xs
xsm
sm
md
lg

พาชมไอเดียเด็กเด็ดๆ IT Contest 2019

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เจ้าของผลงานเมล็ดเชื้อเพลิงชีวภาพ
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์พาเที่ยวมหกรรมประกวดไอทีและโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ รวมสุดยอดไอเดียเยาวชน ตั้งแต่แอลกอฮอล์ก้อนจากวัสดุท้องถิ่น แผ่นกรองอากาศสกัดจากกล้วยน้ำว้า ระบบควบคุมผักออร์แกนิกส์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงานมหกรรมการแข่งขันทางด้านไอทีระดับเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 (The Eighteenth Thailand IT Contest Festival: IT 2019)” ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค.62 ณ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ภายใต้แนวคิด “Go together เยาวชนร่วมใจ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์อาสาพาชมผลงานที่น่าสนใจภายในงาน พร้อมเก็บภาพบรรยากาศต่างๆ ภายในงานมาให้ชมกัน เริ่มแรกเมื่อเข้าไปในงานจะมีจุดให้ลงทะเบียนให้ผู้ที่เข้าร่วมงานได้ลงทะเบียน และสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) และมีกิจกรรมร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อรับของที่ระลึกจากงาน

ภายในงานมีกิจกรรม ดังนี้ 1.การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 (The Twentieth One National Software Contest: NSC 2019) 2. การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 21 (The Twentieth One Young Scientist Competition: YSC 2019) 3. การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 18 (The Eighteenth Youth's Electronics Circuit Contest: YECC 2019) 4. โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่”  โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนงบประมาณให้แก่เยาวชนที่มีความตั้งใจจริง และผลงานมีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาผลงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร

สำหรับโครงการที่ 4 นั้น มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริง โดยเน้นการทำงานในรูปแบบใหม่ที่เน้นการสร้างกลไกการทำงานร่วมกับภาคีในลักษณะของเครือข่ายจิตอาสา เพื่อสร้างความยั่งยืนของโครงการและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคมไทย โดยปีนี้จะมีการนำเสนอผลงานในรูปแบบบอร์ดนิทรรศการ ทั้งหมด 14 ผลงาน จากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนจากงานมหกรรม IT2018 ที่ผ่านมาได้พัฒนาผลงานต่อยอด

เริ่มกันที่บูธสีชมพูโซน การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ชมผลงานเรื่องเมล็ดเชื้อเพลิงชีวภาพ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ด.ช.ภูวมินทร์ หมุกแก้ว อธิบายว่า หมู่บ้านของตัวเขาเองมีร้านอาหารและต้องใช้แอลกอฮอล์ก้อนในการอุ่นอาหารเป็นปริมาณมาก แต่แอลกอฮอล์ก้อนที่ร้านอาหารในพื้นที่ใช้นั้น ไม่ค่อยมีคุณภาพและราคาสูง เขาและเพื่อนเลยมีแนวคิดที่จะใช้วัสดุที่เหลือใช้ตามท้องถิ่น หรือตามธรรมชาตินำมาทำแทนพวกแอลกอฮอล์ก้อนตามท้องตลาด ส่วนสิ่งที่นำมาทดแทนคือโซดาไฟและไขมันวัว และเอทานอลแอลกอฮอล์ วิธีการคือนำโซดาไฟและไขมันวัวมะทำละลาย โดยให้ความร้อนจากนํ้าและเติมแอลกอฮอล์ลงไปแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นจึงเทใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ และทดสอบการเผาไหม้

“เราลองผิดลองถูกมาทั้งหมด 12 สูตรครับ ผลคือสูตรที่สิบเอ็ดคือสูตรที่ดีที่สุดครับ วิธีดูพิสูจน์ว่าสูตรนี้ดีอย่างไรคือ วัดจากค่าพลังงานความร้อน ซึ่งได้สูงถึง 0.67 กิโลแคลอรี พอทำการทดลองที่สองเราก็ลองหมักแอลกอฮอล์ขึ้นเอง โดยใช้วัสดุจากผลไม้ทั้งสามชนิด ได้แก่ กล้วย เปลือกมะละกอและเปลือกสับปะรด เราเอามาสับและก็ปั่นให้ละเอียด แล้วก็เทใส่ถังพลาสติกที่มีขนาดความจุ 20 ลิตร แล้วเติมยีสต์และปุ๋ยยูเรียลงไปแล้วหมักทิ้งไว้ หลังจากนั้นเรานำนํ้าหมักเหล่านั้นนำมากลั่นแล้วได้เครื่องกลั่นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็พบว่านํ้าหมักจากเปลือกสับปะรดสามารถกลั่นแอลกอฮอล์ออกมาได้มากที่สุดครับ"

"ขั้นตอนที่ 2 หาระยะเวลาในการหมักนํ้าหมักเปลือกสัปปะรดที่ดีที่สุด โดยทดลองหมักนํ้าหมักเปลือกสับปะรดในจำนวนวันต่างๆ ส่วนจำนวนวันที่เราทดลองนะครับ คือ 7 วัน 14 วัน 21 วันและ 28 วัน ผลคือนํ้าหมักเปลือกสับปะรด 21 วันสามารถกลั่นแอลกอฮอล์ออกมาได้มากที่สุดครับ และการทดลองต่อไปคือเราอยากจะเพิ่มประสิทธิภาพน้ำหมักครับ” ด.ช.ภูวมินทร์ กล่าว

ด้าน ด.ญ.สิทธิณี ลีนา เพื่อนร่วมทีม อธิบายต่อว่า ทีมอยากเพิ่มประสิทธิภาพแอลกอฮอล์ก้อน จึงทดลองใช้ผงจากพืช 3 ชนิด เติมลงไป คือ ผงมะกูด ผงตระไคร้ ผงข่า โดยทดลองใช้ในปริมาณต่างๆ ตั้งแต่ 0.5 กรัม 2 กรัม และ 5 กรัม แล้วนำไปทดลองแบบเดียวกันกับการทดลองที่ 1 แล้วเก็บการทดลอง ผลพบว่าผงตระไคร้ปริมาณ 2 กรัม เพิ่มค่าพลังงานความร้อนได้ดีทีสุด

“การทดลองที่ 4 เราต้องการที่จะหาผลิตภัณฑ์ที่จะมาแทนมาถ้วยสังกะสี เราเลยเลือกใช้เม็ดยางพารา โดยเอามาเจาะรูแล้วก็เอาเชื้อเพลิงใส่ลงไป หลังจากนั้นเราก็เอาไปทดสอบการเผาไหม้และเก็บผลการทดลองก็คือเมล็ดยางพาราเหมาะสมมากที่สุดค่ะ ก็คือสามารถให้มันติดไฟได้ แล้วก็การทดลองต่อไปนะคะ เราจะทดสอบประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์นี้ โดยการนำไปให้ร้านอาหารต่างๆ ทดลองมช้”ด.ญ.สิทธิณี กล่าว

ส่วน ด.ญ.สุธิดา แซ่คู กล่าวเสริมว่า การทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของเมล็ดเชื้อเพลิง ได้นำไปทดลองตามร้านอาหารต่างๆ จำนวน15 ร้าน และผลพบว่าที่ร้านอาหารที่นำไปทดลองใช้ ให้เสียงตอบรับว่าเมล็ดเชื้อเพลิงของพวกเธอมีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ดีกว่าแอลกอฮอล์ก้อนตามท้องตลาด สามารถลดต้นทุนของการผลิตได้ด้วย และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้อย่างเปลือกสับปะรดและไขมันวัว

ถัดไปคือ โครงการศึกษาประสิทธิภาพในการกรองอากาศของแผ่นกรองอากาศจากแทนนินที่สกัดจากกล้วยนํ้าว้า จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

