดินทางมาด้วยกันเอ่ย "บางฝักแตกไปแล้วด้วย น่าจะเดินทางมาเร็วกว่านี้จะได้เห็นดอกกล้วยไม้บานสวยเต็มลำห้วย" ผมเอ่ยเห็นด้วยอยู่ในใจ
"อาจจะเป็นเพราะปีนี้แล้งกว่าปีก่อน ๆ น่ะครับอาจารย์ กล้วยไม้เลยออกดอกและติดฝักเร็วกว่าปกติ" ผมเสนอความคิดจากข้อมูลที่ทราบมาว่า กล้วยไม้ชนิดนี้จะออกดอกและติดฝักในช่วงฤดูแล้งซึ่งระดับน้ำในลำห้วยลดต่ำลงกว่าในช่วงฤดูฝน ผมปล่อยให้คณะวิจัยทำงานของตัวเองต่อไปและเริ่มหันเหความสนใจไปยังกิจกรรมที่ผมคิดว่าตัวเองค่อนข้างถนัด การเดินท่อม ๆ ไปตามลำห้วยเพื่อหาดูกบ เขียด งู และเพื่อนผู้เลื้อยคลานไปตามผืนดิน
บางครั้งผมลัดเลาะข้างลำห้วย บางครั้งเดินตัดผ่าน บางครั้งปีนเกาะไปตามก้อนหิน สภาพอากาศแตกต่างไปจากบริเวณลานจอดรถ เวลากลางวันอยู่อีกไม่ไกลแต่อุณหภูมิรอบตัวตอนนี้กลับรู้สึกเย็นสบายกว่า อาจเพราะกางเกงเปียกน้ำ อาจเพราะเสียงแรงน้ำไหลกระทบหิน อาจเพราะเสียงนกและแมลงร้องระงม อาจเพราะความเขียวร่มรื่นของใบไม้ที่ช่วยกั้นความร้อนแรงของแสงแดด แม้เหงื่อจะออกตามร่างกายจนเสื้อผ้าเริ่มเปียกก็จริงแต่ผมกลับไม่รู้สึกแย่เลยซักนิดเดียว "อย่าดีกว่า ไม่เอามาเปรียบเทียบกับชีวิตในเมืองดีกว่า" ผมบอกตัวเอง
คลื่นน้ำกระเพื่อมในบ่อข้างลำห้วยน้ำไหลทำให้ความคิดกลับมาอยู่กับตัวอีกครั้ง ผมเดินไปยังบ่อ ปลาตัวน้อยตัวใหญ่ว่ายอยู่ในบ่อคือเหตุของแรงกระเพื่อมที่ผมสังเกตเห็น ความผิดหวังเกิดขึ้นแต่เพียงไม่นานก่อนสายตาเหลือบไปเห็นก้อนกลม ๆ สีดำฝูงหนึ่งบริเวณริมขอบบ่อ
"เฉาก๊วย ไม่ได้เจอกันตั้งนานเลย" ผมเอ่ย พร้อมกับเดินเข้าใกล้เพื่อยืนยันชนิดและมองให้เห็นชัดมากขึ้น
ลูกอ๊อดสีดำขนาดใหญ่ประมาณหัวแม่โป้งเท้าโบกหางพริ้วไหวว่ายน้ำ บางตัวเกาะกินอยู่กับพื้นก้อนหินมีตะไคร่ บางตัวว่ายหงายท้องดูดตะกอนลอยผิวน้ำ บางตัวอยู่นิ่งเหมือนกำลังพักผ่อน บางตัวซ่อนหลบอยู่ใต้ใบไม้แต่ส่วนหางเปิดโล่งเห็นชัด ทุกตัวที่ผมเห็นล้วนดูแล้วน่ารักน่าชัง ลูกอ๊อดกบเขาสูง (Nasirana alticola) มีลำตัวสีดำบ้างมีสีออกน้ำตาลอ่อนแต่มีลักษณะเด่นคือ จุดวงกลมสีดำขอบแดงสดหลายจุดจากโคนไปยังปลายหาง หลายครั้งที่มักพบฝูงลูกอ๊อดชนิดนี้รวมฝูงจำนวนมากหากินบริเวณท้องน้ำ เหมือนเฉาก๊วยกับน้ำเชื่อมในถ้วยของหวานคุ้นตา อันเป็นที่มาของชื่อเล่นซึ่งผมมักจะเรียกพวกมันเสมอ ตัวนั้นเริ่มมีขาหลังงอกมาแล้วผมสังเกตุเห็นขาเล็กๆ บริเวณโคนหาง "เดี๋ยวพวกมันคงเปลี่ยนรูปร่างแล้วขึ้นจากน้ำเร็วๆ นี้ อยากเห็นจัง" ผมรำพึงรำพันไม่อยากกลับและนั่งมองพวกมันต่อจนกระทั่งเกือบเลยเวลาต้องเดินทางกลับ
"ว่าไง เจออะไรบ้าง" อาจารย์เอ่ยถามผมเมื่อเดินมาถึงจุดที่นัดหมายเอาไว้ ผมยิ้มก่อนเรื่องราวของลูกอ๊อดน่ารักเหล่านั้นจะถูกบอกต่อ
การเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับในวันนั้นสร้างความรู้สึกยินดีพร้อมกับรอยยับย่นยินดีบนมุมปากแบบที่ไม่ได้รู้สึกมานาน
เกี่ยวกับผู้เขียน
"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน