นาซาจับภาพการโค้งงอของอากาศอันเกิดอันตรกริยาของคลื่นกระแทกจากเครื่องบินซูเปอร์โซนิก 2 ลำ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องบินที่สามารถบินได้เร็วกว่าเสียงโดยไม่ทำให้เกิด “โซนิกบูม” ที่ดังสนั่นเหมือนฟ้าผ่า
ภาพที่เผยแพร่จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เมื่อเร็วๆ นี้ เผยให้เห็นเครื่องบิน T-38 จำนวน 2 ลำ บินด้วยความเร็วเสียง และผลิตคลื่นกระแทก (shockwave) ที่ทำให้คนบนพื้นดินได้ยินเสียงดังก้องเหมือนฟ้าผ่าที่เรียกว่า “โซนิกบูม” (sonic boom)
นาซาใช้เทคนิคการถ่ายภาพชไลเรน (schlieren) ทำให้จับภาพอันตรกริยาของคลื่นกระแทกในอากาศที่เกิดจากเครื่องบินความเร็วสูงระดับซูเปอร์โซนิก 2 ลำได้เป็นครั้งแรก
ภาพดังกล่าวบันทึกได้ด้วยเครื่องบินอีกลำที่บินอยู่จากเครื่องบินซูเปอร์โซนิกทั้งสองลำ 610 เมตร โดยภาพได้เผยให้เห็นว่าคลื่นกระแทกนั้นได้บิดหรือโค้งอากาศที่ถูกกระทำจากคลื่นกระแทกได้อย่างไร
“เราไม่เคยฝันมาก่อนว่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขนาดนี้ มันสวยจริง” เจ.ที. ไฮเนค (J.T. Heineck) นักวิทยาศาสตร์กายภาพ ประจำศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center) ของนาซา ในแคลิฟอร์เนีย กล่าว