หนึ่งฤทัย ไกยเดช กล่าวว่า เป็นโครงงานที่ใช้ในการผลิตแผ่นกรองจากพอลลิเมอร์เหลวเป็นส่วนผสมจากพอลิไวนิลแอลกอฮอล์กับสารสกัดแทนนินจากกล้วยน้ำว้า ขึ้นรูปด้วยวิธี Electrospinning จะใช้แรงหลักการทางไฟฟ้าสถิตย์ และมีตัวประจุสายละลายพอลิเมอร์ใส่เป็นขั้วบวกและขั้วลบ ต่อเข้าตรง collector เมื่อใส่ค่าของศักย์ไฟฟ้าจะเกิดการดึงดูดกันจะเกิดเป็นลำสารละลายพอลลิเมอร์สปริงเข้าไปลงบน collector ระยะทางที่ออกจากปลายเข็มถึง collector ตัวทำละลายก็จะเกิดการระเหยออกไป เกิดเป็นแผ่นกรอง และเมื่อนำไปส่องด้วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด พบว่า ขนาดรูพรุนจากเส้นใยนั้นมีขนาดเล็กที่สุด 0.682 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้

“ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ปริมาณ PM2.5 นะคะที่ลดลงกรองได้ 92.1 เปอร์เซ็นต์ และที่ใช้เป็นพอลลิไวนิลแอลกอฮอล์เพราะว่าสามารถละลายนํ้าได้ค่ะ จะทำให้ตัวแผ่นกรองของเราย่อยสลายได้ง่ายค่ะ” หนึ่งฤทัย กล่าว

ด้าน นภาพรรณ หงษ์ศรี ชี้แจงว่า ทดลองเป็นสองแบบ แบบแรกจะทดลองโดยใช้ชุดกรองแก้วสูญญากาศโดยจะวางแผ่นกรองเอาไว้ที่ถังวางแผ่นกรองเ สร็จแล้วจะต่อชุดเครื่องแก้วเข้ากับเครื่องปั้มเพื่อให้เป็นระบบสูญญากาศ เสร็จแล้วก็จะปล่อยควันธูปเข้าสู่ด้านบน เมื่อเสร็จจะเปิดด้านบนเพื่อดูควันธูปเมื่อผ่านแผ่นกรองและจะนำแผ่นกรองที่ผ่านการกรองไปวิเคราะห์ผล

ถัดมาที่บูธสีนํ้าเงิน NSC ผลงานเรื่องกัปตันโจรสลัดผู้โดดเดี่ยว โดย ด.ญ.ณัฐนันท์ เร็วเรียบ,ด.ญ.พิชญธิดา เรียบผา, ด.ญ.กัญญานัฐ ช่วยชนะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง

ด.ญ.ณัฐนันท์ กล่าวว่า เกมของพวกตนจะมีเนื้อเรื่องเป็นโจรสลัดเป็นโจรสลัดผู้หนึ่งที่เดินทางมาโดยทางเรือมีพ้องเพื่อนมากมายซึ่งระหว่างทางโดนพายุพัดทำให้เรือแตก เพื่อนได้เสียชีวิตหมดเหลือเขาแค่คนเดียวจึงเป็นที่มาของเกม เกมของพวกตนจะเป็นเกมเพลย์เป็นเกมแนวรูปแบบสองดีจะเล่นโดยการผ่านอุปสรรค ผ่านด่านต่างๆ เก็บเหรียญแล้วต้องฆ่าบอสถึงจะผ่านไปด่านต่อไปได้

ด.ญ.พิชญธิดา เรียบผา อธิบายต่อว่า เกมจะมีเป็นสามด่านใหญ่ ด่านแรกจะเป็นด่านสแวม ด่านที่สองเป็นด่านลาวา ด่านที่สามจะเป็นแฟนตาซีแล้วจะมีเควสย่อยเป็นด่านใต้นํ้า แล้วก็ด่านทั่วๆไปจะเป็นด่านที่ไม่มีบอสเป็นแค่ด่านเก็บโบนัส เก็บเหรีญ กลุ่มผู้ใช้ที่ตั้งเป้าหมายใช้ คือ ผู้เล่นอายุ 9-18ปี

