ยานอวกาศญี่ปุ่นเดินหน้าระเบิดผิวดาวเคราะห์น้อย “ริวกุ”
ยานอวกาศญี่ปุ่นเดินหน้าภารกิจสุดหิน ปล่อยเครื่องมือระเบิดพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย หาร่องรอยวิวัฒนาการระบบสุริยะ และเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก
เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยานอวกาศฮายาบูซะ 2 (Hayabusa2) ขององค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือแจกซา (JAXA) ได้ลงแตะพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) เป็นเวลาสั้นๆ พร้อมทั้งปล่อยกระสุนใส่พื้นผิวดาวเคราะห์น้อยให้ฝุ่นฟุ้งเพื่อเก็บตัวอย่าง ก่อนจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งค้างฟ้าเหนือดาวเคราะห์น้อย
ล่าสุดยานอวกาศฮายาบูซะ 2ได้ทำภารกิจที่ยากที่สุดสำเร็จ นั่นคือภารกิจปล่อย “อิมแพคเตอร์” (impactor) ขนาดจิ๋วที่มีรูปทรงกรวยและมีก้นทองแดงอยู่ด้านล่าง ขณะที่ยานบินโฉบเหนือพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยประมาณ 500 เมตร เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.2019 ที่ผ่านมา
อิมแพคเตอร์นี้ถูกโปรแกรมให้ระเบิดผิวดาวเคราะห์น้อยด้วยก้นทองแดงที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งจะขุดให้เป็นหลุมจากการปะทะที่พิ้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุ ที่อยู่ห่างจากโลก 300 ล้านกิโลเมตร ส่วนฮายาบูซะ 2 ยานแม่นั้นได้ขยับให้ห่างจากบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการระเบิดหรือการพุ่งชนดาวเคราะห์ริวกุ
ยานอวกาศฮายาบูซะ 2 ยังปล่อยกล้องออกมาจับภาพเหตุการณ์ ซึ่งภาพจากกล้องในมุมต่างๆ ที่ด้านล่างของยาน เผยให้เห็นว่าการปล่อยอิมแพคเตอร์นั้นทั้งมุมและตำแหน่งถูกต้อง
ยูอิชิ ซึดะ (Yuichi Tsuda) ผู้จัดการโครงการฮายาบูซะ 2 บอกผู้สื่อข่าวว่า แจกซาสามารถยืนยันว่า อิมแพคเตอร์พุ่งชนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย ได้จากหลักฐานภาพถ่ายที่บันทึกโดยกล้องที่ยานอวกาศถ่ายทอดมา
ด้าน ทากาชิ คูโบตะ (Takashi Kubota) นักวิจัยด้านวิศวกรรม กล่าวว่า การใช้เทคนิคระเบิดและกลยุทธ์อันโลดโผนของยานอวกาศนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเขาหวังว่าปฏิบัติการนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นดาวเคราะห์น้อยในมุมมองที่มีโอกาสเห็นได้ยาก
นอกจากนี้ มาโกโตะ โยชิกาวะ (Makoto Yoshikawa) นักวิทยาศาสตร์ของแจกซาบอกว่า เทคนิคการระเบิดของภารกิจนี้ที่มีแม่นยำมาก เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการปกป้องโลกหากถูกดาวเคราะห์น้อยคุกคาม แม้ว่าการระเบิดในภารกิจนี้จะเล็กมากจนไม่สามารถขยับดาวเคราะห์น้อยริวกุออกจากวงโคจร
นักวิทยาศาสตร์ของแจกซาระบุด้วยว่า หลุมระเบิดที่เกิดขึ้นจากอิมแพคเตอร์นั้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ได้ถึง 10 เมตร หากพื้นผิวนั้นเป็นทราย หรืออาจจะมีเส้นผ่านกลางประมาณ 3 เมตร หากพื้นผิวนั้นเป็นหิน
เป้าหมายของการสร้างหลุมระเบิดบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวกุ เพื่อให้วัตถุที่ “สดใหม่” จากใต้พื้นผิวดาวเคราะห์น้อยพุ่งขึ้นมา ซึ่งวัตถุดังกล่าวจะเป็นร่องรอยที่ช่วยให้เข้าใจระยะก่อกำเนิดของระบบสุริยะ ทั้งนี้ เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยริวกุนั้นบรรจุสสารอินทรีย์และน้ำในปริมาณมหาศาลมาจากยุคเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน ขณะที่ระบบสุริยะเพิ่งก่อกำเนิด
ภาพถ่ายของดาวเคราะห์น้อยริวกุเผยให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีพื้นผิวขรุขระ ที่เต็มไปด้วยกรวดก้อนใหญ่ๆ โดยยานฮายาบูซะ 2 ได้สำรวจพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยด้วยกล้อง และอุปกรณ์เซนเซอร์ต่างๆ ที่ติดอยู่บนยานอวกาศ และยังมีหุ่นยนต์อีก 2 ตัวที่ส่งลงไปสำรวจพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย นั่นคือ ยานโรเวอร์มิเนอร์วา-2 (MINERVA-II) กับหุ่นยนต์ความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศส-เยอรมันชื่อว่า มาสคอต (MASCOT)
ยานอวกาศฮายาบูซะ 2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือน ธ.ค.2014 และมีกำหนดกลับมายังโลกพร้อมตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเมื่อปี 2020 โดยยานอวกาศที่มีขนาดเท่าๆ ตู้เย็นขนาดใหญ่ลำนี้ มีมูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 8.5 พันล้านบาท โดยยานได้ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงาน
ยานอวกาศฮายาบูซะ 2ยังสืบต่อความสำเร็จจากยานฮายาบูซะลำแรก ซึ่งเป็นยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อยอีกลำของแจกซา โดยยานอวกาศรุ่นพี่นั้นได้นำตัวอย่างฝุ่นดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกเมื่อปี 2010 หลังการเดินทางท่องอวกาศ 7 ปี และนำเป็นชัยชนะสำคัญในทางวิทยาศาสตร์
สำหรับริวกุนั้นมีความหมายว่า “วังมังกร” ตามความหมายภาษาญี่ปุ่น และยังหมายถึงวังใต้มหาสมุทรตามนิทานปรัมปราของญี่ปุ่น ส่วนฮายาบูซะนี้มีความหมายตามภาษาญี่ปุ่นว่า “นกเหยี่ยว”