xs
xsm
sm
md
lg

"พัดทดน้ำ" เทคโนโลยีบ้านๆ ผันน้ำได้จริงไม่เปลืองน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พัดทดน้ำในลำน้ำหมั่น บ้านนาหมูม่น
เนเธอร์แลนด์มีกังหันลม แต่ที่ "ด่านซ้าย" จังหวัดเลยมี "พัดทดน้ำ" เครื่องจักรไม้ที่สามารถผันน้ำจากที่ต่ำสู่ที่สูงโดยไม่ใช้น้ำมัน ภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่ทำมาหากินอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

แม้ว่าเกษตรกรหลายคนจะหันมาใช้งานเครื่องสูบน้ำหัวพญานาค ที่สูบน้ำได้เร็วและแรง แต่หลายครัวเรือนในบ้านนาหมูม่น ต.นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย ยังคงใช้งาน "พัดทดน้ำ" เพื่อผันน้ำจากลำน้ำหมันซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่ไหลผ่านชุมชน

พัดทดน้ำใช้ประโยชน์จากการไหลของสายน้ำ ทำให้สามารถดึงน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปยังที่สูงกว่า เพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร แต่ความสะดวกรวดเร็วของเครื่องสูบน้ำที่เข้ามา รวมถึงระบบนิเวศลุมน้ำหมันที่เปลี่ยนไปจนไม่เอื้อต่อการสร้างพัดทดน้ำ ทำให้จำนวนของพัดทดน้ำจากที่เคยมีนับร้อยตัวตลอดแนวลำน้ำหมัน 45 กิโลเมตร ลดจำนวนเหลือเพียงไม่กี่สิบตัว

ในส่วนของบ้านนาหมูม่นนั้น แม้จะเป็นพื้นที่ที่เหลือพัดทดน้ำมากที่สุดในอำเภอด่านซ้าย แต่ก็เหลือเพียง 13 ตัว จากเดิมที่มีมากกว่า 50 ตัวตลอดแนวลำน้ำหมันที่ไหลผ่านหมู่บ้าน 4-5 กิโลเมตร จำนวนที่ลดลงนี้ทำให้เกิดโครงการ "พัดทดน้ำ" เพื่อรื้อฟื้นเทคโนโลยีด้านการจัดน้ำ ปี 2559-2560 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โครงการวิจัยดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้การทำพัดทดน้ำ และแนวทางการส่งเสริมพลังงานทางเลือกในการจัดการน้ำที่ประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้พัดทดน้ำยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุของน้ำท่วม โดย รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา จากภาควิชา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เล่าว่าในช่วงใน 20-30 ปีที่ผ่านมา ระบบนิเวศลุ่มน้ำหมันเกิดการเปลี่ยนแปลง ลำน้ำตื้นเขิน เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและชุมชนเมืองในช่วงฤดูฝนทุกปี ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบมองว่า "หลักหร่วย" ที่เป็นส่วนประกอบของพัดทดน้ำนั้นคือสาเหตุหลักของน้ำท่วม เพราะตั้งขวางทางไหลของน้ำ

ทว่า จากการศึกษาของโครงการวิจัย ทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึก การสัมภาษณ์แบบกลุ่มสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม การสำรวจเอกสาร จัดทำหมวดหมู่ สังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบพบว่า พัดทดน้ำไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วม เพราะแม้พัดทดน้ำลดจำนวนลงไปมาก แต่ก็ยังเกิดปัญหาน้ำท่วมเหมือนเดิม และพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายเหมือนเดิม

นางเปรมศรี สาระทัศนานันท์ หัวหน้านักวิจัยท้องถิ่นด่านซ้าย และหัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เล่าว่าการสร้างพัดทดน้ำนั้นเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของเครือข่าย ซึ่งมีต้นทุนจากวัสดุเพียง 1,000 บาท สามารถใช้งานได้ 1-2 ปี แต่เครื่องสูบน้ำมันมีค่าใช้จ่าย 20,000-30,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายเป็นน้ำมันด้วย การใช้พัดทดน้ำจึงช่วยเกษตรกรประหยัดได้มาก

ด้าน นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ซึ่งเป็นชาวนนทบุรีและได้ย้ายมาใช้ชีวิตที่ อ.ด่านซ้ายเป็นเวลาร่วม 30 ปี กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากคือพัดทดน้ำ ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นความฉลาดอย่างยิ่งของบรรพบุรุษที่สามารถผันน้ำไปยังพื้นที่ขาดแคลนน้ำได้ และเมื่อครั้งย้ายมาอยู่ด่านซ้ายใหม่ๆ ก็ชอบปั่นจักรยานไปชมพัดทดน้ำบ่อยๆ

นอกจากประโยชน์ทางด้านการเกษตรแล้ว ยังเป็นจุดขายที่น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวชุมชนได้ และเพื่ออนุรักษ์พัดทดน้ำซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาเป็นร้อยปีให้เหลืออยู่ในอำเภอด่านซ้ายให้มากที่สุด รวมถึงรักษาฐานทรัพยากรและสืบสานเทคโนโลยีพื้นบ้านด้านการจัดการน้ำของชุมชน กลุ่มเครือข่ายในท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการพัดทดน้ำบ้านนาหมูม่น" เมื่อเดือน ส.ค.60 ที่ผ่านมา โดช้ยุ้งข้าวเก่าของหมู่บ้านเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้และจัดแสดงนิทรรศการ
แปลงข้าวโพดที่ใช้น้ำจากลำน้ำหมัน
แปลงเกษตรผสมผสานใช้น้ำซับที่ต่อท่อจากภูสูง
พื้นที่เกษตรบ้านนาหมูม่น
พัดทดน้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น