สวทช. โชว์ผลงานวิจัยตอบโจทย์เศรษฐกิจแนวใหม่ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จัดเต็มในงานประชุมประจำปีครั้งใหญ่ “NAC2019”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงานฯ ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่องการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NSTDA Annual Conference: NAC2019) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 25 - 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ผ่านการทำงานของ 4 ศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ เกษตรกร และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ไทยแลนด์ 4.00
การงานประชุมวิชาการ NAC2019 ในปีนี้ ดร.ณรงค์ กล่าวว่าจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจแห่งอนาคตไทย ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อตอบโจทย์ประเทศในการนำ วทน. มาใช้ในทุกภาคส่วน เพื่อสนองตอบยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน วทน. เน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมทั้งยกระดับศักยภาพของประเทศสร้างความมั่นคง ยั่งยืน
ดร.ณรงค์ระบุด้วยว่า จากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศไปสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ ได้แก่
1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งเน้นใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นจุดแข็งของประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน
2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นประหยัดพลังงาน ลดความเสี่ยงที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืน
4. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligent Economy) เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ โดยใช้เวลาน้อยลง
5. เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ (Sharing Economy) เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใช้พื้นฐานแนวคิดความร่วมมือและแบ่งปัน ทำให้เกิดรูปแบบสินค้าและบริการใหม่ สร้างรายได้แบบพึ่งพากัน
6. เศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เป็นระบบที่นำความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้
สวทช. ได้ปรับกลยุทธ์ตามนโยบายประเทศมุ่งเน้นงานวิจัยใน 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแบบจับต้องได้และเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย
1. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ หรือ Biochemicals ต่างๆ เช่น สารประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรม
2. สารสกัดที่จะนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารในกลุ่มสมุนไพร
3. ยาแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางชีวภาพ
4. การทำวิจัยการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) ที่จะนำไปสู่การตั้งคลังข้อมูลพันธุกรรม การใช้เทคโนโลยีนาโนในการตรวจและรักษา รวมไปถึงการรักษสาโรคแบบจำเพาะบุคคล
5. Medical devices & implants งานวิจัยที่เกี่ยวกับระบบดิจิทัลที่ใช้กับอุปกรณ์ช่วยการผ่าตัด หรือชิ้นส่วนทดแทนอวัยวะต่างๆ
6.Food & feed เป็นกลุ่มที่ศึกษา Functional ingredients ในอาหารคน อาหารสัตว์ และอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมไปถึง Smart packaging แบบต่างๆ ที่จะทำให้อาหารสดอยู่ได้นาน
7. เกษตรแม่นยำ (Precision agriculture)
8. Mobility & Logistics การศึกษาระบบโครงสร้าง การขับเคลื่อนมอเตอร์ การชาร์จไฟ ระบบควบคุมและให้สัญญาณ รวมถึงต้นแบบชิ้นส่วนรถไฟฟ้ารางเบา
9. พลังงานทั้งการพัฒนาแบตเตอรีแบบแพ็กที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงวัสดุกับระบบพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ เช่น ไบโอดีเซล
10. Dual-use defense เช่น การพัฒนาเครื่องแจมมอร์สำหรับโดรน และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือสารเสพติดต่างๆ
“การจัดงาน NAC2019 นี้จะมีการประชุมและสัมมนาเจาะลึกในประเด็นต่างๆ นิทรรศการการแสดงผลงานวิจัยทั้งจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร NSTDA Open House การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและหน่วยงานทดสอบมาตรฐานต่างๆ ของ สวทช. สัมผัสงานวิจัย และสร้างเสริมกระบวนการคิดด้าน วทน. เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถด้าน วทน. ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป”
ด้าน ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะประธานจัดงาน NAC2019 กล่าวว่า งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 28 มีนาคม 2562 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมฯ และนิทรรศการในวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น.
“ภายในงานจะมีการสัมมนาที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิและอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 50 เรื่อง โดยมีทั้งเรื่องราวความรู้ของเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ สวทช. ดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ เช่น แนวโน้ม โอกาสและความท้าทายของการวิจัยพัฒนาชั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อผสมผสานการวิจัยพื้นฐานร่วมกับการวิจัยประยุกต์ เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
ส่วนหัวข้อสัมมนาอื่นๆ เช่น Smart Farm นำผลงานวิจัยที่นำไปใช้จริงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงที่ได้ใช้งาน สูตรตำรับอาหารสัตว์เพื่อนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีนาโน เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์โดยใช้กระบวนการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ “นวัตกรรมจากไข่เพื่อการมีสุขภาพที่ดี” เน้นการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ไข่ “ระบบไซเบอร์กายภาพ กุญแจสู่ Smart Factory” เทคโนโลยีที่จะสื่อสารและทำงานร่วมกันทำให้สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอัตโนมัติ สานพลังเทคโนโลยียางพารา สร้างอุตสาหกรรม สร้างชุมชน พร้อมเครือข่ายระดับชุมชน สหกรณ์ และอุตสาหกรรม การขอรับรองมาตรฐาน สมอ. การส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์จากผลงานนวัตกรรม สะเต็มศึกษาและวิทยาการคำนวณ : องค์ความรู้และการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เชิงรุก
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.nstda.or.th/nac หรือ โทร. 0 2564 8000