นอกจากถนนคนเดินย่านเมืองเก่าแล้ว “เชียงคาน” ยังมีขุมทรัพย์มีชีวิตที่พบได้เฉพาะริมตลิ่งแม่น้ำโขงของเมืองอันเงียบสงบใน จ.เลย และเพิ่งประกาศเป็นพืชสปีชีส์ใหม่ได้ไม่ถึง 10 ปี
“ดอกหวีด” เป็นชื่อท้องถิ่นของพืชริมตลิ่งแม่น้ำโขงที่ชาวเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย รู้จัก แต่เมื่อปี พ.ศ.2554 พืชชนิดนี้ถึงค้นพบว่า เป็นพืชสปีชีส์ใหม่จากการจัดอนุกรมวิธาน โดย Lansdown, R.V. (อ้างอิงข้อมูลบัญชีแดงขององค์การสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ( International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN)
สำหรับชื่อวิทยาศาสตร์ของดอกหวีดคือ “คริปโตโครีน เลยเอ็นซิส” (Cryptocoryne loeiensis) ที่มีชื่อเมืองเลยอันเป็นสถานที่ค้นพบอยู่ในชื่อพืชชนิดนี้ด้วย
นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ตัวแทนจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง ให้ข้อมูลว่า ปกติจะพบดอกหวีดได้ตามริมตลิ่งเชียงคาน แต่ปัจจุบันพบน้อยลง เพราะระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลง และล่าสุดมีชาวประมงได้พบดอกหวีดเมื่อประมาณต้นเดือน มี.ค.62 จึงได้ชุดมาเพาะเลี้ยงในกระบะ
สำหรับใครที่อยากเห็นพืชเฉพาะถิ่นที่จัดเป็นพืชสปีชีส์ใหม่นี้ แวะไปเยี่ยมได้ ณ ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้าน บริเวณท่าเรือท่องเที่ยวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง ประมงพื้นบ้านเชียงคาน และจัดแสดงควบคู่นิทรรศการภูมิปัญญาและองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวประมง
ภายในศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านของชาวประมงเชียงคาน ยังได้จัดแสดงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับชาวประมง ได้แก่ ความรู้เรื่องสัตว์น้ำ ความรู้เรื่องเครื่องมือหาปลา ความรู้ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการหาปลา ความรู้ด้านวิถีชีวิตชาวประมง และพิธีกรรมหาปลา
สำหรับข้อมูลต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้นั้นเกิดจากการรวมกลุ่มทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยชาวประมงในท้องที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)