บูธสีส้มโซน YECC ผลงานเรื่องระบบอัตโนมัติสำหรับผักปลอดสารพิษจากนักศึกษาชั้นปีที่4 คณะวิศวกรรมศาสตร์หาวิทยาลัยมหิดล โดยนาย อภิสิทธิ์ พิทย์เลิศพิกทักษ์ ,นส. อภิสรา ศิริธรรมปิติ และนาย ศิริภูมิ สารติ๊บ

นาย อภิสิทธิ์ พิทย์เลิศพิกทักษ์ กล่าวว่า กลุ่มพวกเขาจะควบคุมระบบอัตโนมัติของผักออแกนิกส์ โดยจะควบคุมเรื่องแสงแดดและเรื่องนํ้าให้เกษตรกร โดยระบบของพวกเขาออกแบบเพื่อเกษตรกรที่ไม่มีเงินทุนพอจะสร้างโรงเรือนและทำเกษตรในระบบเปิด

"ระบบของพวกเราจะควบคุมการเปิด-ปิด มี 2 โหมด คือโหมดควบคุมด้วยตัวเองกับโหมดอัตโนมัติ โหมดควบคุมด้วยตัวเองนั้น เกษตรกรสามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้เลย ผ่านแอปพลิเคชัน kidbright ตัวแอปพลิเคชันจะมีบอกค่าแสงต่างๆ ค่าอุณหภูมิ มีการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันว่าตอนนี้อากาศร้อนมากแล้ว แสงเยอะเกินไปแล้ว ในกรณีรดน้ำก็มีการแจ้งเตือนให้เกษตรกรรับทราบ

นส.อภิสรา ศิริธรรมปิติ ชี้แจงว่า มีการขึ้นเป็นแจ้งเตือนเหมือนแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ว่า ตอนนี้มีการรดนํ้าอยู่ เพราะว่าค่าความชื้นในดินตํ่าเกินไปจะแจ้งเตือนขึ้นมา

"จริงๆ อยากทำในโรงเรือน แต่เมื่อไปปรึกษากับเกษตรกร เขาบอกว่าตัวค่าโรงเรือนเวลาค่อนข้างแพง โรงเรือนหลังหนึ่งเป็นแสน เลยอยากให้ลองพัฒนาเป็นด้านนอกโรงเรือนแทน ใช้ธรรมชาติและควบคุมต้นทุนก็จะตํ่าลง"

“แรงบันดาลใจเราเกิดที่เห็นว่าพืชผักในท้องตลาดนั้น ใช้สารเคมีในการปลูกค่อนข้างสูงมาก มีร้านออแกนิกส์น้อย จึงคิดว่าหากสามารถช่วยให้เกษตรกรปลูกผักออแกนิกส์ให้ง่ายยิ่งขึ้น เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น เขาก็จะปลูกผักออแกนิกส์ให้เราบริโภคกันมากขึ้น”

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมผลงานของเยาวชน  ในเวที “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 18 (The Eighteenth Thailand IT Contest Festival: IT 2019)”  ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2562 ณ ไอซ์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ถนนรามอินทรา แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “Go together เยาวชนร่วมใจ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเว็บไซต์ http://fic.nectec.or.th/it2019 สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่นัทธ์หทัย ทองนะ (เน) โทร. 02 5646900 ต่อ 2335 มือถือ 093 598 2496 ปวีณา ครุฑธาพันธ์ (เก๋) โทร. 02 5646900 ต่อ 2332 มือถือ 081 770 4090
ผลงานเมล็ดเชื้อเพลิงชีวภาพ






























กำลังโหลดความคิดเห็น