xs
xsm
sm
md
lg

รุ้งงามยามไร้ฝน

เผยแพร่:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ


"วิ้วววววววววว วิ้ววววววววววววววว" เสียงร้องลากยาวคล้ายเสียงผิวปากดังสองครั้งบ้าง สามครั้งบ้าง เป็นจังหวะต่อเนื่องกัน มักเป็นเสียงที่ผมได้ยินเสมอถ้าสามารภนำพาตัวเข้าป่าไปในวันที่ท้องฟ้าโล่งมีแดดแรง และถ้าโชคดีในจังหวะเงยหน้าตามเสียงก็อาจได้เจอกับเจ้าของเสียงกำลังร่อนเล่นลมร้อนสยายปีกอยู่บนท้องฟ้า

"เหยี่ยวรุ้ง" นกนักล่า (Bird of prey) ขนาดค่อนข้างใหญ่ ตามปกติมีนิสัยสันโดษแต่บางครั้งก็อาจพบเจอเกาะกิ่งไม้สูงหรือร่อนหากินมากกว่า 2 ตัว ซึ่งนอกเหนือจากเสียงร้องแล้วรูปร่างและสีสันลวดลายของขนคลุมตัวและปีกขณะร่อนก็เป็นเอกลักษณ์ทำให้สามารถจำแนกชนิดเหยี่ยวรุ้งออกจากนกนักล่าชนิดอื่นได้อย่างไม่ยากนัก ตรงตามชื่อวิทยาศาสตร์ Spilornis cheela ที่แปลตรงตามตัวว่า นกเหยี่ยวที่มีจุด จากการที่ลำตัวด้านล่างและขนคลุมปีกมีจุดขาวขอบดำกระจายอยู่ทั่ว ซึ่งสามารถสังเกตุเห็นได้โดยง่ายเมื่อเหยี่ยงรุ้งกำลังร่อนอยู่บนท้องฟ้า แต่ถ้าเมื่อเกาะนิ่งบนกิ่งไม้จุกเหล่านี้จะสังเกตุได้ยาก ถึงกระนั้นรูปทรงและสีสันของพวกมันก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ให้จำแนกได้โดยง่าย เช่น แนวขนด้านหลังกระหม่อมที่ตั้งชูชันขึ้นมาได้ แถบหนังสีเหลืองสดระหว่างดวงตาและจะงอยปาก หรือขนคลุมตัวสีน้ำตาลที่จะมีสีขาวแซมอยู่ประปรายก็ตาม เป็นต้น

"โชกุน โชกุน" เสียงเรียกชื่อดังขึ้นขณะผมกำลังรับประทานอาหารเช้าบนโต๊ะกลางแจ้งของโรงแรมพักค้างแห่งหนึ่ง ผมมองตามไปยังต้นกำเนิดของเสียงพบผู้หญิงกำลังป้อนอาหารให้เหล่านก love birds และนกหงหยกสามสี่ตัวที่กำลังไต่เล่นบนกิ่งไม้แห้งนอกกรงเลี้ยง ยังไม่ทันละสายตา นกขนาดใหญ่ตัวหนึ่งก็บินขึ้นมาเกาะกิ่งไม้แห้งด้านข้างรั้วโรงแรมโดดเด่นชัดเจนทำให้ผมรู้ตัวว่าเข้าใจผิดเรื่องเจ้าของชื่อที่เพิ่งถูกเรียกไปก่อนหน้า ไม่ใช่ชื่อของนกหงหยก นกแก้ว หรือ love birds ตัวไหนในบริเวณนั้นแต่เป็นชื่อที่ถูกมองให้กับ "เหยี่ยวรุ้ง" ตัวนั้น จากสภาพขนที่แซมด้วยสีขาว ยุ่งเหยิง และขนหางยังไม่ครบสมบูรณ์ ผมเชื่อว่ามันยังเป็นเหยี่ยวรุ้งที่ยังไม่เต็มวัย ผมยอมรับว่าตัวเองค่อนข้างตกใจเพราะไม่ค่อยพบการที่เหยี่ยวรุ้งถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงนัก เพราะตามกฎหมายเหยี่ยวชนิดนี้จะเป็นหนึ่งในชนิดนกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามประกาศแนบท้ายของ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2535 และอีกประการหนึ่งที่แน่ใจจากความรู้ที่มีคือนกตัวนี้ไม่ได้ถูกเพาะพันธุ์มาอย่างแน่นนอน

"ปกติให้มันกินลูกเจี๊ยบกับเนื้อหมูน่ะ ลูกเจี๊ยบนี่กินหลายตัวเลย" คนเลี้ยงเริ่มพูดขึ้น "โชกุน หันมาหน่อย มีคนอยากถ่ายรูป" เขาเสริม

ตามธรรมชาติไม่ใช่เรื่องแปลกที่เหยี่ยวหรือนกนักล่าจะสามารถล่าและกินเหยื่อได้หลากหลายประเภทเพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย แต่ในกรณีของเหยี่ยวรุ้ง อาหารหลักของมันคือ งูหลายชนิด ตรงตามชื่อภาษาอังกฤษคือ Crested Serpent Eagle มีครั้งหนึ่งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าที่ติดอยู่ระดับพื้นได้ภาพเหยี่ยวรุ้งลงมาเดินอยู่หน้ากล้อง ภาพนี้สร้างความแปลกใจให้ผมพอควรจนกระทั่งภาพถัด ๆ ไปแสดงให้เห็นงูตัวหนึ่งในอุ้งเล็บของเหยี่ยวรุ้งขณะบินขึ้นจากพื้น เป็นที่น่ารันทดใจเมื่อคิดจากคำบอกเล่าของผู้ดูแลการที่เจ้าโชกุนอยู่ ณ ตรงนี้น่าจะไม่ได้บริโภคอาหารหลักของมันเลยตั้งแต่ถูกนำมาเลี้ยง

"วิ้วววววววววว วิ้ววววววววววววววว" เสียงเหยี่ยวรุ้งร้องให้ได้ยินอีกครั้งในพื้นที่อนุรักษ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก แม้จะไม่เห็นตัวแต่ผมสัมผัสได้ถึงความอิสระและอยู่เหนือสรรพสิ่งจากเสียงร้องของมัน

"โชกุน" คงได้ดำเนินชีวิตเช่นชื่อที่ถูกมอบให้และพ้นจากสายเชือกที่พันธนาการชีวิตมันเอาไว้ในซักวันหนึ่ง ความงามของรุ้งประดับท้องฟ้าในวันไร้หยาดฝน ผมหวังเอาไว้เช่นนั้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น